คำสรรพนาม
ในชีวิตประจำวันเราพูดคุยกันเป็นเรื่องธรรมดาแต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าคำที่ใช้แทนตัวผู้พูดและตัวคู่สนทนานั้นเรียกว่าอะไรด้วยซ้ำ
เอ.. หรือนั่นคือคำสรรพนาม วันนี้เราจะมาพูดถึงคำเหล่านี้นั้นก็คือ คำสรรพนาม
ความหมายของคำสรรพนาม
คำสรรพนาม หมายถึง คำที่ใช้แทนคำนามชนิดต่าง ๆ เพื่อไม่ต้องกล่าวคำนามซ้ำอีกครั้ง ชนิดของคำสรรพนาม หลักภาษาไทยได้แบ่งคำสรรพนามออกเป็น ๖ ชนิด ดังนี้
๑. บุรุษสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนคำนามในการพูดจากัน แบ่งเป็น ๓ ชนิด ดังนี้
๑.๑ สรรพนามบุรุษที่ ๑ ใช้แทนผู้พูด เช่น ผม ฉัน ข้าพเจ้า
๑.๒ สรรพนามบุรุษที่ ๒ ใช้แทนผู้ฟัง เช่น ท่าน เธอ คุณ
๑.๓ สรรพนามบุรุษที่ ๓ ใช้แทนผู้กล่าวถึง เช่น เขา มัน ท่าน
๒. นิยมสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนคำนามเพื่อบอกกำหนดให้ชัดเจนว่าอยู่ใกล้หรือไกล ได้แก่คำว่า นี่ นั่น โน่น นี้ เช่น
- นี่คือบ้านของฉัน
- นั่นเป็นโรงเรียน
- โน่นเป็นตลาด
- นี้ของเธอ
๓. อนิยมสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนคำนามบอกความไม่แน่นอน ไม่เฉพาะเจาะจง ได้แก่คำว่า ใคร อะไร ที่ไหน สิ่งใด เช่น
- ใคร ๆ ก็เคยทำผิดทั้งนั้น
- อะไรก็ไม่สำคัญเท่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
- ผู้ใดฝ่าฝืนกฎจะถูกลงโทษอย่างหนัก
๔. ปฤจฉาสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนคำนาม และใช้เป็นคำถาม ได้แก่คำว่า ใคร อะไร ที่ไหน สิ่งใด ผู้ใด เช่น
- อะไรอยู่ในขวด
- ใครเป็นผู้แต่งเรื่องนายทองอิน
- เมื่อไรเธอจะกลับมา
๕. วิภาคสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนคำนามเพื่อแยกนามนั้นออกเป็นส่วน ๆ ได้แก่คำว่า ต่าง บ้าง กัน บรรดา เช่น
- นักเรียนต่างคนต่างเดินทางกลับบ้าน
- นักเรียนมีหลายคน
- นักเรียนแต่ละคนเดินทางกลับบ้าน โดย ต่าง แทน นักเรียน
- พี่กับน้องไปโรงเรียนด้วยกัน คำว่า กัน ในที่ได้นี้แสดงจำนวนหลายคนที่ร่วมกระทำ
๖. ประพันธสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่อยู่ข้างหน้า โดยทำหน้าที่เชื่อมประโยคให้เป็นประโยคเดียวกัน ได้แก่คำว่า ที่ ซึ่ง อัน ผู้ เช่น
- รถยนต์ที่ผลิตจากประเทศญี่ปุ่นประหยัดน้ำมันมาก (ที่ เป็นคำสรรพนามที่แทนคำนาม รถยนต์)
- เขาเป็นคนดีอันเกิดจากการอบรมของพ่อแม่ (อัน เป็นคำสรรพนามที่แทนคำนาม คนดี)
ข้อสังเกตควรจำ
๑. คำว่า หล่อน เธอ ท่าน สามารถเป็นได้ทั้งสรรพนามบุรุษที่ ๒ และ ๓ โดยพิจารณาจากเนื้อความของประโยค
๒. คำที่เป็นนิยมสรรพนาม ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยคหรือเขียนหลังคำกริยา แต่ถ้าเขียนอยู่หลังคำนามหรือคำสรรพนามอื่น ไม่ใช่นิยมสรรพนาม แต่เป็นนิยมวิเศษณ์ เช่น คนนี้ต้องการความช่วยเหลือ = นี้ เขียนหลังคำนาม คน จะทำหน้าที่เป็นคำขยายไม่ใช่ ประธานของประโยค จึงเป็นนิยมวิเศษณ์
หน้าที่ของคำสรรพนาม
๑. คำสรรพนามทำหน้าที่เป็นประธาน เช่น เขาชอบวิ่งออกกำลังกายตอนเช้า
๒. คำสรรพนามทำหน้าที่เป็นกรรม เช่น เขาเห็นเธอนั่งอยู่คนเดียว
๓. ทำหน้าที่เป็นส่วนเติมเต็ม (คำสรรพนามจะอยู่หลังคำกริยาเหล่านี้ เป็น เหมือน คล้าย เท่า คือ ) เช่น ดาราคนนั้นหน้าเหมือนคุณมาก
๔. ทำหน้าที่ใช้เป็นคำเรียกขาน เช่น ท่านคะมีแขกมาขอพบค่ะ เห็นแล้วใช่ไหมครับว่าคำสรรพนามนั้นก็มีหลักการใช้ของมัน เราจึงควรใช้ให้ถูกต้องตามหลักของภาษา