สาเหตุการเกิดภาษา

หลายคนอาจจะเคยสงสัยว่าภาษาไทยที่เราใช้สื่อสารกันในทุกวันนี้มีที่มาอย่างไร วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันจากบทความนี้ มาดูกันว่าภาษาเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

หลายคนอาจจะเคยสงสัยว่าภาษาไทยที่เราใช้สื่อสารกันในทุกวันนี้มีที่มาอย่างไร วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันจากบทความนี้ มาดูกันว่าภาษาเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

 

สาเหตุการเกิดภาษา

แรกเริ่มเดิมทีที่มนุษย์ยังไม่มีภาษาพูดและภาษาเขียนเหมือนในปัจจุบัน นักภาษาศาสตร์มีแนวคิดว่ามนุษย์สื่อสารโดยใช้ท่าทางต่างๆ เช่น โบกมือ ชี้นิ้ว พยักหน้า สั่นศีรษะ ต่อมามีการกำเนิดภาษาขึ้นหรือเรียกว่าสาเหตุการเกิดของภาษา โดยภาษามีสาเหตุการเกิดขึ้นดังนี้

๑.ภาษาเกิดจากการเลียนเสียง

เสียงที่มนุษย์ได้ยินได้ฟังแล้วนำมาเป็นถ้อยคำในภาษาเกิดจากการเรียนเสียง ซึ่งอาจจะเลียนเสียงบางส่วน ทั้งหมด หรืออาจผิดเพี้ยนไปจากเสียงจริงได้ จึงไม่สามารถบอกได้ว่า เสียงใดชัดเสียงใดไม่ชัด สำหรับผู้ที่มีเชื้อชาติแตกต่างกัน จะฟังเสียงหนึ่งเป็นอีกเสียงหนึ่งแตกต่างกันเช่น  คนไทยจะได้ยินเสียงหมูร้องเป็นเสียง “อู๊ด อู๊ด” คนกัมพูชาได้ยินเป็นเสียง “อู๊ก อู๊ก” ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามการรับรู้ การเลียนเสียงในภาษาไทยสามารถแบ่งได้ตามต้นกำเนิดของเสียง ดังนี้

-การเลียนเสียงร้องของสัตว์ เช่น เมื่อนกสีดำส่งเสียงร้อง เราจะได้ยินเสียงว่า กา ๆ เราจึงเรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า กา เมื่อสัตว์สี่เท้าร้องเหมียว ๆ หรือแมว ๆ เราจึงเรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า แมว นอกจากนี้ยังมีการเลียนเสียงสัตว์ชนิดอื่น ๆ อีก เช่น อึ่งอ่าง จิ้งจก ตุ๊กแก เป็นต้น

-การเลียนเสียงวัตถุ เครื่องมือ และเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เมื่อได้ยินเสียงเครื่องดนตรีดัง ฉิ่ง...ฉับ เราจึงเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า ฉิ่ง หรือ ฉาบ นอกจากนี้ยังมีการเลียนเสียงวัตถุ เครื่องมือและเครื่องใช้อื่น ๆ เช่น กรับ ปี่ โทน ฆ้อง กลอง ป๋องแป๋ง เป็นต้น

-การเลียนเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงฟ้าร้อง เสียงฝน เสียงลม เสียงน้ำ เช่น เสียงดังซู่ ซ่า ครืน เปรี้ยง อู้ อื้อ เปาะแปะ เป็นต้น เมื่อได้ยินเสียงเหล่านี้ก็เปล่งเสียงตาม ในเวลาต่อมาก็เรียกชื่อนั้น ๆ ตามอาการที่เกิดเสียง

-การเลียนเสียงเด็ก เด็กในระยะแรกเกิดจะส่งเสียงร้อง แว้ ว้าก อ้อแอ้ อือ อา เออ เมื่อถึงระยะเวลาที่เริ่มเรียนรู้การพูดเป็นคำ เด็กจะออกเสียงเป็นคำ เช่น แม่ หรือ พ่อ เมื่อศึกษาภาษาอื่น ๆ พบว่ามีการออกเสียงคล้ายกัน คำว่า แม่ ในภาษาจีนกลางออกเสียงว่า มาม้า และในภาษาอังกฤษออกเสียงว่า mom ส่วนคำว่า พ่อ ในภาษาจีนกลางออกเสียงว่า ปาป้า ซึ่งเป็นพยัญชนะในวรรคปะ (ป ผ พ ภ ม ) ที่ใช้ริมฝีปากในการออกเสียง ซึ่งถือว่าเป็นเสียงที่ออกง่ายที่สุด สัมพันธ์กับการเรียนรู้การใช้อวัยวะต่าง ๆ ของเด็ก

