สุภาษิตไทย
180 สํานวนสุภาษิต พร้อมความหมาย
สำนวนสุภาษิตไทย หมายถึง คำกล่าวที่ดีงาม มักเป็นคำสั่งสอน แนะนำให้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ หรือละเว้นจากการทำความชั่ว เป็นต้น ดังนั้น สรุปได้ว่า สุภาษิตไทย คือ คำที่มุ่งสั่งสอนให้ ประพฤติปฏิบัติดี โดยเป็นเพียง คำสั้น ๆ มีความคมคาย ไพเราะ น่าฟัง จำง่าย
รวม 180 คำสุภาษิต พร้อมความหมาย
คำสุภาษิตไทย หมวด ก
- ก ข ไม่กระดิกหู หมายถึง ผู้ที่เรียนหนังสือแล้วไม่รู้ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
- กงเกวียนกำเกวียน หมายถึง การกระทำใด ๆ ที่เคยทำไปในอดีต ส่งผลต่อผู้กระทำนั้น ๆ มักใช้กับการกระทำในทางที่ไม่ดี ในลักษณะถูกผลกรรมตามสนอง
- กบเกิดใต้บัวบาน หมายถึง อยู่ใกล้สิ่งที่ดีงาม แต่ไม่รู้จักคุณค่า
- กบเลือกนาย หมายถึง ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาอยู่เรื่อย ๆ
- กบในกะลาครอบ หมายถึง ผู้มีความรู้และประสบการณ์น้อย แต่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก
- กระดูกขัดมัน หมายถึง ขี้เหนียวมากอย่างไม่ยอมให้อะไรแก่ใครง่าย ๆ
- กระดูกร้องไห้ หมายถึง การจับตัวฆาตกรมาลงโทษได้หลังจากพบหลักฐานโดยบังเอิญ
- กระต่ายตื่นตูม หมายถึง คนที่แสดงอาการตื่นตกใจง่ายโดยไม่ทันสำรวจให้ถ่องแท้ก่อน
- กระต่ายหมายจันทร์ หมายถึง ผู้ชายหมายปองผู้หญิงที่มีฐานะดีกว่า
- กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี หมายถึง เมื่อถึงคราวบ้านเมืองนั้น ๆถึงคราวยากลำบาก ก็ยังเหลือคนดีมีความสามารถมาช่วยกอบกู้สถานการณ์ช่วยเหลือให้ผ่านพ้นไปได้
- กลับเนื้อกลับตัว หมายถึง เลิกทำความชั่ว แล้วมาประพฤติตัวเป็นคนดี
- กลัวให้ถูกท่า กล้าให้ถูกที่ ดีให้ถูกทาง หมายถึง ทำอะไรก็ต้องให้ถูกกาลเทศะ
- กลิ้งครกขึ้นภูเขา หมายถึง เรื่องที่กำลังจะทำนั้นจะทำให้สำเร็จนั้นทำได้ยากลำบาก ต้องใช้ความพยายามและความสามารถอย่างมาก เปรียบเสมือนการ กลิ้งครกขึ้นภูเขา
- กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ หมายถึง ทำอะไรไม่ทันท่วงที
- กาคาบพริก หมายถึง คนผิวดำที่ชอบแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีแดง ๆ หรือสีแจ๋น ๆ
- กาในฝูงหงส์ หมายถึง ผู้ที่ต่ำต้อยไม่มีเกียรติ อยู่ท่ามกลางเจ้าขุนมูลนายสูงศักดิ์
- กินที่ลับขับที่แจ้ง หมายถึง การได้ประโยชน์กันในที่ลับไม่มีใครรู้ แต่ต่อมามีการขัดข้องกันจึงนำเรื่องที่เคยทำนั้นมาเปิดเผยให้หลาย ๆ คนรับรู้ มักใช้ในเชิงชู้สาว
- กินน้ำพริกถ้วยเก่า หมายถึง อยู่กับเมียคนเดิม
คำสุภาษิตไทย หมวด ข
- ขนมผสมน้ำยา หมายถึง ทั้งคู่ดีเลวพอกัน จะบอกว่าใครดีกว่าใครไม่ได้
- ขว้างงูไม่พ้นคอ หมายถึง ทำอะไรก็ตาม ผลร้ายย้อนกลับมาสู่ตัวเอง
- ขายผ้าเอาหน้ารอด หมายถึง ยอมเสียสละของสำคัญของตนเพื่อรักษาชื่อเสียงตนเอาไว้
- ขิงก็รา ข่าก็แรง หมายถึง ต่างคนต่างแรง ไม่ยอมกัน เรื่องเล็กก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ไป เพราะทิฐิมานะ
- ขี่ช้างจับตั๊กแตน หมายถึง ทำเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ ได้ผลไม่คุ้มกับที่ต้องเสียไป
- ขุดด้วยปาก ถากด้วยตา หมายถึง เหยียดหยามทั้งวาจา และสายตามองแบบดูถูก
- เขียนเสือให้วัวกลัว หมายถึง ทําอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียขวัญหรือเกรงขาม
- เข็นครกขึ้นภูเขา หมายถึง ทำงานที่ยากลำบากต้องใช้ความเพียรพยายามและอดทนมาก
- เข้าตามตรอก ออกตามประตู หมายถึง ทำอะไรให้ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณี
- เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า หมายถึง ให้รอบคอบ อย่าประมาท
- เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม หมายถึง ประพฤติให้ถูกต้องตามกาลเทศะ เมื่อไปอยู่ในพวกเขาแล้ว ก็ต้องประพฤติคล้อยตามเขา
