ทั่วไป

ต้นเรือ คืออะไร?

วันนี้เรามาทำความรู้จักกับหน้าที่ของบุคลากรในการเดินเรือกันครับ ขอเชิญพบกับหนึ่งในบุคคลที่มีหน้าที่สำคัญ นั่นก็คือ ต้นเรือ (Chief Officer) ครับ ไปดูขอบเขตหน้าที่ของต้นเรือกันเลย

 

ต้นเรือ คืออะไร?

ต้นเรือ ของเรือพาณิชย์และเรือบรรทุกสินค้า เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Chief Officer หรือ Chief Mate เป็นผู้ซึ่งมีประกาศนียบัตรหรือใบรับรองความรู้ความสามารถผู้กระทำการในเรือ (Certificate of competency, COC)

 

ต้นเรือ เป็นรองผู้บังคับการเรือหรือนายเรือ (Captain หรือ Master) และมีความรับผิดชอบในการบริหารจัดการเรือด้านความปลอดภัยและด้านความมั่นคงของเรือ รวมถึงการดูแลความเป็นอยู่ของคนประจำเรือ และการฝึกความพร้อมต่าง ๆ บนเรือ เช่น การบริหารความปลอดภัย การดับเพลิงบนเรือ การค้นหาและช่วยชีวิตทางเรือ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นเรือคว่ำ เรือจม เป็นต้น

 

ความสำคัญของต้นเรือ

ต้นเรือ เป็นหัวหน้าของแผนกเดินเรือ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Chief Officer หรือ Chief Mate ดังนั้นงานของฝ่ายเดินเรือทั้งหมด ต้นเรือจะเป็นคนรับผิดชอบดูแล ซึ่งรวมถึงงานสินค้าด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางสินค้าบนเรือ การคำนวนการทรงตัวของเรือ แม้กระทั่งงานเกี่ยวกับอาหารการกิน ความเป็นอยู่บนเรือต่าง ๆ ต้นเรือก็ต้องเข้าไปดูแลเอาใจใส่เพื่อให้ลูกเรือทุกคนมีความสุขและปลอดภัยในการทำงานบนเรือ

นอกจากนี้ ต้นเรือยังต้องคอยฝึกความพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ บนเรือให้คนประจำเรือ เช่น สถานีสละเรือใหญ่, การดับเพลิงบนเรือ, การค้นหาและช่วยชีวิตในทะเล เป็นต้น

หน้าที่รับผิดชอบตำแหน่งต่าง ๆ ภายในเรือฝ่ายเดินเรือ


1. นายเรือ (Master) หรือ Captain

ถือประกาศนียบัตรชั้นสูงสุด คือ นายเรือ เป็นตำแหน่งสูงสุดในการบริหารงานภายในองค์กรเรือ โดยลักษณะงานนั้นเปรียบเสมือนพ่อบ้าน ซึ่งรับผิดชอบสูงสุด ลักษณะงาน เช่น การเดินเรือ จะต้องนำเรือไปให้ถึงจุดหมายปลายางด้วยความปลอดภัย ต่อชีวิต ตัวเรือ สินค้า และสิ่งแวดล้อม ซึ่งลักษณะงานจะเน้นไปทางด้านบริหารและงานด้านเอกสารเป็นหลัก ซึ่งจะต้องติดต่อกับบริษัทตลอดเวลาในการเดินทาง เพื่อให้งานนั้นบรรลุผลทางธุรกิจ

 

2. ต้นเรือ (Chief Officer หรือ Chief Mate ) C/O

ถือประกาศนียบัตรต้นเรือ เป็นนายประจำเรืออาวุโส ฝ่ายเดินเรือ ลำดับชั้นรองลงมาจากนายเรือ ภาระงาน นั้นอาจจะเปรียบเสมือนเป็นแม่บ้านซีงจะดูแลทั้งในเรื่องของสภาพความเป็นอยู่ของคนประจำเรือและความสะอาดของตังเรือ ภาระงานด้านสินค้า และรับผิดชอบอุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ ภายในเรือระหว่างเรือเดินอยู่กลางทะเลนั้นจะเข้าเวรซึ่งเรียกว่า นายยามเรือเดิน โดยทั่วไปจะเข้าเวร เวลา 04:00 – 08:00น. และ 16:00 – 20:00น. และขณะเรือจอดเทียบท่า และปฏิบัติสินค้า ต้นเรือ จะมีหน้าที่ในการรับผิดชอบ การจัดการบรรทุกและขนถ่ายสินค้า ซึ่งมีผู้ช่วย คือ นายประจำเรือฝ่ายเดินเรือ และงานอื่น ๆ จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่นายเรือได้มอบหมาย

 

