คนโง่ได้ยศก็ไม่เกิดประโยชน์
อรรถกถา ทุมเมธชาดก
ว่าด้วย คนโง่ได้ยศก็ไม่เกิดประโยชน์
มีวาระพระบาลีใน ทุมเมธชาดก ความว่ายสํ ลทฺธาน ทุมฺเมโธ อนตฺถํ จรติ อตฺตโน
อตฺตโน จ ปเรสฺญฺจ หึสาย ปฏิปชฺชติ
"ผู้มีปัญญาทรามได้ยศแล้ว ย่อมประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน ย่อมปฏิบัติเพื่อความเบียดเบียนตน และคนอื่น"
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยสํ ลทฺธาน ทุมฺเมโธ ดังนี้ :-
ความโดยย่อว่า
ภิกษุทั้งหลายพากันกล่าวโทษของพระเทวทัตในธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระเทวทัตมองดูพระพักตร์อันทรงสิริ เหมือนดวงจันทร์เต็มดวง และพระอัตภาพอันประดับด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ และมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ แวดวงด้วยพระรัศมีแผ่ซ่านประมาณ ๑ วา ถึงความงามเลิศเป็นยอดเยี่ยม เปล่งพระพุทธรัศมี เป็นแฉกคู่ ๆ กัน โดยอาการต่าง ๆ สลับกันของพระตถาคตแล้ว ไม่อาจยังจิตให้เลื่อมใสได้ มิหนำซ้ำ ยังกระทำความริษยาเอาด้วย ไม่อาจจะอดใจได้ ในเมื่อมีผู้กล่าวว่า ธรรมดา พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงประกอบแล้วด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติญาณทัสสนะเห็นปานนี้ กระทำความริษยาถ่ายเดียว.
พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เทวทัตกระทำการริษยาเรา ในเมื่อมีผู้กล่าวถึงคุณของเรา แม้ในปางก่อนก็ได้ เคยกระทำแล้วเหมือนกัน
แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งเมื่อพระเจ้ามคธองค์หนึ่งครองราชสมบัติในกรุงราชคฤห์. พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดช้าง ได้เป็นช้างเผือก ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติ เช่นเดียวกับที่พรรณนามาแล้วในหนหลัง. พระราชาพระองค์นั้นทรงพระดำริว่า ช้างนี้สมบูรณ์ด้วยลักษณะ จึงได้ทรงแต่งตั้ง ให้เป็นมงคลหัตถี.
ครั้นถึงวันมหรสพวันหนึ่ง โปรดให้ประดับตกแต่งพระนครทั้งสิ้น งดงามดังเทพนคร เสด็จขึ้นสู่มงคลหัตถี อันประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ ทรงกระทำประทักษิณพระนครด้วยราชานุภาพอันใหญ่หลวง.
มหาชนยืนดูในที่นั้น ๆ เห็นสรีระอันถึงความงามเลิศด้วยสมบัติของมงคลหัตถี ก็พากันพรรณนาถึงมงคลหัตถีเท่านั้นว่า รูปงาม การเดินสง่า ท่าทางองอาจ สมบูรณ์ด้วยลักษณะอย่างแท้จริง พญาช้างเผือกเห็นปานนี้ สมควรเป็นคู่บุญบารมีของพระเจ้าจักรพรรดิ์.
พระราชาทรงสดับเสียงสรรเสริญมงคลหัตถี ไม่ทรงสามารถจะอดพระทัยได้ ทรงเกิดความริษยา ดำริว่า วันนี้แหละ จะให้มันตกเขาถึงความสิ้นชีวิต ให้จงได้ แล้วรับสั่งให้หานายหัตถาจารย์มา รับสั่งถามว่า ช้างนี้ต้องทำอย่างไรบ้าง เจ้าให้ศึกษาแล้วหรือ?
นายหัตถาจารย์กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ให้ศึกษาดีแล้ว พระเจ้าข้า.
รับสั่งท้วงว่า ยังฝึกไม่ดีนะ.
กราบทูลยืนยันว่า ฝึกดีแล้ว พระเจ้าข้า.