คำสุภาษิตไทย หมวด ค
- คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ หมายถึง คนดีไปที่ไหนก็มีคนอยากคบหาสมาคมด้วย ไม่ลำบาก
- คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ หมายถึง คนที่รักเรามีน้อยคล้ายผืนหนัง คนชังมีมาก อย่างกับเสื่อลำแพน
- คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย สามคนกลับมาได้ หมายถึง ทำงานเป็นทีมจะให้สถานการณ์ที่ดีกว่า
- คนในข้อ งอในกระดูก หมายถึง กมลสันดาน เกิดมาก็ชอบคดโกง
- คบคนดีมีศรีแก่ตัว คบคนชั่วอัปราชัย หมายถึง อัปราชัย ในที่นี้มีความหายเท่ากับ ปราชัย คือจะพ่ายแพ้ หมายถึงไม่เป็นมงคลแก่ตัว
- คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล หมายถึง คบใครก็จะเป็นคนอย่างนั้น
- คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ หมายถึง ก่อนคบค้าสมาคมกับใคร ดูที่มาที่ไปให้ดี ๆ
- คลุมถุงชน หมายถึง การแต่งงานที่เจ้าบ่าวเจ้าสาว ต่างไม่ได้รักกันมาก่อน โดนผู้ใหญ่จับแต่ง
- ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี หมายถึง มีความสำนึกในความดีของสิ่งหรือบุคคลที่มีพระคุณต่อเรา กตเวที แปลว่า การตอบแทนต่อสิ่งหรือบุคคลที่มีพระคุณต่อเรา คนที่มีคุณสมบัตินี้ จะทำให้ตนเองและครอบครัวพบแต่ความเจริญรุ่งเรือง พบแต่ความสำเร็จ คุณสมบัตินี้ถือว่าเป็นทรัพย์อันประเสริฐในตัวบุคคล
- ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด หมายถึง แม้จะมีความรู้สูงแค่ไหนก็ตาม ถ้าความประพฤติไม่ดีแล้วก็เอาตัวไม่รอด เพราะไม่มีใครคบหาสมาคมด้วย หรือมีความรู้ แต่ไม่ใช้ความรู้ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร
- ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก หมายถึง มีเรื่องราวเดือดร้อนเกิดขึ้น ยังไม่ทันจะแก้ไขหรือจัดการให้สงบดี ก็เกิดมีเรื่องใหม่ซ้อนขึ้นมาอีก กลายเป็น 2 เรื่องขึ้นในคราวเดียว
- คอหอยกับลูกกระเดือก หมายถึง เข้ากันได้ดีแยกกันไม่ออกสนิทสนมกัน
- คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก หมายถึง ที่อยู่อาศัย แม้จะคับแคบเพียงใด ถ้ารู้จักทำให้ดี ก็น่าอยู่ แต่ถ้าหากมีความคับอกคับใจแล้ว แม้ที่จะกว้างขวางใหญ่โต ก็มิได้ทำให้สบายอกสบายใจเลย มีแต่จะรู้สึกอึดอัดใจแต่ถ่ายเดียว
- คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล หมายถึง อย่าประมาททะเล แค่คืบแค่ศอกก็ทะเล ตกไปก็มีหวังจมน้ำตายทั้งนั้น
คำสุภาษิตไทย หมวด ฆ
- ฆ่าควายเสียดายพริก หมายถึง การจะกระทำการใหญ่ แต่กลัวว่าจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเล็ก
- ฆ่าช้างจะเอางา คนเจรจาจะเอาถ้อยคำ หมายถึง ที่เขาฆ่าช้างก็เพราะเขาหวังจะเอางาซึ่งมีราคาแพง เมื่อคนเราเจรจากัน ถ้อยคำหรือคำพูดถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ควรจะเป็นคำพูดที่มีความจริงใจ เชื่อถือได้
- ฆ้องปากแตก หมายถึง เก็บความลับไม่อยู่ ชอบนำความลับของคนอื่นไปโพนทะนา
คำสุภาษิตไทย หมวด ง
- งมเข็มในมหาสมุทร หมายถึง ค้นหาสิ่งที่ยากจะค้นหาได้
- เงยหน้าอ้าปาก หมายถึง มีฐานะดีขึ้นกว่าเดิม
คำสุภาษิตไทย หมวด จ
- จับงูข้างหาง หมายถึง ทำสิ่งที่เสี่ยงต่ออันตราย
- จับปลาสองมือ หมายถึง การที่คน ๆ หนึ่งทำสิ่งใดที่ยากพร้อม ๆ กัน ทำให้ล้มเหลวทั้งสองสิ่งนั้น สำนวนนี้นิยมใช้กับผู้ชายที่เกี้ยวผู้หญิงสองคนในเวลาเดียวกัน ซึ่งผลสุดท้ายแล้วผู้ชายคนนั้นจะมีปัญหาตามมา
- จับเสือมือเปล่า หมายถึง หาผลประโยชน์โดยตัวเองไม่ลงทุน
- จำศีลเอาหน้า ภาวนาโกหก หมายถึง แสร้งทำเป็นว่าถือศีลเคร่งครัด ชอบเจริญภาวนาเข้ากรรมฐาน ที่ลวงให้คนอื่นเข้าใจว่าตนเป็นมีศีลมีธรรม เขาจะได้เชื่อถือไว้วางใจ
คำสุภาษิตไทย หมวด ช
- ชักแม่น้ำทั้งห้า หมายถึง โนมน้าวใจ เพื่อให้เชื่อถือตน
- ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ หมายถึง ใครจะเป็นอะไรก็ช่าง ไม่ควรถือเอาเป็นธุระ
- ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน หมายถึง ชีวิตคนเราเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ เดี๋ยวรุ่งเรือง เดี๋ยวตกอับ ดังนั้นเมื่อถึงคราวตกอับ ก็อย่าเพิ่งท้อถอย หรือหมดอาลัยในชีวิต และเมื่อถึงคราวรุ่งเรือง มีอำนาจวาสนา ก็อย่าลืมตัว อย่าประมาท
- ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ หมายถึง ลูกผู้ชายที่ชื่อว่าตนมีความเก่งกล้าสามารถ จะต้องสำแดงวิชาความรู้และความสามารถให้ลือชาปรากฏแก่คนทั่วไป ดุจเสือ (ลายพาดกลอน) ก็ต้องมีลายฉะนั้น
- ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวปิด หมายถึง ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ใบบัวมีขนาดเล็ก ถ้าเอาใบบัวใบเดียวไปปิดช้าง ย่อมปิดไม่มิด คนที่ทำความชั่วไว้มากมาย ถึงจะปิดอย่างไร ๆ ก็ปิดไม่หมด คนย่อมรู้เข้าจนได้
- ช้างสาร งูเห่า ข้าเก่า เมียรัก อย่าได้ไว้วางใจ หมายถึง ช้างสารและงูเห่า เป็นสัตว์เดรัจฉานไว้ใจไม่ได้ ข้าเก่าและเมียรัก เป็นบุคคลที่ใกล้ชิด ย่อมรู้เรื่องราวและความลับของเราหมด บุคคลประเภทนี้ ถ้ากลับกลายเป็นศัตรูแล้วจะเป็นศัตรูที่ร้ายที่สุด ดังนั้นจึงไม่ควรไว้วางใจจนเกินไป
- ช้า ๆ ได้พร้าสองเล่มงาม ด่วนได้สามผลามมักพลิกแพลง หมายถึง จะทำอะไรก็ทำอย่างมีสติ รอบคอบ แม้จะช้าไปบ้างก็ได้ผลดี แต่ถ้าทำอย่างรีบร้อน ไม่พินิจพิเคราะห์ให้ดีก่อน อาจผิดพลาดเสียหายได้ง่าย
- ใช้แมวไปขอปลาย่าง หมายถึง แมวก็กินปลาย่างหมด เพราะตามปรกติแมวก็ชอบกินปลา
คำสุภาษิตไทย หมวด ด
- ดูช้างให้ดูหน้าหนาว ดูสาวให้ดูหน้าร้อน หมายถึง หน้าหนาวช้างจะตกมัน ตอนนี้แหละเราจะเห็นลักษณะท่าทางของช้างว่ามีความห้าวหาญดุดันอย่างไร หน้าร้อนอากาศอ้าว ผู้หญิงก็ใช้ผ้าน้อยชิ้น หรือผ้าบาง ๆ ทำให้มองเห็นรูปร่างทรวดทรงและผิวพรรณของผู้หญิงว่าสวยงามแค่ไหนเพียงใด
- ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ถ้าจะดูให้แน่ต้องดูถึงย่าถึงยาย หมายถึง วัวที่มีลักษณะดีนั้นให้ดูที่หาง ถ้าปลายหางเป็นพู่เหมือนใบโพธิ์ ก็นับว่าเป็นวัวที่มีลักษณะดีมาก การที่จะเลือกผู้หญิงมาเป็นคู่ครอง ไม่ใช่ดูเพียงตัวผู้หญิงเท่านั้น ต้องดูไปจนถึงแม่ด้วยว่าเป็นคนดีหรือไม่ เพราะลูกกับแม่ก็มักจะมีลักษณะนิสัยคล้ายคลึงกัน และถ้าจะดูให้แน่จริง ๆ ต้องสืบประวัติไปจนถึงย่ายายของหญิงนั้นด้วย
- ได้ทีขี่แพะไล่ หมายถึง ไปซ้ำเติม เยาะเย้ยเมื่อคนอื่นเพลี่ยงพล้ำ
คำสุภาษิตไทย หมวด ต
- ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน หมายถึง
- ตบมือข้างเดียวไม่ดัง หมายถึง ทำอะไรฝ่ายเดียวไม่เกิดผล
- ตักน้ำรดหัวตอ หมายถึง แนะนำเท่าไร พร่ำสอนเท่าไร ก็ไม่ได้ผล
- ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา หมายถึง ให้รู้จักเจียมเนื้อเจียมตัวไว้บ้าง
- ตักบาตรอย่าถามพระ หมายถึง จะให้อะไรแก่ใคร เมื่อทราบว่าเขาเต็มใจรับอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องถามว่าจะเอาไหม
- ตัดหางปล่อยวัด หมายถึง ตัดขาดไม่เกี่ยวข้อง
- ตาบอดได้แว่น หมายถึง คนที่มีสิ่งที่ตัวเองใช้ประโยชน์ไม่ได้ มักใช้คู่กับ หัวล้านได้หวี
- ตามใจปากมากหนี้ หมายถึง เห็นแก่กินย่อมสิ้นเปลืองมาก
- ตำข้าวสารกรอกหม้อ หมายถึง ทำพอให้เสร็จไปแค่ครั้งหนึ่ง ๆ พอพรุ่งนี้จะเอา ค่อยทำใหม่
- ตีงูให้กากิน หมายถึง ทำสิ่งที่ตนควรจะได้รับประโยชน์ แต่กลับไม่ได้ ตกอยู่กับผู้อื่นซะเนี่ย
- ตีตนก่อนไข้ หมายถึง กังวลทุกข์ร้อนก่อนในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น
- ตีนถีบปากกัด หมายถึง มานะพยายามทำงานทุกอย่างเพื่อปากท้อง โดยไม่ห่วงคำนึงถึงความลำบาก; [[ปากกัดตีนถีบ]] ก็ว่า
