คำเป็น คำตาย คืออะไร
เรื่องที่จะนำมาเสนอแก่ท่านผู้อ่านวันนี้คือเรื่องของคำเป็นและคำตาย เรามาดูการใช้กันว่าใช้อย่างไร มีความหมายแบบใด ทำไมถึงต้องรู้ คำเป็นและคำตายยังมีประโยชน์ต่อการผันเสียงวรรณยุกต์ ดังนี้
คำเป็น คำตาย เป็นการจำแนกคำตามลักษณะที่ใช้ระยะเวลาออกเสียงต่างกัน ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะทำให้คำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเป็นรูปเดียวกันมีเสียงวรรณยุกต์ต่างกัน ตัวอย่างเช่น
- คา เป็นอักษรต่ำคำเป็น พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ
- คะ เป็นอักษรต่ำคำตาย เสียงสั้น พื้นเสียงเป็นเสียงตรี
คำเป็น
- คำเป็น มีการให้ความหมายของคำเป็นไว้ ดังนี้
- ราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๕๖ : ๒๕๙) ให้ความหมายของ คำเป็น ไว้ว่า คำสระยาวที่ไม่มีตัวสะกดและคำในมาตรา กง กน กม เกย เกอว
- อุปกิตศิลปสาร, พระยา (๒๕๔๘ : ๑๔) ได้กล่าวถึงคำเป็นไว้ว่า คำเป็น หมายถึง เสียงที่ประสมทีฆสระ (สระเสียงยาว) ในแม่ ก กา เช่า กา กี กือ กู กับ เสียงแม่ กง กน กม เกย เกอว เช่น ส่ง ถ่าน ล้ม ตาย เร็ว
- วิเชียร เกษประทุม (๒๕๕๗ : ๑๐) ให้ความหมาย คำเป็น หมายถึง คำที่ประสมด้วยสระเสียงยาวไม่มีตัวสะกด เช่า มา ขี่ ถือ เสือ กับคำที่ประสมด้วยสระ อำ ไอ ใอ เอา เพราะมีเสียงตัวสะกดในแม่กม เกอว เช่น ทำ ไป ให้ เขา และคำที่สะกดด้วยแม่ กง กน กม เกย เกอว เช่น ส่ง ผ่าน ก้ม ยาย เร็ว
- ประยูร ทรงศิลป์ (๒๕๕๑ : ๕๔) อธิบายคำว่า คำเป็น หรือ พยางค์เป็น ไว้ดังนี้
๑.ประสมสระเสียงยาวในแม่ ก กา หรือ ประสมกับสระเสีงยาวที่ไม่มีตัวสะกด เช่น คือ แก เปล ตอ เสือ ครู หนา
๒.ประสมกับสระทั้งเสียงสั้นและเสียงยาวที่มีตัวสะกดในแม่ กง กน กม เกย เกอว เช่น ตรง พลาง สิน ศาล กรม เปรย แมว
๓.ประสมกับสระ อำ ไอ ใอ เอา เช่น นำ ใน ไกล เขา
คำตาย
- คำตาย มีการให้ความหมายของคำตายไว้ ดังนี้
- ราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๕๖ : ๒๕๙) ให้ความหมายของ คำตาย ไว้ว่า คำสระสั้นที่ไม่มีตัวสะกดพวกหนึ่ง และคำในมาตรา กก กด กบ
- อุปกิตศิลปสาร, พระยา (๒๕๔๘ : ๑๔) ได้กล่าวถึง คำตาย ไว้ว่า หมายถึง เสียงที่ประสมรัสสระ (สระเสียงสั้น) ในแม่ ก กา เช่น กะ กิ กุ กับเสียงในแม่ กก กด กบ
- วิเชียร เกษประทุม (๒๕๕๗ : ๑๐) ให้ความหมายของ คำตาย หมายถึง คำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นไม่มีตัวสะกด เช่น จะ ติ ผุ และคำที่สะกดด้วยแม่ กก กด กบ เช่น ปัก คิด สาป
- ประยูร ทรงศิลป์ (๒๕๕๑ : ๕๕) อธิบายคำว่า คำตาย หรือ พยางค์ตาย ไว้ดังนี้
๑.ประสมกับสระเสียงสั้นในแม่ ก กา หรือ ประสมกับสระเสียงสั้นที่ไม่มีตัวสะกด เช่น พลุ ปะ ติ เจอะ เคราะห์ ผัวะ เปี๊ยะ
๒.ประสมกับสระทั้งเสียงสั้นและเสียงยาวที่มีตัวสะกดในแม่ กก กด กบ เช่น ผลัก ปาก กรุด โกรธ กบ กลีบ
เมื่อมีความรู้เกี่ยวกับคำเป็นคำตายแล้ว จำเป็นที่จะต้องศึกษาเรื่องอักษรสามหมู่ จึงจะสามารถผันเสียงวรรณยุกต์ และประสมอักษรเป็นพยางค์และคำได้
ไว้ครั้งหน้าเราจะมาพูดถึงเรื่องอักษรสามหมู่กัน สำหรับเรื่องนี้ก็หวังว่าคงไม่ยากเกินความเข้าใจของทุกคน แล้วเจอกันในครั้งหน้า