3. นายประจำเรือฝ่ายเดินเรือ (Deck Officer) ต้นหนที่ 3 , ต้นหนที่ 2

ต้นหนที่ 2 (2/O) ถือประกาศนียบัตรนายประจำฝ่ายเดินเรือ อาวุโสรองมาจาก ต้นเรือ ซึ่งมีหน้าที่หลัก ด้านการวางแผนการเดินทางของเรือ ภายใต้ความรับผิดชอบของ นายเรือ การแก้ไขแผนที่เดินเรือ บรรณสารด้านการเดินเรือให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัยด้านการเดินเรือ

ขณะเรือเดินอยู่ในทะเล จะเข้าเวร นายยามเรือเดิน ปกติเวลา 1200 – 1600น. และ

0000 – 0400น. และขณะเรือเทียบท่าปฏิบัติงานสินค้า จะเข้าเวรนายยามสินค้า แบ่งตามช่วงเวลาที่ต้นเรือกำหนด ส่วนงานดานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากต้นเรือ และนายเรือ

ต้นหนที่ 3 หรือ ผู้ช่วยต้นเรือ (3/O) ถือประกาศนียบัตรนายประจำฝ่ายเดินเรือ เป็นนายประจำเรืออาวุโสน้อยสุด ซึ่งมีหน้าที่หลักคือช่วยเหลืองานของ ต้นเรือ ในด้านงานอุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ ภายในเรือ เช่น เสื้อชูชีพ, เรือช่วยชีวิต, แพชูชีพ, อุปกรณ์การดับไฟในเรือ, Muster List, การฝึกสถานีฉุกเฉินต่าง ๆ ให้เป็นไปตามอนุสัญญา SOLAS กำหนด

ขณะเรือเดินอยู่ในทะเล จะเข้าเวรนายยามเรือเดิน ปกติเวลา 0800 – 1200น. และ

2000 – 2400น.ขณะเรือเทียบท่าปฏิบัติงานสินค้าจะเข้าเวรนายยามสินค้า แบ่งตามช่วงเวลาที่ต้นเรือกำหนด ส่วนงานด้านอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจาก นายเรือ และต้นเรือ

 

4. สรั่งเรือ (Boson)

ถือประกาศนียบัตรลูกยามสะพานเดินเรือฝ่ายเดินเรือเป็นลูกเรืออาวุโส ฝ่ายเดินเรือ ซึ่งจะมีประสบการณ์และผ่านงานลูกเรือมาหลายปี มีภาวะผู้นำ และมีความรู้ความสามารถด้านพื้นฐานชาวเรือเป็นอย่างดี เช่น งานบำรุงรักษาตัวเรือ แทงลาด เชือกเงื่อนต่าง ๆ โดยภาระงานนั้น ในแต่ละวันจะรับมอบหมายงานจากต้นเรือ โดยงานทั่วไปไม่ว่าจะเป็นงานด้านสินค้า การดูแลรักษาตังเรือ หรือ การเคาะสนิมทาสี หรืองานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย และจะสั่งงานลูกน้องต่อไป เช่น นายท้าย และกลาสีเรือ แต่ละคนจะได้รับมอบหมายงานต่างกันตามความสามารถของแต่ละคน

 

5. นายท้าย (A.B.)

ถือประกาศนียบัตรลูกยามสะพานเดินเรือฝ่ายเดินเรือ เป็นตำแหน่งลูกเรือ จะมีจำนวนประมาณ 3 นาย หรือ มากกว่าแล้วแต่ละประเภทเรือ ผู้บังคับบัญชาเบื้องต้น คือ สรั่งเรือ เป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานบนเรือมาพอสมควร ภาระงาน ขณะเรือเดินอยู่ในทะเล จะเข้ายาม เป็นลูกยาม เข้ายามคู่กับนายยามแต่ละคน ในระหว่างเรือเทียบท่าปฏิบัติงานสินค้า ก็จะเข้ายามเป็นลูกยามสินค้าเช่นเดียวกัน คู่กับนายยามสินค้า ส่วนงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายประจำเรือ ต้นเรือ และนายเรือ

 

6. ช่างเชื่อม ฝ่ายปากเรือ (FITTER)

มีหน้าที่ในการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ บนเรือโดยรับคำสั่งจากต้นเรือ ทั้งนี้จะต้องผ่านการอบรม 4 หลักสูตรพื้นฐานเช่นกันเหมือนกับตำแหน่งอื่น ๆ และอาจจะต้องมีประกาศนียบัตรผู้ชำนาญงานในด้านเชื่อมโลหะ จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย

 

7. พ่อครัว (Cook)

