ตำนานนางนพมาศที่เกี่ยวข้องกับวันลอยกระทง
เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปีทุกคนก็ต้องนึกถึงเทศกาลลอยกระทง ซึ่งเป็นประเพณีของชาวไทยที่มีมาอย่างยาวนาน เชื่อว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยที่วันลอยกระทงเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของคนไทยที่มีความเชื่อว่าเป็นการขอขมาและบูชาพระแม่คงคาที่เราได้ใช้น้ำมาตลอดทั้งปี
วันนี้เราจะมาเรียนรู้เกี่ยวกับการริเริ่มประเพณีว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใครเป็นผู้นำปฏิบัติ จะมีเนื้อหาน่าสนใจเช่นใด มาติดตามกันเลย
ประวัติวันลอยกระทง
ประเพณีลอยกระทงนั้นมีมาแต่โบราณ โดยมีคติความเชื่อหลายอย่าง เช่น เชื่อว่าเป็นการบูชาและขอขมาพระแม่คงคา เป็นการสะเดาะเคราะห์ เป็นการบูชาพระเจ้าในศาสนาพราหมณ์ หรือเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท เป็นต้น การลอยกระทงนิยมทำกันในวันเพ็ญ เดือน 12 ของทุก ๆ ปี อันเป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำลำคลองขึ้นสูงและอากาศเริ่มเย็นลง
ตามพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน และตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้กล่าวว่า นางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกในพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย เชื่อกันว่าเป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์กระทงสำหรับลอยประทีปเป็นรูปดอกบัวบานขึ้น ซึ่งคนทั่วไปนิยมทำตามสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ตำนานนางนพมาศ
นางนพมาศ หรือ เรวดีนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นสตรีที่ปรากฏอยู่ใน "เรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์" ที่อ้างอิงว่าถูกแต่งขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ซึ่งเขียนเป็นร้อยแก้ว
นางนพมาศเกิดในรัชกาลพระยาเลอไท กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์พระร่วง นางนพมาศ เป็นธิดาของพระศรีมโหสถกับนางเรวดี บิดาเป็นพราหมณ์ปุโรหิตในสมัยพระยาเลอไท มีรูปสมบัติและคุณสมบัติที่งดงาม ว่ากันว่านางเป็นสตรีที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความรู้ทางอักษรศาสตร์ พุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ การช่างของสตรี ตลอดจนการขับร้องดนตรี สันนิษฐานว่า นางนพมาศได้ถวายตัวเข้ารับราชการในสมัยพระยาลิไทในยุคสุโขทัย
และเรื่องที่เด่นที่สุดคือเมื่อครั้นเข้าไปถวายตัวอยู่ในวังได้ห้าวันก็ถึงพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป (ลอยกระทง) นางได้คิดประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) ประดับประดาสวยงามซึ่งก็มีลักษณะเป็นกระทงในยุคปัจจุบันนี่เอง เป็นที่โปรดปรานของพระร่วงมาก และได้กลายเป็นต้นแบบของสิ่งที่จะนำมาบูชาในพิธีหลังจากนั้นเป็นต้นมา
นางนพมาศได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเพณีลอยกระทง กล่าวกันว่านางนพมาศมีรูปโฉมงดงาม ในยุคหลังเมื่อมีเทศกาลลอยกระทงก็มีการประกวดแข่งขันนางนพมาศสืบมา
แต่อย่างไรก็ตามตำนานการมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ของนางนพมาศก็ยังมีนักประวัติศาสตร์หลายท่าน อาทิ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, นิธิ เอียวศรีวงศ์ และสุจิตต์ วงษ์เทศ เห็นว่าเรื่องนางนพมาศนั้นเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้นช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้นเอง