- ตีวัวกระทบคราด หมายถึง โกรธคนหนึ่งแต่ทำอะไรเขาไม่ได้ก็เลยรังควานอีกคนที่ตนเองสามารถทำได้
- ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก หมายถึง ต่อหน้าทำอย่างหนึ่ง ลับหลังทำอีกอย่างหนึ่ง แบบหน้าไหว้ หลังหลอก
คำสุภาษิตไทย หมวด ถ
- ถอนหงอก หมายถึง การที่ผู้ใหญ่โดนเด็กหรือผู้น้อยว่ากล่าวทำให้เสียหาย ไม่มีความเคารพนับถือผู้ใหญ่
- ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น หมายถึง ทำอะไรดูเหมือนจะละเอียดถี่ถ้วนดี แต่ความจริงแล้วไม่รอบคอบ หรือบางทีก็ดูเหมือนจะใช้สอยอย่างกระเหม็ดกระแหม่ในบางเรื่องแต่อีกเรื่องหนึ่งกลับสุรุ่ยสุร่าย
- ถ้าไม่มีไฟ ที่ไหนจะมีควัน หมายถึง เมื่อมีผลออกมา มันต้องมีเหตุแน่ ๆ
คำสุภาษิตไทย หมวด ท
- ทำดีแต่อย่าเด่น หมายถึง หากกระทำการใดให้เด่นดังหรือกลายเป็นที่สนใจของประชาคม จักเป็นการนำโชคร้ายมาสู่ตนเพราะมนุษย์มักอิจฉาริษยาหรือไม่ชอบเห็นคนอื่นเด่นเกินตน
- ทำนาออมกล้า ทำปลาออมเกลือ หมายถึง ทำการสิ่งใด ถ้ากลัวหมดเปลืองย่อมไม่ได้ผล
- ทุบหม้อข้าวตัวเอง หมายถึง การกระทำที่ทำให้ตนเองเสียผลประโยชน์หรือได้รับความเสียหาย
คำสุภาษิตไทย หมวด น
- นอนสูงให้นอนคว่ำ นอนต่ำให้นอนหงาย หมายถึง เมื่อนอนในที่สูง ถ้านอนคว่ำ อะไรผ่านไปผ่านมาข้างล่างก็มองเห็นหมด และเมื่อนอนในที่ต่ำ ถ้านอนหงาย อะไรผ่านไปผ่านมาข้างบนก็มองเห็นหมด ถ้านอนต่ำแล้วนอนคว่ำหน้าจะจดพื้น มองไม่เห็นอะไร
- นายว่า ขี้ข้าพลอย หมายถึง ลักษณะของคนเลว ไร้ความรู้ ถ้าเจ้านายว่าอย่างไร ก็มักจะพลอยประสมโรงซ้ำเติมด้วย
- น้ำขึ้นให้รีบตัก หมายถึง เมื่อเวลามีบุญมีวาสนา อย่างจะทำความดีอะไรก็รับทำ ๆ เสีย
- น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง หมายถึง พูดมากได้สาระน้อย
- น้ำท่วมปาก หมายถึง การรู้อะไรแล้วพูดไม่ได้ พูดไม่ออกไม่สามารถพูดออกมาได้ เพราะมีความจำเป็นบางอย่างหรือเพราะเกรงจะมีภัยมาถึงตนเองแก่ตนหรือผู้อื่นที่เกี่ยวข้องด้วย รู้แล้วพูดออกมาไม่ได้ รู้สึกอึดอัด เหมือนน้ำท่วมปาก
- น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า หมายถึง ทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยกัน ต้องเห็นอกเห็นใจกัน จึงควรผูกไมตรีกันไว้
- น้ำลด ตอผุด หมายถึง ความชั่วเมื่อทำไว้ในเวลาที่ตนมีอำนาจนั้น อาจไม่มีใครทราบ แต่เมื่อหมดบุญ หมดอำนาจ บรรดาความชั่วที่ปิดบังกันไว้นั้น ก็จะปรากฏออกมา
- น้ำลดตอผุด หมายถึง เมื่อหมดอำนาจ ความชั่วที่ทำไว้ก็ปรากฎ
- น้ำลึกหยั่งได้ น้ำใจหยั่งยาก หมายถึง น้ำลึกเป็นเรื่องรูปธรรม เราหาวัตถุมาวัดได้ แต่น้ำใจเป็นเรื่องนามธรรม ไม่มีเครื่องวัด
- น้ำเชี่ยว อย่าขวางเรือ หมายถึง เมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงอะไรเกิดขึ้น ก็อย่าไปขัดขวาง จะได้รับอันตราย เพราะตอนนี้ตนอยู่ในระยะหน้าสิ่งหน้าขวาน คนเรามักไม่มีเหตุผลดุจนน้ำเชี่ยว ถ้าเอาเรือไปขวาง เรือก็จะล่ม
- เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ หมายถึง ทั้ง ๆ ที่ตนไม่มีส่วนได้เป็นผลประโยชน์กับเขาเลย แต่ก็พลอยเข้าไปพัวพันในเรื่องร้าย ทำให้ต้องพลอยรับบาปรับเคราะห์เสียหายไปกับเขาด้วย
คำสุภาษิตไทย หมวด บ
- บุญมา ปัญญาช่วย ที่ป่วยก็หาย ที่หน่ายก็รัก หมายถึง ในเวลาที่มีบุญวาสนา สติปัญญาก็ปลอดโปร่ง กำลังใจดี แม้จะเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะหายวันหายคืน เพราะเขาหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากผู้มีวาสนานั้น และจะมีภาษิตต่อท้ายอีกว่า “บุญไม่มา ปัญญาไม่ช่วย ที่ป่วยก็หนัก ที่รักก็หน่าย” ซึ่งมีนัยตรงข้ามกัน
คำสุภาษิตไทย หมวด ป
- ปลาข้องเดียวกัน ตัวหนึ่งเน่า ก็พาตัวอื่นพลอยเหม็นไปด้วย หมายถึง คนที่อยู่ร่วมกัน ถ้าคนหนึ่งไปทำชั่ว ทำไม่ดีไว้ ก็จะพลอยทำให้คนอื่นเสียหายไปด้วย
