คำราชาศัพท์คืออะไร มีที่มาจากไหน ใช้อย่างไร
การศึกษาเรื่องคำราชาศัพท์ จำเป็นต้องรู้ความหมายของคำราชาศัพท์เสียก่อน จึงจะทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจในเนื้อหาและจุดประสงค์ของคำราชาศัพท์ได้ถ่องแท้ แม้คนทั่วไปจะไม่ได้ใช้คำราชาศัพท์บ่อยนักแต่ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวเราที่ต้องพบเจอคำราชาศัพท์อยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นในวรรณกรรม นวนิยาย สื่อ หรือข้อสอบ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันก็ยังมีการใช้คำราชาศัพท์ในหลาย ๆ โอกาส
วันนี้เราจึงนำเรื่องราวของคำราชาศัพท์มาให้คุณผู้อ่านได้ลองศึกษา อันจะทำให้ทราบเนื้อหาและรู้ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้น ตามประเด็นต่อไปนี้
ความหมายของคำราชศัพท์
ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของคำราชาศัพท์ หมายถึง คำที่ใช้กราบบังคมทูล ต่อมาหมายรวมถึงคำที่ใช้กับพระภิกษุสงฆ์ ข้าราชการ และสุภาพชนด้วย
อุปกิตศิลปสาร, พระยา (2546 : 157) ได้อธิบายคำว่า ราชาศัพท์ หมายถึง ศัพท์สำหรับพระราชา หรือศัพท์หลวง แต่ในที่นี้หมายความว่าศัพท์ที่ใช้ในราชการ เพราะในตำราไม่ได้กล่าวเฉพาะกษัตริย์หรือเจ้านายเท่านั้น กล่าวทั่วไปถึงคำที่ใช้สำหรับบุคคลอื่นด้วย เช่น ขุนนาง พระสงฆ์
สนิท บุญฤทธิ์ (2544 : 11) ให้ความหมายของคำราชาศัพท์ หมายถึง รูปแบบของถ้อยคำที่ใช้กับพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา รวมถึงเทพเจ้า พระเป็นเจ้าในศาสนาอื่นและคำสุภาพที่ใช้กับบุคคลอันควรเคารพและให้เกียรติซึ่งก็คือข้าราชการและสุภาพชนด้วย
อาจสรุปโดยรวมความหมายของคำราชาศัพท์ได้ว่า คำที่ใช้สำหรับพระราชา ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์หรือพระราชวงศ์ พระภิกษุสงฆ์ ขุนนางข้าราชการรวมถึงสุภาพชนทั่วไป
ที่มาของคำราชศัพท์
ประวัติความเป็นมาของการใช้คำราชาศัพท์ยังไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ริเริ่ม และเริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อใด โดยมีการสันนิษฐานตามนักวิชาการไว้ดังนี้
เชื่อว่าแต่เดิมมาชาวไทยนั้นมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยโบราณกาล บรรพบุรุษไทยจึงไม่อยากใช้คำพูดสามัญกับพระมหากษัตริย์เหมือนกับที่ใช้กับคนทั่วไป จึงมีการคิดคำสุภาพขึ้นมาใช้สำหรับกราบบังคมทูล ซึ่งก่อนสมัยสุโขทัยยังไม่มีการใช้คำราชาศัพท์อย่างเป็นแบบแผน เริ่มมีการใช้มากขึ้นในสมัยพระธรรมราชาที่ 1 หรือพญาลิไท แต่ในสมัยนั้นก็ยังมีคำศัพท์ไม่มากนัก เช่น คำว่า กุมาร เสด็จ บังคม ปราสาท พระองค์ พระราชทาน พระราชโองการ พระเจ้าแผ่นดิน เป็นต้น ต่อมาในช่วงปลายของกรุงสุโขทัยมีการติดต่อรับภาษาต่างประเทศและมีนักปราชญ์หาถ้อยคำที่ไพเราะมาเพ็ดทูลพระเจ้าแผ่นดิน ทำให้มีคำราชาศัพท์มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังถือว่าไม่ได้ใช้แพร่หลาย ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยามีความใกล้ชิดกับอาณาจักรขอม จึงรับวัฒนธรรมขอมมาใช้ รวมถึงการนับถือพระเจ้าแผ่นดินเป็นสมมติเทพ ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทองทรงโปรดภาษาเขมรเป็นอย่างมาก มีการนำภาษาเขมร บาลี และสันสกฤตมาใช้ ตลอดจนพระราชบัญญัติพระราชกฤษฎีกา และพระราชกำหนดที่โปรดให้ตราขึ้นในรัชสมัยของพระองค์จึงมีคำราชาศัพท์เพิ่มมากขึ้น ต่อมาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีการรวบรวมคำราชาศัพท์ไว้เป็นครั้งแรกไว้ในกฎมณเฑียรบาลหรือกฎหมายตราสามดวง และมีการพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
การใช้คำราชาศัพท์
คำราชาศัพท์ หรือคำสุภาพสามารถใช้ได้กับบุคคลต่อไปนี้ตามบริบทความเหมาะสมของโอกาส
- พระมหากษัตริย์
- พระราชวงศ์, พระบรมวงศ์และพระอนุวงศ์
- พระสงฆ์
- ข้าราชการชั้นสูงหรือขุนนาง
- สุภาพชน
การเรียนรู้คำราชาศัพท์ หรือแม้แต่คำศัพท์อื่น ๆ เช่น คำศัพท์ภาษาต่างประเทศ ต้องอาศัยเทคนิคการจำและใช้คำเหล่านั้นบ่อย ๆ จะได้ใช้ให้คล่อง หากพบเจอก็จะสามารถทราบความหมาย ใช้ได้ถูกต้อง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเนื้อหาคำราชาศัพท์ที่นำมาในวันนี้จะช่วยให้คุณผู้อ่านเข้าใจและทราบความหมายของคำราชาศัพท์อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านในอนาคตไม่มากก็น้อย แล้วพบกันในบทความหน้า สวัสดีครับ