คำราชาศัพท์

การสร้างคำราชาศัพท์

การสร้างคำราชาศัพท์ 

    หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าคำราชาศัพท์นั้นไม่ใช่คำดั้งเดิมของภาษาไทย แต่เป็นคำที่กำหนดขึ้นมา วันนี้เราจะพามาดูกันว่าคำราชาศัพท์มาจากภาษาใดบ้าง และมีคำไหนบ้าง มาดูกันเลย

    คำราชาศัพท์เป็นคำที่ไม่ใช่คำดั้งเดิมของภาษา จำเป็นต้องสร้างคำขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่ได้เกิดจากภาษาไทยเพียงภาษาไทยเพียงภาษาเดียว ยังมีภาษาอื่น ๆ ซึ่งการสร้างคำราชาศัพท์มีที่มาโดยสามารถแบ่งได้ตามภาษาเป็น ๕ ภาษา ได้แก่

 

๑.ภาษาไทย

  มีคำสามัญในภาษาไทยหลายคำที่นำมาใช้นำหน้าคำภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตเพื่อใช้เป็นคำราชาศัพท์ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้คำว่า “มี” และ “เป็น” มากที่สุด ดังตัวอย่าง

มี             มีพระบรมราชโองการ    มีพระราชดำรัส

เป็น         เป็นพระราชโอรส           เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม

คำอื่น ๆ   น้ำพระราชหฤทัย          น้ำจัณฑ์       นิ้วพระหัตถ์         ข้อพระบาท

  นอกจากนี้ยังมีคำสามัญจำนวนหนึ่งที่ใช้เป็นคำราชาศัพท์ได้ คำราชาศัพท์ที่เป็นคำไทยจะต้องมีคำว่า “พระ” หรือ “พระราช” นำหน้า ดังตัวอย่าง

คำนาม      หมวดร่างกาย             พระเจ้า (หมายถึง หัว ใช้กับบพระเจ้าแผ่นดิน)

                 หมวดเครือญาติ           พระพี่นาง, พระเจ้าพี่ยาเธอ, พระเจ้าน้องยาเธอ, พระเจ้าลูกเธอ

                 หมวดเครื่องใช้             พระสาง, พระแท่น, พระที่นั่ง

คำกริยา     นำหน้ากริยา               ทรงขับรถยนต์, ทรงเล่นกีฬา

                  นำหน้านาม                 ทรงม้า, ทรงช้าง, ทรงเครื่อง

๒.ภาษาเขมร

  ในสมัยโบราณอาณาจักรขอม หรือเขมรในปัจจุบันเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ มีอารยธรรม มีความเจริญสูงสุด พระเจ้าแผ่นดินของขอมอยู่ในฐานะสมมติเทพ ทำให้ภาษาเขมรมีความศักดิ์สิทธิ์ ยกย่องว่าเป็นของสูง ไทยจึงนำเอาภาษาเขมรมาใช้เป็นคำราชาศัพท์เพื่อให้สมพระเกียรติกับพระเจ้าแผ่นดิน ดังตัวอย่างคำราชาศัพท์ที่มาจากภาษาเขมร

โปรด, เสด็จ ,เสวย, เขนย, บรรทม, สรง, ทูล, ถวาย, ตรัส, พระศอ, พระขนง, พระตำหนัก, ฉลองพระองค์, พระเพลา, พระราชดำริ, พระราชดำเนิน

 

๓.ภาษาบาลี

  ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ใช้จารึกพระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญของพระพุทธศาสนา ชาวพุทธจะนับถือว่าภาษาบาลีเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้พระพุทธเจ้าก็เป็นพระศาสดาของศาสนาพุทธเป็นที่เคารพบูชาสูงสุด ดังนั้นจึงมีความเชื่อว่าเป็นภาษาที่เหมาะสมกับพระเจ้าแผ่นดิน จึงมีคำราชาศัพท์ที่มาจากภาษาบาลีเป็นจำนวนมาก ดังตัวอย่าง

พระรูป, พระวักกะ, พระบาท, พระราชบิดา, พระอัยกา, พระบรมราโชวาท, พระราชสาสน์, พระทนต์, พระหัตถ์, พระอังคุฐ, พระดัชนี, พระมัชฌิมา

 

๔.ภาษาสันสกฤต

  ภาษาสันกฤตเป็นภาษาโบราณของอินเดียที่ใช้ในคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์ เป็นภาษาที่พราหมณ์ใช้ติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้า จึงถือว่าเป็นภาษาที่ศักดิ์สิทธิ์ เหมาะสมกับพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นสมมติเทพเช่นเดียวกับภาษาบาลี ไทยจึงนำภาษาสันสกฤตมาใช้เป็นคำราชาศัพท์ ดังตัวอย่าง

พระกรรณ, พระโอษฐ์, หฤทัย, พระเศียร, พระปฤษฎางค์, สวรรคต

 

๕.ภาษาอื่น ๆ

  นอกจากภาษาไทย ภาษาเขมร ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤตที่เป็นคำราชาศัพท์แล้ว ยังมีภาษาอื่น ๆ ที่เกิดจากการติดต่อค้าขายกับไทยมาตั้งสมัยโบราณ เช่น ภาษาเปอร์เซีย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ดังตัวอย่าง

ภาษาเปอร์เซีย  พระสุหร่าย            พระสุจหนี่

ภาษาอังกฤษ     พระโธรน

ภาษาจีน            พระเก้าอี้


หลัก ๆ ในการสร้างคำราชาศัพท์ก็มีเพียงเท่านี้ หากหมั่นศึกษาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องก็จะทำให้เข้าใจในเรื่องคำราชาศัพท์ได้ไม่ยาก ทั้งการใช้ ลักษณะคำ แม้กระทั่งที่ไปที่มา สำหรับบทความนี้ก็ขอฝากไว้เพียงเท่านี้ แล้วเจอกันกับบทความหน้าครับ