- ปลาหมอตายเพราะปาก หมายถึง คนที่ชอบพูดอะไรพล่อย ๆ มักจะได้รับอันตรายเพราะปากที่พูดพล่อย ๆ นั้น
- ปลาหมอตายเพราะปาก หมายถึง คนที่พูดจาไม่ระวังจนนำอันตรายหรือความลำบากมาสู่ตนเอง
- ปลูกเรือนต้องตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ต้องตามใจผู้นอน หมายถึง จะทำอะไรก็ต้องตามใจผู้ที่จะได้รับผล เหมือนปลูกเรือนต้องปลูกตามที่ผู้อยู่ต้องการ ไม่ใช่ตามที่ช่างต้องการ เพราะช่างหรือสถาปนิกไม่ใช้ผู้อาศัย ผูกอู่ก็คือผูกเปล ก็ต้องให้ถูกใจผู้นอน
- ปล่อยเสือเข้าป่า ปล่อยปลาลงน้ำ หมายถึง ปล่อยศัตรูสำคัญหรือโจรผู้ร้าย ที่ตกอยู่ในอำนาจให้พ้นไปนั้น จะทำให้เขากลับมีกำลังและอาจกลับเข้ามาก่อความเดือดร้อนได้อีก
- ปากคนยาวกว่าปากกา หมายถึง ตามปรกติปากของอีกายาวกว่าปากคน แต่ปากคนนั้นพูดเล่าลือต่อปากกันไปได้ไกล ผิดกับกาแม้ปากจะยาว แต่ก็ต่อปากต่อคำอย่างคนไม่ได้
- ปากว่าตาขยิบ หมายถึง พูดอย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่างหนึ่ง ปากกับใจไม่ตรงกัน
- ปากหวานก้นเปรี้ยว หมายถึง พูดจาอ่อนหวาน แต่ไม่จริงใจ
- ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา หมายถึง สมัยก่อนการศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านยังไม่แพร่หลาย คนที่รู้หนังสือมีน้อย บางคนก็ได้ดีเพราะปาก การคิดเลขหรือการคำนวณนั้นมีความสำคัญน้อยลงมาอีก แม้เดี๋ยวนี้คนที่มีความรู้ดีแต่พูดไม่เก่ง ก็เอาดีได้ยาก ส่วนความชั่วความดีนี้ ทำลงไปแล้วย่อมเป็นเสมือนตราที่ประทับลงไปให้รู้ว่าคนนั้นเป็นคนดี หรือคนชั่ว
- ปิดทองหลังพระ หมายถึง ทำดีโดยไม่ต้องเป่าประกาศ หรืออาจจะใช้ในประโยคทำนองพ้อว่าทำดีแล้วไม่มีใครรู้
- ไปไหนมา สามวาสองศอก หมายถึง ถามอย่างหนึ่ง ตอบไปอีกอย่างหนึ่ง
คำสุภาษิตไทย หมวด ผ
- ผักชีโรยหน้า หมายถึง ทำความดีเพียงผิวเผิน
- ผัวหาบ เมียคอน หมายถึง ช่วยกันทำมาหากินทั้งผัวและเมีย
คำสุภาษิตไทย หมวด ฝ
- ฝนตกไม่ทั่วฟ้า หมายถึง ให้หรือแจกจ่ายอะไรไม่ทั่วถึงกัน
- ฝนทั่งให้เป็นเข็ม หมายถึง เพียรพยายามสุดความสามารถจนสำเร็จ
คำสุภาษิตไทย หมวด พ
- พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง หมายถึง คำพูดบางครั้งหากพูดออกไปอาจจะก่อให้เกิดผลเสียต่อตนเองหรือคนรอบข้าง หากอยู่เฉย ๆ ไม่พูดอะไรออกไปยังจะก่อเกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่า
คำสุภาษิตไทย หมวด ฟ
- ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า หมายถึง เรื่องราวไม่ดีภายในครอบครัว / องค์กร / หน่วยงาน ไม่ควรนำไปเล่าให้คนภายนอกฟัง และเรื่องราวไม่ดี คำนินทาว่าร้ายที่คนภายนอกพูดถึงคนภายในก็ไม่ควรนำมาเล่าให้ฟัง
คำสุภาษิตไทย หมวด ม
- มะนาวไม่มีน้ำ หมายถึง พูดห้าว ๆ หรือ พูดไม่มีหางเสียง
- มีเงินมีทองเจรจาได้ มีไม้มีไร่ปลูกเรือนงาม หมายถึง ถ้ามีเงินมีทองแล้วจะพูดอะไรก็มักจะสำเร็จ ถ้ามีไม้มีที่แล้ว ก็ย่อมปลูกเรือนได้สวยงาม
- มีเงินเขานับว่าเป็นน้อง มีทองเขานับว่าเป็นพี่ หมายถึง เมื่อมั่งมีเงินมีทองแล้ว ใคร ๆ ก็ประจบอยากเข้ามาเป็นญาติพี่น้องด้วย
- มือถือสาก ปากถือศีล หมายถึง ชอบแสดงตัวตนว่าเป็นคนมีศีล มีธรรม แต่ทำความเลวเป็นนิจ
- มือห่าง ตีนห่าง หมายถึง สุรุ่ยสุร่าย เลินเล่อ สะเพร่า ไม่ระมัดระวัง
- ไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้ หมายถึง ถ้าไม่มีอะไรเป็นเค้ามูลอยู่ ก็ย่อมไม่มีเรื่องเกิดขึ้น
- ไม่เห็นน้ำ อย่าเพิ่งตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอก อย่าเพิ่งโก่งหน้าไม้ หมายถึง อย่าด่วนทำอะไรล่วงหน้า โดยที่ยังไม่ทราบว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในภายหน้า จะเหนื่อยเปล่า