รับสั่งว่า ถ้าฝึกดีแล้ว เจ้าจักอาจให้มันขึ้นสู่ยอดเขาเวปุลละได้ หรือ?
กราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่สมมติเทพ.
รับสั่งว่า ถ้าเช่นนั้น มาเถิด.
พระองค์เองเสด็จลง ให้นายหัตถาจารย์ขึ้น นั่งไสไปถึงเชิงเขา. เมื่อนายหัตถาจารย์นั่งเหนือหลังช้าง ไสถึงยอดเขาเวปุลละแล้ว แม้พระองค์เองแวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ ก็เสด็จขึ้นสู่ยอดเขา แล้วทรงบังคับนายหัตถาจารย์ ให้ไสช้างบ่ายหน้าไปทางเหว. รับสั่งว่า เจ้าบอกว่า ช้างเชือกนี้ฝึกดีแล้ว จงให้มันยืน ๓ ขา เท่านั้น.
นายหัตถาจารย์นั่งบนหลัง ได้ให้สัญญาแก่ช้างด้วยส้นเท้า ให้ช้างรู้ว่า พ่อเอ๋ย จงยืน ๓ ขาเถิด.
พระราชารับสั่งว่า ให้มันยืนด้วยเท้าหน้าทั้งสองเท่านั้นเถิด. ช้างผู้มหาสัตว์ ก็ยกเท้าหลังทั้งสองขึ้น ยืนด้วยสองเท้าหน้า. แม้เมื่อพระราชาตรัสว่า ให้มันยืนด้วยสองเท้าหลังเท่านั้น ก็ยกเท้าทั้งสองข้างหน้าขึ้น ยืนด้วยสองเท้าหลัง แม้เมื่อตรัสสั่งว่า ให้ยืนขาเดียว ก็ยกเท้าทั้งสามขึ้นเสีย ยืนด้วยเท้าข้างเดียวเท่านั้น
พระราชา ครั้นทรงทราบความที่พญาช้างนั้นไม่ตก ก็ตรัสสั่งว่า ถ้าสามารถจริง ก็จงให้ยืนในอากาศเถิด. นายหัตถาจารย์คิดว่า ทั่วชมพูทวีป ช้างที่ได้ชื่อว่า ฝึกดีแล้ว เช่นกับพญาช้างนี้ไม่มีเลย ก็แต่พระราชาพระองค์นี้ มีพระประสงค์ให้ช้างนั้นตกเขาตายเป็นแน่ ไม่ต้องสงสัย.
คิดแล้ว ก็กระซิบที่ใกล้หูว่า พ่อเอ๋ย พระราชานี้ประสงค์จะให้เจ้าตกเขาตายเสีย เจ้าไม่คู่ควรแก่ท้าวเธอ ถ้าเจ้ามีกำลังพอจะไปทางอากาศได้ ก็จงพาเราผู้นั่งบนหลัง เหาะขึ้นสู่เวหา ไปสู่พระนครพาราณสีเถิด.
พระมหาสัตว์ถึงพร้อมด้วยบุญฤทธิ์ ได้ยืนอยู่ในอากาศ ในขณะนั้นเอง. นายหัตถาจารย์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ช้างนี้ถึงพร้อมด้วยบุญฤทธิ์ ไม่คู่ควรแก่คนมีบุญน้อย ปัญญาทรามเช่นพระองค์ คู่ควรแก่พระราชาผู้เป็นบัณฑิต ถึงพร้อมด้วยบุญ ขึ้นชื่อว่า คนบุญน้อยเช่นพระองค์ ถึงได้พาหนะเช่นนี้ ก็มิได้รู้คุณของมัน รังแต่จะยังพาหนะนั้น และยศสมบัติที่เหลือ ให้ฉิบหายไปฝ่ายเดียว.
ทั้ง ๆ ที่นั่งอยู่บนคอช้าง กล่าวคาถานี้ ความว่า :-
“ผู้มีปัญญาทราม ได้ยศแล้ว ย่อมประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน ย่อมปฏิบัติเพื่อความเบียดเบียนตน และคนอื่น” ดังนี้.