มีหน้าที่ในการประกอบอาหารให้ทุกคนภายในเรือรับประทาน โดยพ่อครัวทุกคนจะต้องผ่านการอบรมประกาศนียบัตร 4 หลักสูตรความปลอดภัยพื้นฐาน และบางบริษัทจะจัดให้ตำแหน่งพ่อครัวอาจจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการปรุงอาหารให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนประจำเรือ ซึ่งพ่อครัวถือได้ว่าเป็นแผนกที่ทำงานหนัก ไม่มีวันหยุด เสาร์ – อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ เนื่องจากแผนกครัวจะต้องปรุงอาหารทุกวันตลอดทั้ง 3 มื้อ พ่อครัวยังจะต้องมีความรู้ในการจัดเก็บและรักษาเสบียงอาหารภายในเรือให้มีความ สด สะอาด และอย่างเพียงพอ ตลอดการเดินทางระหว่างอยู่กลางทะเล และเมืองท่าต่างประเทศรวมถึงกรณีฉุกเฉินอีกด้วย

 

8. บริกร (STEWARD)

โดยบริกรจะเป็นผู้ช่วยสหโภชน์ หรือ พ่อครัว ในการทำงานด้านอาหาร ช่วยบริการและทำความสะอาดภายในเรือโดยบริกรจะต้องผ่านการอบรมประกาศนียบัตร 4 หลักสูตรความปลอดภัยพื้นฐานก่อนลงเรือ เช่นกัน

 

9. กลาสีเรือ (O.S.)

กลาสีเป็นตำแหน่งเริ่มต้นสุดของการทำงานบนเรือ เนื่องจากยังไม่มี ประกาศนียบัตร หรือ ชาวเรือที่จะเรียกว่า ตั๋ว และประสบการณ์ในการทำงานเรือมาก่อน มีหน้าที่ในการปฏิบัติงานทั่ว ๆ ไป ที่ได้รับมอบหมายจากสรั่งเรือ เช่น งานเคาะสนิมทาสี ทำความสะอาดระวางสินค้า และเป็นผู้ช่วยนายยามขณะเรือจอดปฏิบัติงานสินค้า รวมถึงการปฏิบัติงานตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ที่ได้รับมอบหมาย เช่น สรั่งเรือ นายประจำเรือ ต้นเรือ และนายเรือ

คุณสมบัติ สมัครเข้าทำงานตำแหน่ง กลาสีเรือ นั้น จะต้องมีคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น

- ผ่านการฝึกอบรมประกาศนีบัตร 4 หลักสูตรความปลอดภัยพื้นฐาน

- มีหนังสือคนประจำเรือ (Seaman Book)

- มีเอกสารสำคัญ Seafarer

- มีใบรับรองการตรวจสุขภาพ (คร.5)

- หรืออาจจะต้องมี หนังสือเดินทางระหว่างประเทศ (Passport) เพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทเพื่อที่จะสามารถลงทำงานในตำแหน่งกลาสีเรือได้ เมื่อทำงานได้สักระยะ ผ่านการฝึกฝนและเรียนรู้ในงานดานทักษะชาวเรือ เช่น การถือท้ายเรือใหญ่ การผูกเชือก การแทงลวด การเคาะสนิม และผ่านประสบการณ์การเป็นผู้ช่วยนายยามบนสะพานเดินเรือ รวมมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานบนเรือไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก็จะมีสิทธิ์ขอสมัครสอบเพื่อขอรับประกาศนียบัตรลูกเรือยาม ยามสะพานเดินเรือกลเดินทะเลกับ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เพื่อที่จะได้มีโอกาส เลื่อนชั้นที่สูงขึ้น เช่น นายท้ายเรือ ต่อไป

 

10. นักเรียนฝึก ฝ่ายเดินเรือ (Deck Cadet)

เป็นนักเรียนฝึกจากสถาบันการศึกษาด้านการเดินเรือ เช่น ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี หลักสูตรปกติ 5 ปี ฝ่ายเดินเรือนั้น ตามหลักสูตรการศึกษา จะศึกษาภาคทฤษฎี 3 ปีครึ่ง และจะต้องฝึกภาคปฏิบัติทางทะเลกับเรือสินค้าต่างประเทศอีก 1 ปีครึ่ง รวมระยะเวลาการศึกษาตลอดหลักสูตร 5 ปี ขณะฝึกงานอยู่บนเรือก็จะทำการศึกษาหาความรู้ด้านวิชาชีพเดินเรือ ตั้งแต่งานของลูกเรือตลอดจนถึงงานของ นายประจำเรือ ต้นเรือ และนายเรือ เมื่อจบการศึกษาแล้วก็จะมีสิทธิ์ขอสมัครสอบรับประกาศนียบัตรนายประจำเรือฝ่ายเดินเรือกับ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี โดยจะเริ่มต้นทำงานในตำแหน่งแรก คือ นายประจำเรือ หรือ 3/O


ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://sites.google.com/site/khwamplxdphaybnreux01/42/hnathi-rab-phid-chxb-tahaenng-tang-phayni-reux-fay-dein-reux