- ไม้ลำเดียวยังต่างปล้อง พี่กับน้องยังต่างใจ หมายถึง คือคนเรา นานาจิตตัง มีความเห็นไม่เหมือนกัน เหมือนไม้ไผ่ลำเดียวกัน ก็มีหลายปล้อง แต่ละปล่องก็ยาวไม่เท่ากัน พี่น้องแม้ท้องเดียวกัน แต่ความคิดเห็นก็ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกัน
- ไม้ล้มข้ามได้ คนล้มอย่าเพิ่งข้าม หมายถึง ไม้ล้มข้ามไปไม่มีอันตรายอะไร แต่คนที่เคยมีอำนาจวาสนา แล้วหมดอำนาจ อย่าไปซ้ำเติมเขา เพราะเขาอาจกลับมามีอำนาจอีกได้
- ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก หมายถึง จะอบรมสั่งสอนอะไรก็ทำเสียตั้งแต่เด็ก เพราะอบรมสั่งสอนง่าย จะสอนให้เป็นอะไรก็ได้ ส่วนคนแก่นั้นสอนยาก เหมือนไม้แก่ถ้าดัดก็หัก ผิดกับไม้อ่อนซึ่งดัดง่ายไม่หัก
- ไม้ใกล้ฝั่ง หมายถึง แก่มาก อายุขัยใกล้ตาย
คำสุภาษิตไทย หมวด ร
- รักดีหามจั่วรักชั่วหามเสา หมายถึง ใฝ่ดีจะมีความสุขความเจริญ ใฝ่ชั่วจะได้รับความลําบาก
- รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ หมายถึง รักจะคบกันนาน ๆ ให้ตัดความคิดอาฆาตพยาบาทออกไป รักจะอยู่สั้น ๆ ให้คิดอาฆาต
- รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี หมายถึง วัวถ้าไม่ผูกไว้ ก็อาจหายได้ ถ้าลูกดื้อ พ่อแม่ก็ต้องดุต้องตีบ้าง แต่การที่พ่อแม่ตีไม่ใช่ตีด้วยความเกลียดชัง เพราะพ่อแม่ที่ตีนั้นก็ไม่อยากตี บางทีตีแล้วแอบไปร้องไห้ สงสารลูกก็มี แต่ถ้าไม่ตีเสียบ้าง ต่อไปถ้าลูกกลายเป็นคนชั่วช้าเลวทราม พ่อแม่จะต้องเสียน้ำตามากกว่านั้น
- รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง หมายถึง การรู้จักหลบหลีกเอาตัวรอดจากปัญหา สถานการณ์ที่ลำบากหรืออันตรายได้
- รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม หมายถึง การศึกษาหาความรู้ไว้ ยิ่งมากยิ่งดี เพราะการมีความรู้มาก ไม่เหมือนการแบกข้าวแบกของ ซึ่งจะรู้สึกว่าหนักบ่า มีความรู้มิได้หนักบ่าหนักแรงอะไร ความรู้ที่เวลานี้เราคิดว่าไม่มีประโยชน์ วันหน้าอาจเห็นคุณค่าของมันก็ได้
- เรือล่มเมื่อจอด ตาบอดเมื่อแก่ หมายถึง ทำอะไรต่ออะไรดีมาตลอด แต่พอเสร็จกลับไม่ได้ผลอะไร หรือมาล้มเหลวเมื่อปลายมือ หรือในตอนท้าย
- เรือล่มในหนอง ทองจะไปไหน หมายถึง เมื่อจะต้องสูญเสียอะไรไปอย่างไม่มีทางที่จะสูญเปล่า ก็ไม่ต้องวิตกทุกข์ร้อนอะไร
คำสุภาษิตไทย หมวด ล
- ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ หมายถึง เมื่ออะไร ๆ ต้องอาศัยเขา ก็ต้องตามใจเขา ถ้าไปขัดใจเขา เขาอาจไม่ช่วยเราหรือไล่เราออกก็ได้
- ลมไม่พัด ใบไม้ไม่ไหว หมายถึง ไม่มีอะไรเป็นเค้ามูลมาก่อนแล้ว ก็คงไม่มีเรื่องมีราวเกิดขึ้นเป็นแน่
- เลี้ยงช้าง กินขี้ช้าง หมายถึง หาเศษหาเลยหรือมีผลประโยชน์พลอยได้จากหน้าที่ที่ตนทำเปรียบเหมือนคนเลี้ยงช้าง ซึ่งช้างก็มีค่าหญ้าอันเป็นส่วนของช้าง คนเลี้ยงช้างอาจเบียดบังเอาส่วนหนึ่งของค่าหญ้าเป็นผลประโยชน์ของตัว
- เลือกนักมักได้แร่ หมายถึง เลือกไปเลือกมา ในที่สุดมักจะไปได้ที่ไม่ดี มักใช้ในกรณีเลือกคู่ เลือกไปเลือกมาในที่สุดไปได้คนที่ไม่ดีมาเป็นคู่ครอง แร่ในที่นี้หมายถึงขี้แร่ หรือแร่เลว ๆ ที่ไม่มีค่าอะไรกัน
- เล่นกับหมา หมาเลียปาก เล่นกับสาก สากต่อยหัว หมายถึง ถ้าลดตัวไปเล่นหัวกับคนชั้นต่ำกว่า เขาก็อาจตีเสมอทำลวนลามเอา สากในที่นี้หมายถึงสากตำข้าวที่เขาพิงไว้ ถ้าใครซุกซนไปจับต้องเข้า สากอาจเลื่อนล้มทับถูกหัวถูกหูก็ได้
- โลภมาก ลาภหาย หมายถึง โลภมากเกินไป ในที่สุดจะไม่ได้อะไรเลย ท่าสอนให้รู้จักมีความพอประมาณไว้บ้าง
คำสุภาษิตไทย หมวด ว
- วัวสันหลังขาด เห็นกาบินผาดก็ตกใจ หมายถึง คนที่มีความผิดติดตัว มักจะมีพิรุธ มีอาการหวาดระแวงอยู่เสมอ กลัวคนอื่นจะรู้ เหมือนวัวสันหลังหวะเป็นแผล พอเห็นกาบินมาก็หวาดกลัว เกรงว่ากาจะโฉบลงมาจิกที่แผลนั้น บางทีก็พูดว่า “วัวสันหลังหวะ”
