ภาษาไทย คำราชาศัพท์

คำราชาศัพท์ ที่ใช้กับ พระภิกษุสงฆ์

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือในภาษาไทย จึงมีการกำหนดถ้อยคำไว้จำนวนหนึ่งสำหรับใช้กับภิกษุสามเณรโดยเฉพาะ

ทั้งนี้เพราะพระภิกษุอยู่ในฐานะที่เป็นผู้สืบพระพุทธศาสนา และเป็นผู้ทรงศีล สามารถเทศนาสั่งสอนประชาชนให้ประพฤติดีประพฤติชอบ

 

จึงควรใช้ภาษาด้วยถ้อยคำสุภาพและถูกต้องตามกาลเทศะเพื่อให้ผู้ฟังเกิดความเคารพนับถือ

 

ต่อจากตอนที่แล้ว เรื่อง มูลเหตุที่ทำให้เกิดมีคำราชาศัพท์ วันนี้เรามาดูคำราชาศัพท์เพิ่มตามหัวข้อดังนี้


ตอนที่ 2 : คำราชาศัพท์สำหรับพระภิกษุสงฆ์

เราไปดูกลุ่มคำราชาศัพท์สำหรับพระภิกษุสงฆ์กันเลย

 

ศัพท์สำหรับพระภิกษุสงฆ์

แบ่งออกเป็นประเภทของคำได้ 3 ประเภทดังต่อไปนี้

1. คำนาม

คำนามที่ใช้คำหรับพระภิกษุ ส่วนมากใช้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นเเต่คำบางคำที่กำหนดไว้เฉพาะ เช่น

  • กาสาวพัสตร์ ผ้าย้อมฝาด คือ ผ้าเหลืองพระ
  • กลด คือ ร่มขนาดใหญ่ มีด้ามยาว สำหรับพระธุดงค์โดยเฉพาะ
  • จีวร คือ ผ้าสำหรับห่มของภิกษุสามเณรคู่กับสบง
  • สังฆาฏิ คือ ผ้าคลุมกันหนาวสำหรับพระใช้ทาบบนจีวร ใช้พันพาดบ่าซ้าย
  • ตาลปัตร คือ พัดใบตาล มีด้ามยาว สำหรับพระใช้ในพิธีกรรม
  • ธรรมาสน์ คือ ที่สำหรับภิกษุสามเณรนั่งเเสดงธรรม
  • บาตร คือ ภาชนะชนิดหนึ่ง สำหรับภิกษุสามเณรใช้รับอาหารบิณฑบาต
  • บริขาร คือ เครื่องใช้สอยของพระภิกษุ มี ๘ อย่าง รวมเรียกว่า "อัฐบริขาร" ได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกนเข็ม ประคดเอว กระบอกกรองน้ำ
  • ปัจจัย คือ เงินที่ถวายพระเพื่อเป็นค่าปัจจัยสี่
  • ลิขิต คือ จดหมายของพระสงฆ์
  • จังหัน คือ อาหารเช้า
  • กุฏิ คือ เรือนหรือตึกสำหรับพระภิกษุสามเณรอยู่อาศัย
  • เจดีย์ คือ สิ่งซึ่งก่อเป็นรูปคล้ายลอมฟางมียอดเเหลม บรรจุสิ่งที่นับถือ เช่น พระธาตุ
  • หอไตร คือ หอสำหรับเก็บพระธรรม
  • อุโบสถ คือ สถานที่สำหรับพระสงฆ์ประชุมกันทำสังฆกรรม เรียกสั้นๆ ว่า โบสถ์

 

2. คำสรรพนาม

  • สมเด็จพระสังฆราช
    คำขึ้นต้น กราบทูล..ทราบฝ่าพระบาท สรรพนามบุรุษที่ 1 เกล้ากระหม่อม สรรพนามบุรุษที่ 2 ใต้ฝ่าพระบาท คำลงท้าย ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
  • สมเด็จพระราชาคณะ (เช่น สมเด็จพระวันรัต, พระพุทธโฆษาจารย์)
    คำขึ้นต้น นมัสการ สรรพนามบุรุษที่ 1 กระผม,ดิฉัน สรรพนามบุรุษที่ 2 พระคุณเจ้า คำลงท้าย ขอนมัสการด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
  • พระราชาคณะ (ขั้นพิเศษ, ธรรม, เทพ, ราช)
    คำขึ้นต้น นมัสการ สรรพนามบุรุษที่ 1 กระผม, ดิฉัน สรรพนามบุรุษที่ 2 พระคุณท่าน คำลงท้าย ขอนมัสการด้วยความเคารพอย่างสูง
  • พระภิกษุทั่วไป
    คำขึ้นต้น นมัสการ สรรพนามบุรุษที่ 1 กระผม, ดิฉัน สรรพนามบุรุษที่ 2 ท่าน, พระเดชพระคุณ คำลงท้าย ขอนมัสการด้วยความเคารพ  

