คำในภาษาไทยที่อ่านได้สองแบบ
ในภาษาไทยจะมีคำพ้องต่าง ๆ ตามที่เราเคยเรียนกันมา ไม่ว่าจะเป็นคำพ้องรูป คือคำที่เขียนเหมือนกันแต่จะอ่านออกเสียงและมีความหมายต่างกัน คำพ้องเสียง คือคำที่อ่านออกเสียงเหมือนกันแต่เขียนและมีความหมายต่างกัน และคำพ้องทั้งรูปและเสียง คือคำที่เขียนและอ่านออกเสียงเหมือนกันแต่จะมีความหมายต่างกัน ซึ่งคำศัพท์ที่นำมาฝากกันวันนี้เป็นคำที่เขียนเหมือนกันแต่ไม่นับว่าเป็นคำพ้องรูป เนื่องจากมีความหมายเดียวกันหรือเป็นคำเดียวกันเพียงแต่อ่านได้สองแบบตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้กำหนดไว้ ดังนั้นจึงต้องทบทวนกันในเรื่องคำพ้องก่อนจะไปดูคำศัพท์เพื่อที่ว่าจะได้ไม่เกิดความสับสน และคำศัพท์ที่ว่าอ่านได้สองแบบแต่หมายถึงคำ ๆ เดียวกันนั้นจะมีคำใดบ้างไปดูกันเลย
รวมคำในภาษาไทยที่อ่านได้สองแบบ
- กรกฎาคม
อ่านได้ว่า กะระกะดาคม หรือ กะรักกะดาคม - เกีรยติประวัติ
อ่านได้ว่า เกียดติปฺระหฺวัด หรือ เกียดปฺระหฺวัด - คำที่ขึ้นต้นด้วย กรณี- ทุกคำ
อ่านได้ว่า กะระนี หรือ กอระนี
เช่น กรณียะ อ่านได้ว่า กะระนียะ หรือ กอระนียะ เป็นต้น - กลวิธี, กลอักษร
อ่านได้ว่า กน- หรือ กนละ- - กุศโลบาย
อ่านได้ว่า กุสะโลบาย หรือ กุดสะโลบาย - คุณประโยชน์, คุณสมบัติ
อ่านได้ว่า คุนนะ- หรือ คุน- - คมนาคม
อ่านได้ว่า คะมะนาคม หรือ คมมะนาคม - จิตบำบัด
อ่านได้ว่า จิดตะบำบัด หรือ จิดบำบัด - ชลประทาน
อ่านได้ว่า ชนละประทาน หรือ ชนประทาน - ชาติรส
อ่านได้ว่า ชาติรด หรือ ชาดติรด - ดุลยพินิจ, ดุลยภาพ
อ่านได้ว่า ดุนละยะ- หรือ ดุนยะ- - ถาวรวัตถุ
อ่านได้ว่า ถาวอระวัดถุ หรือ ถาวอนวัดถุ - เทศนา
อ่านได้ว่า เทสะนา หรือ เทดสะหนา - โบราณคดี, โบราณวัตถุ, โบราณสถาน
อ่านได้ว่า โบรานนะ- หรือ โบราน- - ปฐมนิเทศ, ปฐมบุรุษ, ปฐมสมโพธิ, ปฐมเทศนา
อ่านได้ว่า ปะถมมะ- หรือ ปะถม-
- ปรนัย, ปรหิตะ, ปรโลก
อ่านได้ว่า ปะระ หรือ ปอระ - ปรมัตถ์, ปรมาจารย์, ปรมาณู, ปรมาภิเษก, ปรมาภิไธย, ปรมินทร์, ปรเมนทร์, ปรเมศวร์, ปรเมษฐ์
อ่านได้ว่า ปะระ หรือ ปอระ
เช่น ปรมาจารย์ อ่านได้ว่า ปะระมาจาน หรือ ปอระมาจาน
ปรมาณู อ่านได้ว่า ปะระมานู หรือ ปอระมานู เป็นต้น - ปรัชญา
อ่านได้ว่า ปฺรัดยา หรือ ปฺรัดชะยา - ปรากฏการณ์
อ่านได้ว่า ปฺรากดกาน หรือ ปฺรากดตะกาน - คำที่ขึ้นต้นด้วย ประวัติ- ทุกคำ
