รวบรวม 20 สำนวนไทย รู้เอาไว้ ทันสมัยตลอดกาล
จะกี่ยุคกี่สมัย ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มสาว หรือผู้หลักผู้ใหญ่ก็นิยมใช้สำนวนไทยอยู่เรื่อย ๆ แบบว่าเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนก็คงไม่ผิดนัก แม้จะพูดจาหรือสั่งสอนใคร ก็มักจะอ้างเอาสำนวน สุภาษิต หรือคำพังเพยที่พูดต่อ ๆ กันมาตั้งแต่ครั้งโบราณมาเปรียบเทียบเปรียบเปรยเสมอ ซึ่งคำเหล่านี้มักจะเป็นคำที่คล้องจองกัน ทำให้จดจำได้ง่ายและเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
สำนวนไทย คืออะไร?
สำนวน หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงได้ตายตัว สลับที่หรือตัดตอนไม่ได้ มีความหมายเชิงเปรียบเทียบลึกซึ้งโดยครอบคลุมไปถึง ภาษิต สุภาษิต และคำพังเพย
โดยสามารถแยกสำนวนได้เป็น 2 แบบดังนี้
สำนวนที่มีเสียงสัมผัส
- เรียง 4 คำ เช่น น้ำใสใจจริง
- เรียง 6 คำ เช่น ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด บ้านเคยอยู่อู่เคยนอน
- เรียง 8 คำ เช่น รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้
- เรียง 10 คำ เช่น คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ
- เรียง 12 คำ เช่น ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน มีเงินเขานับว่าน้อง มีทองเขานับว่าพี่
สำนวนที่ไม่มีเสียงสัมผัส
- เรียง 2 คำ เช่น ชิมลาง ขบเผาะ
- เรียง 3 คำ เช่น ถ่านไฟเก่า คมในฝัก
- เรียง 5 คำ เช่น น้ำขึ้นให้รีบตัก ขนหน้าแข้งไม่ร่วง
- เรียง 6 คำ เช่น ถ่มน้ำลายแล้วกลืนกิน ยกภูเขาออกจากอก
ที่มาของสำนวน
- สำนวนที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ ข้าวเหลือเกลืออิ่ม ทรัพย์ในดินสินในน้ำ บ้านเคยอยู่อู่เคยนอน
- สำนวนเกี่ยวกับพืช ขิงก็ราข่าก็แรง มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก ใบไม้ร่วงจะออกช่อ
- สำนวนเกี่ยวกับสัตว์ โง่เง่าเต่าตุ่น ตีปลาหน้าไซ นกมีหูหนูมีปีก
- สำนวนเกี่ยวกับนิทาน กิ้งก่าได้ทอง กระต่ายตื่นตูม เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ชาวนากับงูเห่า
สำนวนไทยที่นิยมใช้ในชีวิตประจำวัน
วัดจากการเข้าชมและค้นหาใน Wordy Guru หมวดแอปสำนวนไทย มีดังนี้
- กบเลือกนาย หมายถึง ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาอยู่เรื่อย ๆ
- กบในกะลาครอบ หมายถึง ผู้มีความรู้และประสบการณ์น้อยแต่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก
- จมูกมด หมายถึง รู้ทันเหตุการณ์ผู้หญิงคนนั้นเป็นคนจมูกมด มักจะรู้เรื่องราวทุกอย่างในหมู่บ้านตลอดเวลา รู้อะไรไปหมด รู้ก่อนคนอื่นตลอด
- ฆ้องดีถ้าไม่ตีก็ไม่ดัง หมายถึง ผู้ที่มีคุณความดีในตัวนั้นถ้าไม่มีใครยกย่องชมเชยก็จะไม่มีใครเห็นความดีนั้น
- ชาติเสือจับเนื้อกินเอง หมายถึง คนที่เชื่อมั่นและถือศักดิ์ศรีของตน แม้จะลำบากยากแค้นก็ไม่ยอมรบกวนและเบียดเบียนใคร หรือการทำมาหากินด้วยความอุตสาหะไม่เบียดเบียนผู้อื่น
- สวมเขา หมายถึง ทำความอัปยศให้แก่สามีด้วยการมีชู้โดยที่สามีไม่รู้ระแคะระคาย
- แก้วลืมคอน หมายถึง คนที่รักกันแล้วแต่ยังไปหลงรักคนอื่น
- กินแกงร้อน หมายถึง ทำอะไรจวนตัว มาถึงตัวแล้วเพิ่งจะเริ่มทำ จนทำให้ลนลาน
- กระต่ายสามขา หมายถึง ยืนกรานไม่ยอมรับ
- เงยหน้าอ้าปาก หมายถึง การมีฐานะที่ดีขึ้นกว่าเดิม ดูแลตัวเองได้ไม่เดือดร้อน มีฐานะที่พอทัดเทียมกับเพื่อนได้
- กระเชอก้นรั่ว หมายถึง สุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบ ขาดการประหยัด
- กลับหน้ามือเป็นหลังมือ หมายถึง เปลี่ยนแปลงหรือทำให้ผิดไปจากเดิมอย่างตรงกันข้าม
- ตดไม่ทันหายเหม็น หมายถึง เร็วมาก
- กระโถนท้องพระโรง หมายถึง กระโถนใหญ่ที่ตั้งไว้ที่ท้องพระโรงในศาลาลูกขุนใน สำหรับที่ใคร ๆ บ้วนน้ำหมากหรือทิ้งชานหมากได้
- งูถูกตีขนดหาง หมายถึง ถูกทำในจุดสำคัญทำให้รู้สึกเจ็บปวด และแค้นเคืองมาก
- หัวไม่วาง หางไม่เว้น หมายถึง ถูกเรียกใช้ โดนใช้งานอย่างหนักอยู่ตลอด ไม่ได้ว่างเว้น
- กินเศษกินเลย หมายถึง กินกําไร ยักเอาเพียงบางส่วนที่มีจํานวนเล็กน้อยไว้ ยักเอาส่วนที่เหลือไว้เป็นของตนเอาเพียงบางส่วนไว้เป็นของตน
- กินข้าวต้มกระโจมกลาง หมายถึง ทำอะไรด้วยความใจร้อนไม่พิจารณาให้รอบคอบ มักเป็นผลเสียแก่ตน
- กระสือตอมห่า หมายถึง ใช้เรียกคนหรือกลุ่มคนที่รุมมาหาผลประโยชน์อะไรซักอย่าง
- กระชังหน้าใหญ่ หมายถึง จัดจ้าน, ออกหน้ารับเสียเอง เช่น แม่กระชังหน้าใหญ่
ทั้งหมดคือความรู้เกี่ยวกับสำนวนไทยที่นำมาให้เพื่อน ๆ ได้ศึกษาเรียนรู้กัน หวังว่าจะมีความรู้ความเข้าใจในสำนวน สุภาษิตไทย มากยิ่งขึ้นนะครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม
ข้อมูลน่าสนใจ
สำนวนไทย คืออะไร?
สำนวนไทย หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงได้ตายตัว สลับที่หรือตัดตอนไม่ได้ มีความหมายเชิงเปรียบเทียบลึกซึ้งโดยครอบคลุมไปถึง ภาษิต สุภาษิต และคำพังเพย