-การเลียนเสียงอุทาน เป็นเสียงที่เปล่งออกมาโดยไม่รู้ตัว เปล่งเสียงออกมาด้วยอารมณ์และความรู้สึก จนกลายเป็นคำพูดหรือภาษา เช่น เปล่งสียง โอ๊ย เมื่อรู้สึกเจ็บ เปล่งเสียง ว้าย เมื่อรู้สึกตกใจ นอกจากนั้นยังมีการเลียนเสียงอุทานอื่น ๆ อีก เช่น อุ๊ย เอ๊ะ อ๋อ เฮ้อ โอ้โฮ โว้ย โธ่ เป็นต้น

-การเลียนเสียงในขณะทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อรวบรวมพลังหรือส่งสัญญาณเสียงให้ทำกิจกรรมนั้น ไปพร้อม ๆ กัน เช่น ฮุยเลฮุย เอ้าเฮ เย้ว ฮื่อฮึด เป็นต้น

เมื่อมนุษย์ได้ยินเสียงต่าง ๆ ได้แก่ เสียงร้องของสัตว์ เสียงวัตถุ เครื่องมือ เครื่องใช้ เสียงธรรมชาติ เสียงเด็ก เสียงอุทาน และเสียงในขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็จะเปล่งเสียงตาม ต่อมาเมื่อมีการใช้คำเลียนเสียงต่าง ๆ นั้น จนเป็นที่เข้าใจร่วมกันว่าหมายถึงสิ่งใด ในเวลาต่อมาคำที่มาจากเสียงนั้นก็จะกลายเป็นภาษาในที่สุด

๒.ภาษาเกิดจากการกำหนดของมนุษย์

นอกจากภาษาจะเกิดจากการเลียนเสียงสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงของคน สัตว์ สิ่งของหรือเสียงที่เกิดตามธรรมชาติแล้ว ภาษายังเกิดจากการกำหนดของมนุษย์อีกด้วย เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันในนสังคม ก็มีความต้องการสื่อสารกัน ต้องการเรียกสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในสังคมนั้น ๆ ต้องการสื่อสารให้เข้าใจตรงกันว่าหมายถึงสิ่งใด มนุษย์จึงต้องกำหนดคำ หรือสมมุติคำขึ้นมาเพื่อใช้เรียกสิ่งนั้น ๆ คำใดที่เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายก็จะเป็นคำที่อยู่ในภาษานั้น ๆ แต่ถ้าคำใดไม่นิยมใช้ ก็จะหายไปและจะมีการกำหนดคำใหม่มาใช้แทนจนกว่าจะเป็นที่นิยมและยอมรับ คำที่เกิดจากการกำหนดของมนุษย์สามารถแบ่งได้ดังนี้

-คำที่แสดงกิริยาอาการเกิดขึ้นจากการสังเกตพฤติกรรม เช่น นั่ง นอน เป็นต้น

-คำที่แสดงรูปลักษณะ เช่น กว้าง ใหญ่ แคบ เล็ก ผอม สูง รี กลม เป็นต้น

-คำที่แสดงสี เช่น ดำ แดง เขียว เหลือง เป็นต้น

-คำที่แสดงอารมณ์ความรู้สึก เช่น หนาว ร้อน เย็น รัก โกณธ คิด เป็นต้น

 

 

อย่างไรก็ตามการกำหนดหรือสมมุติคำขึ้นมาของมนุษย์ที่ต่างชนชาติกัน หรือชนชาติเดียวกัน แต่ต่างถิ่นกันก็จะมีการกำหนดหรือสมมุติคำที่แตกต่างกันออกไป ทำให้เกิดคำศัพท์ที่มีความหมายซ้ำกัน เช่น การใช้ภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ดังคำว่า อร่อย ภาษาถิ่นเหนือพูดว่า ลำ ภาษาถิ่นอีสานพูดว่า แซ่บ ภาษาถิ่นใต้พูดว่า หรอย เป็นต้น

พอทราบกันแล้วใช่ไหมครับว่าที่มาของภาษานั้นมีสาเหตุการเกิดมาอย่างไร แต่ละชนชาติก็จะมีภาษาที่แตกต่างกันออกไปแต่หลัก ๆ ก็มาจากสาเหตุเดียวกัน ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ แล้วเจอกันในบทความดี ๆ ครั้งหน้าครับ


ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับคำในภาษาไทย

พจนานุกรมไทยแปลไทย หาความหมายของคำภาษาไทย พร้อมคำอ่านพจนานุกรมภาษาไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลคำศัพท์ ค้นหาความหมายของคำศัพท์ออนไลน์ ใช้งานง่าย มีหมวดหมู่

 หมวดหมู่ ภาษาไทย
 แท็ก ภาษา
ชอบเนื้อหาชุดนี้ กดให้คะแนน 5 ดาวกับเราได้เลยจ้า
 แสดงความคิดเห็น