- วัวหายแล้วจึงล้อมคอก หมายถึง เมื่อเกิดเสียหายขึ้นมาแล้วจึงหาทางป้องกันในภายหลัง ซึ่งนับว่าไม่ทันการณ์ ควรจะล้อมคอกเสียก่อนที่วัวจะหาย
- วัวเห็นแก่หญ้า ขี้ข้าเห็นแก่นอน หมายถึง หมายถึงคนที่เห็นแก่ได้ เห็นแก่กิน และเกียจคร้าน
- วัวใครก็เข้าคอกคนนั้น หมายถึง ส่วนของใครก็เป็นของคนนั้น ไม่ก้าวก่ายหรือก้ำเกินในผลประโยชน์ของกันและกัน
- ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง หมายถึง พูดว่าคนอื่นอย่างไร ตนเองก็กลับเป็นอย่างนั้นเสียเองเหมือนอิเหนาที่ปรารภว่าไม่รักไม่ต้องการบุษบา แต่ตัวเองกลับลักพาบุษบาไป
คำสุภาษิตไทย หมวด ส
- สองฝักสองฝ่าย หมายถึง ทำตัวเข้ากับ 2 ฝ่ายที่ไม่ถูกกัน โดยหวังประโยชน์เพื่อตน
- สอนเด็ก สอนง่าย สอนผู้ใหญ่ สอนยาก หมายถึง จะอบรมสั่งสอนอะไรก็ทำเสียตั้งแต่เด็ก เพราะอบรมสั่งสอนง่าย จะสอนให้เป็นอะไรก็ได้ ส่วนคนแก่นั้นสอนยาก เหมือนไม้แก่ถ้าดัดก็หัก ผิดกับไม้อ่อนซึ่งดัดง่ายไม่หัก
- สาวไส้ให้กากิน หมายถึง เอาความลับของตน หรือพวกตนไปเผยให้คนอื่นรู้เป็นการประจานตน
- สิบเบี้ยใกล้มือ หมายถึง ของหรือประโยชน์ที่ควรได้ก็เอาไว้ก่อน
- สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง หมายถึง คนเราแม้จะมีความรู้สูงอย่างนักปราชญ์ ก็อาจผิดพลาดได้เหมือนกัน ทุกคนจึงไม่ควรประมาท แม้สัตว์สี่เท้าเช่น วัวควายซึ่งมีสี่เท้าก็ยังอาจก้าวพลาดถึงล้มลงได้ ภาษิตนี้บางทีก็มีพูดต่อไปอีกว่า “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง สองตีนโด่เด่ คงจะเซลงบ้าง”
- สุกเอาเผากิน หมายถึง ทำลวก ๆ ทำพอเสร็จไปครั้ง ๆ หนึ่ง
- เสน่ห์ปลายจวัก ผัวรักจนตาย หมายถึง ผู้หญิงที่จะผูกมัดจิตใจสามีได้ ไม่ใช่เพียงเพราะความสวยอย่างเดียว เพราะความสวยงามเป็นของไม่จีรังยั่งยืนอะไร แต่ความดีโดยเฉพาะฝีมือในการปรุงอาหาร ถ้าหากสามารถทำให้ถูกปากสามีได้ ย่อมผูกใจสามีให้รักไปจนตาย
- เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร หมายถึง เดิมเราถือกันว่า ผู้หญิงที่เป็นแม่ร้างเพราะสามีหนีไปนั้น แสดงว่าผู้หญิงผู้นั้นต้องมีอะไรบกพร่องเลวร้าย สังคมมักคิดว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี เพราะฉะนั้นผู้หญิงจึงไม่ยอมเสียสามีให้แก่หญิงใด เพราะเท่ากับเสียศักดิ์ศรีของตน แต่ในปัจจุบันอาจได้ยินบางคนพูดว่า “ถ้าได้ทองเท่าหัว ใครอยากได้ผัวก็เอกไป” แสดงว่าคนเดี๋ยวนี้เห็นแก่เงินมากขึ้น
- เสียน้อย เสียยาก เสียมาก เสียง่าย หมายถึง เวลาจะต้องเสียงเพียงเล็กน้อย ไม่อยากจะเสีย แต่พอถึงคราวต้องเสียมาก ๆ รับควักเงินให้ทันที อย่างข้าวของที่ชำรุดไปเล็กน้อย แทนที่จะรีบซ่อมแซมเสีย กลับปล่อยให้เสียมาก แล้วจึงซ่อมแซม ซึ่งต้องหมดเงินมากกว่าหลายเท่า
- เส้นผมบังภูเขา หมายถึง เรื่องง่าย ๆ แต่คิดไม่ออก เหมือนมีอะไรมาบังอยู่
คำสุภาษิตไทย หมวด ห
- หญิงสามผัว ชายสามโบสถ์ อย่าได้คบ หมายถึง แสดงว่ามีจิตใจรวนเร คบเป็นเพื่อนตายไม่ได้ เพราะเมื่อถึงคราวคับขัน อาจปลีกตัวหนีเอาตัวรอดไปตามลำพังได้
- หนังหน้าไฟ หมายถึง ผู้ที่คอยรับหน้า รับความเดือดร้อนก่อนผู้อื่น
- หนามยอกเอาหนามบ่ง หมายถึง ตอบโต้หรือแก้ด้วยวิธีการทำนองเดียวกัน
- หน้าเนื้อใจเสือ หมายถึง หน้าตาแสดงความเมตตา แต่ใจโหดเหี้ยม
- หมาขี้ไม่มีใครยกหาง หมายถึง หมายถึงคนที่ชอบยกย่องตัวเอง
- หยิกเล็บเจ็บเนื้อ หมายถึง เมื่อทำความเดือดร้อนให้แก่คนใกล้ชิด ก็จะมีผลกระทบถึงตัวผู้ทำหรือพวกพ้อง
- หาเหาใส่หัว หมายถึง รนหาเรื่องเดือดร้อน รำคาญใส่ตน
- หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว หมายถึง การทำอะไรเพื่อประชดประชัน ไม่ได้ประโยชน์อะไร ผลเสียจะตกแก่ตน ส่วนผลดีจะไปได้แก่คนที่เราประชดให้
- ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว หมายถึง ทำทุกข์ให้แก่ผู้ใด เคราะห์กรรมที่ทำกับเขา อาจตกตามมาถึงตัวเองบ้าง อย่างบางคนชอบล่าสัตว์ บางทีไปยิงลูกของตน โดยเข้าใจว่าเป็นสัตว์ป่าก็มี
คำสุภาษิตไทย หมวด อ
- อดเปรี้ยวไว้กินหวาน หมายถึง ให้มีความอดทน อดใจรอผลข้างหน้าที่จะดีกว่า คือละทิ้งสิ่งที่ไม่ดี เพราะอดใจรอเอาสิ่งที่ดีกว่า
- อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น หมายถึง เมื่ออยู่บ้านใคร อย่าอยู่เปล่า ควรทำการทำงานช่วยเหลือเขาเท่าที่จะทำได้ แม้เพียงเอาดินเหนียวมาปั้นวัวปั้นควายให้ลูกเจ้าของบ้านเล่นก็ยังดี เขาจะได้เมตตาสงสาร
- อย่าข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า หมายถึง อย่าบังคับขืนใจผู้อื่นให้ทำตามใจตน
- อย่าคบคนจร นอนหมอนหมิ่น หมายถึง อย่าคบคนจร ที่เราไม่รู้จักหัวนอนปลายเท้าหรือไม่รู้จักประวัติเสียก่อน
- อย่าชักน้ำเข้าลึก อย่าชักศึกเข้าบ้าน หมายถึง บางทีก็พูดว่า “อย่าชักเรือเข้าลึก” หมายความว่า อย่าทำอะไรที่เป็นเหตุให้อันตรายมาถึงตัว
- อย่าชิงสุกก่อนห่าม หมายถึง ตามปรกติผลไม้ เช่นมะม่วงก่อนจะสุก จะต้องห่ามเสียก่อน การกระทำอะไรต้องให้เป็นไปตามจังหวะขั้นตอนของมัน ถ้าทำผิดลำดับอาจเสียหาย เหมือนผลไม้ที่ยังไม่แก่ เอามาบ่มแม้จะสุก แต่ก็จะเข้าทำนองหัวหวานก้นเปรี้ยว หรือยังเรียนหนังสือไม่จบ ยังหาเงินไม่ได้ ริมีลูกมีเมียเสียก่อน ตัวเองก็จะเดือดร้อนลูกเมียก็จะพลอยเดือดร้อนไปด้วย
- อย่าชี้โพรงให้กระรอก หมายถึง คืออย่าไปสอนผู้รู้ เพราะเขารู้อยู่แล้ว เหมือนกับกระรอกมันย่อมรู้จักโพรงของมัน ไม่ต้องไปชี้บอกกับมันดอก
- อย่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หมายถึง อย่าทำอะไรที่ต้องเสียทรัพย์โดยไม่ได้ประโยชน์คุ้มกับเงินทองที่ต้องเสียไป เหมือนตำน้ำพริกเพียงครกหนึ่งแล้วเอาไปละลายในแม่น้ำ ซึ่งมีน้ำมาก จะทำให้น้ำในแม่น้ำกลายเป็นน้ำพริกอย่างในหม้อแกงไม่ได้
- อย่าติเรือทั้งโกลน หมายถึง เรือสมัยโบราณซึ่งเอาซุงทั้งต้นมาขุด เช่น เรือมาดที่เขาทำเป็นรูปร่างแล้วแต่ยังไม่แล้วเสร็จ อย่างเพิ่งไปด่วนติ
- อย่าทำตัวเป็นกิ้งก่าได้ทอง หมายถึง อย่าเย่อหยิ่งจองหองเพราะเพียงได้ดีหรือมีทรัพย์ขึ้นมาเพียงเล็กน้อย
- อย่าฝากเนื้อไว้กับเสือ หมายถึง อย่าฝากสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้กับผู้ที่ชอบสิ่งนั้นเพราะตนจะต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป
- อย่าฟื้นฝอยหาตะเข็บ หมายถึง อย่ารื้อเอาเรื่องเก่า ๆ ที่ล่วงเลยไปแล้วขึ้นมาพูดให้สะเทือนใจกัน ฝอย ในที่นี้หมายถึง มูลฝอย กุมฝอย ตะเข็บ คล้ายตะขาบ แต่ตัวเล็กกว่ามาก ชอบอยู่ตามกุมฝอย
- อย่าละเลงขนมเบื้องด้วยปาก หมายถึง อย่าเป็นคนดีแต่พูด คือพูดได้ แต่ทำไม่ได้
- อย่าสอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ หมายถึง คืออย่าไปสอนผู้รู้ เพราะเขารู้อยู่แล้ว
- อย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า หมายถึง อย่าใช้อำนาจบังคับอย่างหักโหมรุนแรง เพื่อให้ผู้อื่นทำตามความประสงค์ของตน เพราะนอกจากจะไม่สำเร็จแล้ว ตัวเองก็อาจเดือดร้อน
- อย่าเลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้ หมายถึง อย่าเอาลูกโจรหรือลูกคนชั่วคนเลวมาเลี้ยง เพราะอาจสร้างความลำบากเดือดร้อนให้แก่ผู้เลี้ยงก็ได้
- อย่าเห็นขี้ดีกว่าไส้ หมายถึง อย่าเห็นผู้อื่นดีกว่าญาติพี่น้องลูกหลานของตน
- เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน หมายถึง แสดงความรู้หรืออวดรู้กับผู้ที่รู้เรื่องดีกว่า
- เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง หมายถึง คัดค้านผู้มีอำนาจ ฐานะสูงกว่า หรือผู้ใหญ่กว่า มักจะล้มเหลว
- เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ หมายถึง แสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ไม่สนใจ