สำนวนไทย
สำนวนไทยพร้อมความหมาย
มาพบกันอีกครั้งกับสาระความรู้ดี ๆ ที่เรานำมาฝากกันในวันนี้
ซึ่งวันนี้เราจะขอพูดถึงเรื่อง สำนวนไทย ให้ผู้อ่านและผู้ที่สนใจได้นำไปศึกษากัน
พูดถึงสำนวนคนไทยเองก็ได้สร้างสรรค์สำนวนหรือวลีแทนประโยคที่ต้องการจะสื่อได้อย่างน่าสนใจและเกิดภาพให้เข้าใจ ถ้าอย่างนั้นลองมาดูกันเลยมีสำนวนใดบ้างที่อาจจะคุ้นหูคุ้นตา
สำนวนไทยที่ใช้บ่อย พร้อมความหมาย
สำนวนไทย คือ คำที่พูดออกมาในลักษณะเปรียบเทียบ และจะฟังไม่เข้าในในทันทีต้องแปลความหมายให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ก่อนถึงจะทราบถึงความหมายและแนวสอนของคำสำนวนนั้น ๆ
กินน้ำใต้ศอก | หมายถึง จําต้องยอมเป็นรองเขา, ไม่เทียมหน้าเทียมตาเท่า (มักหมายถึงเมียน้อยที่ต้องยอมลงให้แก่เมียหลวง) |
กินน้ำพริกถ้วยเก่า | หมายถึง อยู่กับภรรยาคนเดิม |
กินน้ำเห็นปลิง | หมายถึง รู้สึกตะขิดตะขวงใจ (เหมือนจะกินน้ำเห็นปลิงอยู่ในน้ำก็กินไม่ลง) |
กลิ้งครกขึ้นภูเขา | หมายถึง เรื่องที่ตนกำลังจะทำนั้นถ้าจะทำให้สำเร็จนั้นทำได้ยากลำบาก จึงต้องใช้ความพยายามและความสามารถอย่างมาก |
กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ | หมายถึง ลักษณะของการทำงานที่มีความลังเลใจ ทำให้แก้ไขปัญหาได้ไม่ทันท่วงทีเมื่อได้อย่างหนึ่ง แต่ต้องเสียอีกอย่างหนึ่งไป ดุจเอาถั่วกับงามาคั่วพร้อมกัน กว่าจะคั่วจนถั่วสุก งาก็จะไหม้หมดไปก่อน |
กำขี้ดีกว่ากำตด | หมายถึง ได้บ้างดีกว่าไม่ได้อะไรเลย |
เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน | หมายถึง เก็บเล็กผสมน้อย, ทําอะไรที่ประกอบด้วยส่วนเล็กส่วนน้อย โน่นบ้างนี่บ้าง จนสําเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา |
แกว่งเท้าหาเสี้ยน | หมายถึง คนที่เข้าไปยุ่งเรื่องของคนอื่นทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็น จนทำให้ตัวเองได้รับความเดือนร้อน |
ใกล้เกลือกินด่าง | หมายถึง สิ่งที่หาได้ง่ายหรืออยู่ใกล้ตัวที่มีคุณค่ากว่า กลับไม่เอา แต่กลับไปเอาสิ่งที่อยู่ไกลหรือหายาก แต่มีคุณค่าด้อยกว่ามาใช้ |
ขี่ช้างจับตั๊กแตน | หมายถึง ลงทุนมากแต่ได้ผลเพียงเล็กน้อย |
ขว้างงูไม่พ้นคอ | หมายถึง ทําอะไรแล้วผลร้ายกลับมาสู่ตัวเอง |
ข้าวใหม่ปลามัน | หมายถึง อะไรที่เป็นของใหม่ก็ถือว่าดี, นิยมเรียกช่วงเวลาที่สามีภรรยาเพิ่งแต่งงานกันใหม่ ๆ ว่า ระยะข้าวใหม่ปลามัน |
ขุดบ่อล่อปลา | หมายถึง ทำกลอุบายให้เขาเชื่อเพื่อหวังผลประโยชน์ |
เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม | หมายถึง ประพฤติตนตามที่คนส่วนใหญ่ประพฤติกัน |
แขกไม่ได้รับเชิญ | หมายถึง คนหรือสัตว์ที่ไม่พึงปรารถนาซึ่งเข้ามาทำให้เกิดความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญ |
ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก | หมายถึง เรื่องราวที่เกิดเดือนร้อนขึ้นมา กำลังมีปัญหาและแก้ไขอยู่ ก็เกิดมีปัญหาใหม่เพิ่มเข้ามา |
ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด | หมายถึง มีความรู้มากแต่ไม่รู้จักใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ |
คอหอยกับลูกกระเดือก | หมายถึง เข้ากันได้ดี แยกกันไม่ออก |
ฆ้องปากแตก | หมายถึง ปากโป้ง, เก็บความลับไม่อยู่, ชอบนำความลับของผู้อื่นไปเปิดเผย |
ฆ่าควายอย่าเสียดายพริก | หมายถึง ทำการใหญ่ไม่ควรตระหนี่ |
จับงูข้างหาง | หมายถึง ทำสิ่งที่เสี่ยงต่ออันตราย |
จับตัววางตาย | หมายถึง กำหนดลงไปแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง |
จับเสือมือเปล่า | หมายถึง หาผลประโยชน์โดยตัวเองไม่ลงทุน |
เจ้าไม่มีศาล สมภารไม่มีวัด | หมายถึง ผู้ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง |
ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ | หมายถึง ปล่อยไปตามเรื่องราว ไม่เอาเป็นธุระ |
เชื้อไม่ทิ้งแถว | หมายถึง เป็นไปตามเผ่าพันธุ์ |
ซื่อเหมือนแมวนอนหวด | หมายถึง ทำเป็นซื่อ |
ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าตรุษ | หมายถึง ซื้อของไม่คำนึงถึงเวลาหรือฤดูกาลย่อมได้ของที่มีราคาแพง |
ดินพอกหางหมู | หมายถึง คั่งค้างพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ |
เด็ดบัวไม่ไว้ใย | หมายถึง ตัดขาดกัน, ตัดญาติขาดมิตรกันเด็ดขาด |
ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ | หมายถึง ตกอยู่ในที่คับขันอย่างไรก็ไม่เป็นอันตราย, ตกอยู่ที่ใดก็ไม่สูญหาย |
ตักบาตรอย่าถามพระ | หมายถึง จะให้อะไรแก่คนอื่น อย่าไปถามเขาว่าเอาไหม อยากได้ไหม |
ตัดหางปล่อยวัด | หมายถึง ตัดขาดไม่เกี่ยวข้อง |
ตบมือข้างเดียวไม่ดัง | หมายถึง ทำอะไรฝ่ายเดียวย่อมไม่เกิดผล |
เตี้ยอุ้มค่อม | หมายถึง คนจนแต่รับเลี้ยงดูคนที่ต่ำต้อยจนเหมือนกัน |
ถอนต้นก่นราก | หมายถึง ทำลายให้ถึงต้นตอ |
ถอนหงอก | หมายถึง ไม่นับถือความเป็นผู้ใหญ่ |
ที่เท่าแมวดิ้นตาย | หมายถึง ที่ดินหรือเนื้อที่เล็กน้อย |
ทำนาอ้อมกล้า ทำปลาอ้อมเกลือ | หมายถึง ทำการสิ่งใดถ้ากลัวหมดเปลืองย่อมไม่ได้ผล |
นกรู้ | หมายถึง ผู้ที่มีไหวพริบรู้เท่าทันเหตุการณ์หรือภัยที่จะมาถึงตน |
นั่งในหัวใจ | หมายถึง รู้ใจ, ทำถูกต้องตรงตามที่ผู้อื่นคิดไว้ |
น้ำตาตกใน | หมายถึง เศร้าโศกเสียใจอย่างมาก แต่ไม่แสดงให้คนอื่นเห็น |
บอกเล่าเก้าสิบ | หมายถึง บอกกล่าวให้รู้ |
บอกหนังสือสังฆราช | หมายถึง สอนสิ่งที่เขารู้ดีอยู่แล้ว |