อ่านได้ว่า ปฺระหฺวัดติ- หรือ ปฺระหวัด-
เช่น ประวัติศาสตร์ อ่านได้ว่า ปฺระหฺวัดติสาด หรือ ปฺระหวัดสาด
ประวัติการ อ่านได้ว่า ปฺระหฺวัดติกาน หรือ ปฺระหวัดกาน เป็นต้น - ภูมิธร, ภูมินทร์, ภูมินาถ, ภูมิบดี, ภูมิภาค, ภูมิอากาศ
อ่านได้ว่า พูมิ- หรือ พูมมิ-
เช่น ภูมิอากาศ อ่านได้ว่า พูมิอากาด หรือ พูมมิอากาด เป็นต้น - ภูมิลำเนา
อ่านได้ว่า พูมลำเนา หรือ พูมิลำเนา - ภรรยา
อ่านได้ว่า พันยา หรือ พันระยา - คำที่ขึ้นต้นด้วย ศาสน- ทุกคำ
อ่านได้ว่า สาสะนะ หรือ สาดสะนะ
เช่น ศาสนกิจ อ่านได้ว่า สาสะนะกิด หรือ สาดสะนะกิด
ศาสนิกชน อ่านได้ว่า สาสะนิกกะชน หรือ สาดสะนิกกะชน เป็นต้น - สัปดาห์
อ่านได้ว่า สับดา หรือ สับปะดา - สมรรถภาพ
อ่านได้ว่า สะมัดถะพาบ หรือ สะหฺมัดถะพาบ - สมานฉันท์
อ่านได้ว่า สะมานะฉัน หรือ สะหฺมานนะฉัน - สรรพสามิต
อ่านได้ว่า สับพะสามิด หรือ สันพะสามิด - อุปโลกน์, อุปรากร, อุปกรณ์, อุปการ-, อุปกาศ, อุปกิณณะ, อุปถัมภ์, อุปถัมภก, อุปทม, อุปทูต, อุปเทศ, อุปเท่ห์, อุปนัย, อุปนิษัท, อุปนิสัย, อุปบัติ, อุปปาติกะ, อุปพัทธ์, อุปพันธ์, อุปโภค, อุปมา-, อุปไมย, อุปยุวราช, อุปโยค, อุปราคา, อุปราช, อุปริ-, อุปริม-, อุปสรรค
อ่านได้ว่า อุปะ- หรือ อุบปะ-
เช่น อุปโลกน์ อ่านได้ว่า อุปะโหฺลก หรือ อุบปะโหฺลก
อุปกรณ์ อ่านได้ว่า อุปะกอน หรือ อุบปะกอน เป็นต้น - อาชญา
อ่านได้ว่า อาดยา หรือ อาดชะยา
สาเหตุของคำเหล่านี้ที่อ่านได้หลายแบบอาจเกิดจากการทับศัพท์ในภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาบาลี และสันสกฤต เป็นต้น หรืออาจจะเป็นเพราะการออกเสียงคำ ๆ นั้นผิดของคนไทยที่สืบต่อกันมายาวนานจนคำนั้นได้รับความนิยมและใช้กันอย่างแพร่หลาย รวมไปถึงการออกเสียงที่ต่างกันของคนแต่ละถิ่นในประเทศไทยอีกด้วย ราชบัณฑิตยสถานจึงได้กำหนดให้อ่านได้อย่างถูกต้องทั้งสองแบบ ในอนาคตอันใกล้อาจมีการกำหนดคำให้อ่านได้หลายแบบเพิ่มมากขึ้นตามความเหมาะสมของยุคสมัย ผู้อ่านทุกท่านก็ต้องอัปเดตอยู่เสมอ หรือสามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ของเราที่จะนำความรู้ดี ๆ มาฝากกันเช่นนี้เป็นประจำ และหวังว่าคำที่นำมาฝากในวันนี้จะช่วยไขข้อข้องใจหลาย ๆ คนเวลาต้องออกเสียงคำที่คุ้นว่าอ่านได้สองแบบแล้วสับสนแบบไหนถึงถูกต้อง ต่อไปจะได้มั่นใจว่าตนใช้ถูกและแนะนำผู้อื่นได้หากเกิดการโต้เถียงในเรื่องนี้