วันลอยกระทง
ว่าด้วยเรื่องการลอยกระทง นับเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของไทย ที่ทุกคนต่างเฝ้ารอ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับวันลอยกระทงให้มากขึ้นกัน
วันลอยกระทง
ลอยกระทง เป็นพิธีอย่างหนึ่งที่มักจะทำกันในคืนวันเพ็ญ เดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 อันเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งคืนวันเพ็ญก็จะน้ำขึ้นเต็มตลิ่ง วิธีการโดยทั่วไปก็คือจะมีการนำดอกไม้ ธูป เทียนหรือสิ่งของใส่ลงในสิ่งประดิษฐ์รูปต่าง ๆ ที่ไม่จมน้ำ เช่น กระทง เรือ แพ ดอกบัว ฯลฯ แล้วนำไปลอยที่แม่น้ำ โดยมีวัตถุประสงค์ และความเชื่อว่าเป็นการขอขมาต่อแม่น้ำหรือพระแม่คงคา ในปีนี้ วันลอยกระทง ตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566
ทำไมถึงลอยกระทง
การลอยกระทงนั้นจะมีจุดประสงค์และความเชื่อในการลอยกระทงแตกต่างกันไป เช่น
- ในเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ก็จะเป็นการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
- เป็นบูชารอยพระพุทธบาท ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา ซึ่งปัจจุบันคือแม่น้ำเนรพุททาในอินเดีย
- ต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งไปโปรดพระพุทธมารดา
- ขอขมาแม่น้ำ หรือพระแม่คงคา
ประวัติการลอยกระทง
การลอยกระทงในเมืองไทย มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย เรียกว่า การลอยพระประทีป หรือลอยโคม เป็นงานนักขัตฤกษ์รื่นเริงของประชาชนทั่วไป ต่อมานางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์สนมเอกของพระร่วง ได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นรูปกระทงดอกบัวแทนการลอยโคม การลอยกระทงหรือลอยโคมในสมัยนางนพมาศ กระทำเพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุทท
อันที่จริงลอยกระทงเป็นประเพณีขอขมาธรรมชาติมาแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะชาวบ้านทั่วไปรู้จากประสบการณ์ว่า
ถึงเดือนสิบเอ็ด (หรือราวเดือนตุลาคม) น้ำจะขึ้นนองหลาก
พอถึงเดือนสิบสอง (หรือราวเดือนพฤศจิกายน) น้ำจะทรงตัวคือไม่ขึ้นไม่ลง
ครั้นเดือนอ้าย (หรือราวเดือนธันวาคม) ต่อเดือนยี่ (หรือราวเดือนมกราคม) น้ำจะลดลง
ดูเพิ่มเติมเรื่อง ตำนานนางนพมาศ ต่อได้เลย
การลอยกระทงในปัจจุบัน
การลอยกระทงในปัจจุบัน ยังคงรักษารูปแบบเดิมเอาไว้ได้ตามสมควร เมื่อถึงวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงในเดือน 12 ชาวบ้านจะจัดเตรียมทำกระทงจากวัสดุที่หาง่ายตามธรรมชาติ เช่น หยวกกล้วย และดอกบัว นำมาประดิษฐ์เป็นกระทงสวยงาม ปักธูปเทียนและดอกไม้ เครื่องสักการบูชา ก่อนทำการลอยในแม่น้ำก็จะอธิษฐานในสิ่งที่มุ่งหวังพร้อมขอขมาต่อพระแม่คงคา ตามคุ้มวัดหรือสถานที่จัดงานหลายแห่ง มีการประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ และมีมหรสพสมโภชในตอนกลางคืน
นอกจากนั้นยังมีการจุดดอกไม้ ไฟ พลุ ตะไล ซึ่งในการเล่นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ วัสดุที่นำมาใช้ทำกระทง ควรเป็นของที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ
ประเพณีลอยกระทงไม่เพียงแต่เป็นการแสดงความกตัญญูทางศาสนา แต่ยังมีคุณค่าต่อครอบครัว ชุมชน และสังคมอีกด้วย การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ช่วยให้สมาชิกในครอบครัวสามารถใช้เวลาที่ดีต่อกัน และเป็นโอกาสที่ชุมชนได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมหรืองานอีกด้วย
นอกจากนี้ ประเพณีลอยกระทงยังมีบทบาทในการส่งเสริมการทำบุญและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้เป็นเหตุผลที่ดีในการรณรงค์ให้มีการรักษาความสะอาดของแม่น้ำและลำคลองบริเวณนั้นด้วย
เกล็ดความรู้เพิ่มเติม
ขอขมา มักเขียนผิดเป็น ขอคมา
กระทง มักเขียนผิดเป็น กะทง