 

 

3. คำศัพท์อื่น ๆ ที่ใช้ในพุทธศาสนากับพระภิกษุ

  • เจริญพระพุทธมนต์ ใช้ในการนิมนต์พระภิกษุเกี่ยวด้วยงานมงคล ถ้านิมนต์เกี่ยวด้วยงานศพ พึงกล่าวว่าสวดมนต์
  • การนิมนต์พระ ตามความนิยม นิมนต์ 5 รูป 7 รูป หรือ 9 รูป เป็นเลขคี่เพราะถือว่ารวมพระพุทธด้วยก็เป็นจำนวนคู่ นิมนต์ไปงานมงคลสมรสนิยมนิมนต์พระ 8 รูปเป็นสิริมงคล แต่สำหรับพิธีหลวงทุกพิธี ทางราชการต้องนิมนต์ตั้งแต่ 10 รูปเป็นอย่างน้อย ถ้านิมนต์ไปงานศพ นิมนต์เพียง 4 รูป
  • ใบปวารณา การถวายจตุปัจจัยแด่พระภิกษุสามเณร ต้องใช้ใบปวารณามิให้กล่าวถึงเงินโดยตรง ให้ใช้คำว่า ข้าพเจ้าขอถวายจตุปัจจัยแด่พระคุณท่านเป็นมูลค่าบาทสตางค์
  • เบญจางคประดิษฐ์ การกราบพระพุทธรูป, พระภิกษุ, พระรัตนตรัยแบบคุกเข่าทั้งสองจดพื้น คว่ำฝ่ามือทั้งสองวางแผ่ราบจดพื้นให้ข้อศอกแนบลำตัว หน้าผากจดลงบนพื้น รวมเป็นองค์ 5 กล่าวคือ การกราบโดยให้อวัยวะทั้ง 5 ได้แก่เข้าทั้ง 2 มือทั้ง 2 และหน้าผากจดลงกับพื้น
  • การกรวดน้ำ ควรหยดน้ำหลั่งเป็นสายเดียวอย่างสม่ำเสมอทีละน้อยไม่ขาดสาย ไม่ควรให้มีเสียงน้ำหยดหรือไหลดังเกินควร ให้เริ่มกรวดน้ำตอนคำอนุโมทนาว่า "ยถาวรีวหา" ผู้กรวดจึงตั้งจิตแผ่ส่วนกุศลไปยังบุพการี ผู้ที่ประสงค์จะแผ่กุศลไปให้ รวมถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย เมื่อพระสวดจบบนยถา จึงหยุดกรวดน้ำ นั่งประนมมือฟังพระอนุโมทนาต่อไปจนจบ
  • รูป ลักษณะใช้เรียกกับพระภิกษุสามเณร เช่นพระรูปหนึ่ง สามเณร 3 รูป เป็นคำใช้แทนตัวผู้พูด สำหรับพระภิกษุสามเณรพูดกับคฤหัสถ์ เป็นสรรพนามบุรุษที่ 1
  • องค์ ลักษณะนามใช้เรียกสิ่งที่เคารพบูชา เช่น พระพุทธรูป 1 องค์ บาทหลวง 1 องค์ เป็นลักษณนามใช้กับสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระราชาคณะว่ามีจำนวน "องค์" แทน "รูป" ใช้กับนักบวชในศาสนาอื่นด้วย ชี นักบวช เช่น ชีปะขาว คำเรียกหญิงที่นุ่งขาวห่มขาว โกนคิ้วโกนผม ถือศีล แม่ชีก็เรียก ชีต้น พระสงฆ์ที่เป็นอาจารย์ ภาษาโบราณใช้เรียกนักบวชหญิงว่ารูปชี ก็มี
  • ถวาย บุคคลทั่วไปใช้ถึงพระภิกษุ หรือพระภิกษุถวายพระพรพระมหากษัตริย์และเจ้านาย
  • เผดียงสงฆ์ แจ้งให้สงฆ์ทราบ
  • นิมนต์ (เชิญ, เชื้อเชิญ) เช่นนิมนต์ไปฉัน นิมนต์รับบาตร