ในคาถานั้น มีความสังเขปดังนี้
ข้าแต่มหาราชเจ้า คนโง่ ๆ คือคนที่ไร้ปัญญาเช่นพระองค์ ได้บริวารสมบัติแล้ว ย่อมประพฤติความฉิบหายแก่ตน.
เพราะเหตุไร?
เพราะเหตุว่า คนโง่ ๆ นั้นมัวเมาในยศแล้ว มิได้รู้การที่ควรทำและไม่ควรทำ ย่อมปฏิบัติเพื่อเบียดเบียนตนและคนอื่น ๆ คือ ย่อมดำเนินการเพื่อที่ยังความลำบาก และความทุกข์เกิดขึ้น ซึ่งเรียกว่า เบียดเบียน เท่านั้นเอง.
นายหัตถาจารย์แสดงธรรมแก่พระราชาด้วยคาถานี้ ด้วยประการฉะนี้ แล้วกราบทูลว่า คราวนี้เชิญเสด็จประทับอยู่เถิด แล้วพลางเหาะขึ้นในอากาศ ตรงไปพระนครพาราณสีทีเดียว หยุดอยู่ในอากาศที่ท้องพระลานหลวง ทั่วทั้งพระนคร อื้อฉาวเอิกเกริกเป็นเสียงเดียวกันว่า ช้างเผือกของพระราชาแห่งชาวเรามาทางอากาศ หยุดยืนอยู่ที่ท้องพระลานหลวง.
ราชบุรุษทั้งหลายรีบกราบทูลพระราชา.
พระราชาเสด็จมาตรัสว่า ถ้าเจ้ามาเพื่อเป็นอุปโภคแก่เรา เชิญเจ้าลงยืนที่พื้นดินเถิด
พระโพธิสัตว์ก็ลงยืนที่แผ่นดิน. อาจารย์ก็ก้าวลง ถวายบังคมพระราชา.
ได้รับพระดำรัสว่า พ่อคุณ พ่อมาจากไหน? กราบทูลว่า มาจากเมืองราชคฤห์ พระเจ้าข้า. แล้วกราบทูลเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบ.
พระราชาตรัสว่า พ่อคุณ การที่พ่อมาที่นี่ กระทำสิ่งที่น่าชื่นชมจริง ๆ ทรงหรรษาและดีพระทัย ตรัสให้ตระเตรียมพระนคร ทรงตั้งพญาช้างในตำแหน่งมงคลหัตถี ทรงแบ่งราชสมบัติทั้งสิ้นออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนหนึ่งพระราชทานแก่พระโพธิสัตว์ ส่วนหนึ่งแก่อาจารย์ ส่วนหนึ่งพระองค์ทรงครอบครอง.
ก็นับจำเดิมแต่พระโพธิสัตว์มาแล้วนั่นแล ราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้น ก็ตกอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของพระราชา พระองค์เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ในชมพูทวีป ทรงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น แล้วเสด็จไปตามยถากรรม.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
พระราชามคธในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระเทวทัต
พระเจ้ากรุงพาราณสีได้มาเป็น พระสารีบุตร
นายหัตถาจารย์ได้มาเป็น พระอานนท์
ส่วนช้างได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล
จากเรื่องนี้ เราจะเห็นได้ว่า สิ่งที่เป็นสิริมงคลจะคู่ควรกับผู้มีบุญเท่านั้น ผู้มีบุญน้อยบารมีไม่ถึงนั้นหากได้ครอบครองสิ่งนั้นมาแทนที่จะส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ แต่กลับกัน มักจะคิดอิจฉาริษยาหาทางทำลายของมงคลเหตุเพราะตนรู้สึกไม่คู่ควรเสียอย่างนั้น ผู้มีบุญมากคิดดีทำดีถึงจะรู้คุณของสิ่งมงคล เราเองก็เช่นกันมีของดีก็พึงรักษาควบคู่กับการคิดดีทำดี เพื่อให้เป็นเรื่องดีมีสิริมงคลเกิดประโยชน์สืบไป
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก
ข้อมูลเพิ่มเติม
ข้อมูลน่าสนใจ
ใครคือผู้มีปัญญาทราม
พระเทวทัต