บ้าหอบฟาง | หมายถึง บ้าสมบัติ เห็นอะไร ๆ เป็นของมีค่าก็จะเอาทั้งนั้น หรือ อาการถือเอาสิ่งของ หอบหิ้วสิ่งของพะรุงพะรัง |
เบี้ยบ้ายรายทาง | หมายถึง เงินที่จะต้องใช้จ่ายหรือเสียไปเรื่อย ๆ เป็นระยะ ๆ ในขณะทำธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จ |
ปรานีตีเอาเรือ | หมายถึง เอ็นดูหรือเผื่อแผ่เขาแต่กลับถูกประทุษร้ายตอบ |
ปลาติดหลังแห | หมายถึง คนที่พลอยได้รับเคราะห์กรรมร่วมกับผู้อื่นทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีส่วนพัวพันด้วย |
ปากว่าตาขยิบ | หมายถึง พูดอย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่างหนึ่ง ปากกับใจไม่ตรงกัน |
ปากหวานก้นเปรี้ยว | หมายถึง พูดจาอ่อนหวานแต่ไม่จริงใจ |
ผ้าขี้ริ้วห่อทอง | หมายถึง คนมั่งมีแต่แต่งตัวซอมซ่อ |
ผีซ้ำด้ำพลอย | หมายถึง ถูกซ้ำเติมเมื่อพลาดพลั้งลงหรือเมื่อคราวเคราะห์ร้าย |
ผีถึงป่าช้า | หมายถึง ต้องยอมทำ เพราะจำใจหรือไม่มีทางเลือก |
พอก้าวขาก็ลาโรง | หมายถึง ชักช้าทำให้เสียการ |
พออ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ | หมายถึง รู้ทันกัน ไม่มีทางจะโกหก หลอกกันได้ |
พูดเป็นต่อยหอย | หมายถึง พูดฉอด ๆ ไม่หยุดปาก เม้าท์เก่ง |
พูดอย่างมะนาวไม่มีน้ำ | หมายถึง พูดห้วน ๆ |
ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด | หมายถึง ฟังไม่ได้ความแน่ชัดแล้วเอาไปพูดต่อหรือทำผิด ๆ พลาด ๆ |
ฟ้าไม่กระเทือนสันหลัง | หมายถึง อำนาจเบื้องบนหรือผู้ปกครองยังไม่ลงโทษทัณฑ์, ถ้าฟ้าไม่กระเทือนสันหลังก็ยังไม่รู้สึก |
มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก | หมายถึง พูดจาตลบตะแลงพลิกแพลงไปมาจนจับคำพูดไม่ทัน |
มะพร้าวตื่นดก | หมายถึง เห่อหรือตื่นเต้นในสิ่งที่ตนไม่เคยมีไม่เคยได้จนเกินพอดี |
มัดมือชก | หมายถึง บังคับหรือใช้วิธีการใด ๆ ให้อีกฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในภาวะจำยอมโดยไม่มีทางต่อสู้ |
แม่สายบัวแต่งตัวค้าง | หมายถึง ผู้หญิงที่นัดกับคนอื่นแล้วแต่งตัวคอยผู้มารับเพื่อออกนอกบ้าน แต่เขาไม่มาตามนัด |
ยกตนข่มท่าน | หมายถึง พูดทับถมผู้อื่นแสดงให้เห็นว่าตัวเหนือกว่า |
ยาวบั่นสั้นต่อ | หมายถึง รักจะอยู่ด้วยกันนาน ๆ ให้ตัดความคิดอาฆาตพยาบาทออกไป รักจะอยู่ด้วยกันสั้น ๆ ให้คิดอาฆาตพยาบาทเข้าไว้ |
ยุให้รำตำให้รั่ว | หมายถึง ยุให้แตกกันหรือยุให้ผิดใจกัน |
รีดเลือดกับปู | หมายถึง บังคับเอากับผู้ยากจนที่ไม่มีจะให้ |
รวบหัวรวบหาง | หมายถึง ทำให้เสร็จโดยเร็ว |
ร้อนวิชา | หมายถึง เร่าร้อนอยากจะแสดงวิชาความรู้พิเศษจนอยู่ไม่เป็นปกติ |
ล้มมวย | หมายถึง สมยอมหรือทำให้สมยอมกันในทางไม่สุจริต |
ลากหนามจุกช่อง | หมายถึง ยกเรื่องต่าง ๆ มาอ้างป้องกันตัว หรือ ขัดขวางไม่ให้คนอื่นได้รับประโยชน์ในเมื่อตนเองไม่ได้รับประโยชน์ด้วย |