  • อาราธนา (เชื้อเชิญ, นิมนต์, อ้อนวอน) เช่น อาราธนาแสดงธรรม อาราธนาพระปริตร อาราธนาศีล
  • อุบาสก-อุบาสิกา บุรุษ-สตรีที่นับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง คำลำลองว่าประสก-สีกา เป็นคฤหัสถ์ชายหญิงที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง
  • ฉัน ฉันภัตตาคาร กินอาหาร ภิกษุฉันวันละ 2 ครั้งคือ ตอนเช้ากับตอนกลางวัน เรียกว่าฉันจังหันและฉันเพล
  • โยม พระภิกษุใช้เรียกญาติผู้ใหญ่ หรือผู้มีอาวุโส เช่นบิดา เรียกว่าโยมผู้ชาย มารดาเรียกว่าโยมผู้หญิง หรือโยมพ่อโยมแม่ ฆราวาสจะกล่าวถึงญาติผู้ใหญ่ของท่านก็ใช้คำนี้ด้วย
  • มรณภาพ, ถึงแก่มรณภาพ ตาย
  • อาพาธ เจ็บไข้
  • ประเคน มอบของส่งให้พระภิกษุกับมือ ผู้ชายต้องใช้สองมือยก ผู้หญิงจะยกส่งถึงมือต่อมือไม่ได้ พระภิกษุจะต้องเอาผ้าวางรองรับ โดยท่านถือชายผ้าอีกข้างหนึ่งไว้ ให้ผู้หญิงประเคนของนั้นลงบนผ้า
  • หัตถบาส ใช้เรียกการนั่งของพระสงฆ์ในเวลาทำสังฆกรรมเพื่อแสดงความสามัคคีความพร้อมเพรียง โดยนั่งเว้นระยะห่างกันตามพระวินัยกำหนดอยู่ในที่ประชุมโดยไม่นั่งแยกกันหรือลุกเดินไปทางโน้นทางนี้ เรียกว่า นั่งหัตถบาส อีกความหมายของระยะหัตถบาสคือ มีกำหนดระยะห่าง ๒ ศอก คืบ มีวิธีวัดดังนี้ เมื่อภิกษุนั่งพับเพียบอยู่ ให้วัดจากด้านหลังของเธอมาถึงหน้าตักของเธอจะได้ระยะ ๑ ศอก แล้ววัดจากหน้าตักของเธอออกไปข้างหน้าอีก ๑ ศอก ๑ คืบ จะรวมได้เป็น ๒ ศอก ๑ คืบ นี้คือระยะหัตถบาส
  • ครองผ้า ครองจีวร นุ่งห่ม ถ้าใช้กับพระสังฆราไปใช้ทรงจีวร ทรงสบง
  • ภัตตาหาร อาหาร
  • ปลงอาบัติ พระภิกษุแสดงความผิดของตนเพื่อเปลื้องโทษทางวินัย
  • ปลงธรรมสังเวช พระภิกษุเกิดความสังเวชโดยธรรมเมื่อเห็นความแตกดับของสังขาร
  • ปลงบริขาร พระภิกษุมอบบริขารให้ผู้อื่นเวลาใกล้ตาย
  • ปลงผม โกนผม
  • กุฏิ ที่อยู่ของพระภิกษุสามเณร
  • บิณฑบาต รับอาหารใส่บาตรโดยพุทธศาสนิกชนตักบาตร
  • ทำวัตร สวดมนต์
  • จำวัด นอน
  • สรง อาบน้ำใช้แก่บรรพชิตและเจ้านาย

 

 

ดู คำราชาศัพท์ หมวดพระสงฆ์ ทั้งหมด


ดูเครื่องมือช่วยเรียนรู้คำราชาศัพท์ ดังนี้

คำราชาศัพท์ ทั้งหมด

ค้นหา คำราชาศัพท์

คำราชาศัพท์ ตามหมวดหมู่