เลือดข้นกว่าน้ำ | หมายถึง ญาติพี่น้องย่อมดีกว่าคนอื่น |
วันพระไม่มีหนเดียว | หมายถึง วันหน้ายังมีโอกาสอีก ใช้ในการแก้แค้นหรือเอาคืน |
วัวสันหลังหวะ | หมายถึง คนที่มีความผิดติดตัวทำให้คอยหวาดระแวง |
วัวใครเข้าคอกคนนั้น | หมายถึง กรรมที่ใครสร้างไว้ ย่อส่งผลให้แก่ผู้นั้น |
ศรศิลป์ไม่กินกัน | หมายถึง ไม่ถูกกัน หรือ ไม่ลงรอยกัน หรือ ไม่ชอบหน้ากัน |
ศิษย์มีครู | หมายถึง คนเก่งที่มีครูเก่ง |
สร้างวิมานในอากาศ | หมายถึง คิดคาดหวัง จะมีจะเป็นอะไรอย่างเลิศลอย |
สวมหมวกหลายใบ | หมายถึง ดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่งในเวลาเดียวกัน |
สาวไส้ให้กากิน | หมายถึง เอาความลับของตน หรือพวกตนไปเผยให้คนอื่นรู้เป็นการประจานตน |
สะดุดขาตัวเอง | หมายถึง ทำผิดหลักเกณฑ์ที่ตนกำหนดไว้เอง |
เส้นผมบังภูเขา | หมายถึง เรื่องง่าย ๆ แต่คิดไม่ออก เหมือนมีอะไรมาบังอยู่ |
หงิม ๆ หยิบชิ้นปลามัน | หมายถึง บุคลิกลักษณะเรียบร้อย แต่ความจริงฉลาด เลือกเอาดี ๆ ไปได้ |
หนังหน้าไฟ | หมายถึง ผู้ได้รับความเดือดร้อนก่อนผู้อื่น |
หน้าสิ่วหน้าขวาน | หมายถึง อยู่ในระยะอันตราย เพราะอีกฝ่ายหนึ่งกำลังโกรธ |
หนีเสือปะจระเข้ | หมายถึง หนีภัยอันตรายอย่างหนึ่งแล้วต้องพบภัยอันตรายอีกอย่างหนึ่ง |
หนูตกถังข้าวสาร | หมายถึง ผู้ชายที่มีฐานะไม่ค่อยดีได้แต่งงานกับผู้หญิงที่ร่ำรวย |
หมาในรางหญ้า | หมายถึง คนที่หวงแหนสิ่งที่ตนเองกินหรือใช้ไม่ได้ แต่ไม่ยอมให้คนอื่นกินหรือใช้ |
หอกข้างแคร่ | หมายถึง คนใกล้ชิดที่จะคอยทำร้ายเมื่อใดก็ได้ |
หัวแก้วหัวแหวน | หมายถึง เป็นที่รักใคร่เอ็นดูมาก |
หาเหาใส่หัว | หมายถึง รนหาเรื่องเดือดร้อน รำคาญใส่ตน |
เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน | หมายถึง แสดงความรู้หรืออวดรู้กับผู้ที่รู้เรื่องดีกว่า |
เอามือซุกหีบ | หมายถึง หาเรื่องเดือดร้อนหรือความลำบากใส่ตัวโดยใช่ที่ |
เอากุ้งฝอยไปตกปลากะพง | หมายถึง ลงทุนน้อยหวังผลกำไรมาก |
เอาปูนหมายหัว | หมายถึง ผูกอาฆาตไว้, ประมาทหน้าว่าไม่มีทางจะเอาดีได้ |
เอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ | หมายถึง โต้ตอบหรือทะเลาะกับคนพาลหรือคนที่มีฐานะต่ำกว่าเป็นการไม่สมควรทำ |
เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง | หมายถึง คัดค้านผู้มีอำนาจ ฐานะสูงกว่า หรือผู้ใหญ่กว่า มักจะล้มเหลว |
สำนวนข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราหยิบยกมาเป็นตัวอย่าง ในเรื่องของสำนวนไทยยังมีสำนวนมากกว่านี้ หลากหลายความหมายให้ได้เรียนรู้เพิ่มเติมกันเลยทีเดียว สำหรับวันนี้ก็ขอฝากไว้เพียงเท่านี้