การใช้สระไอ ใอ ไอย อัย
ภาษาไทยนั้นถือได้ว่าเป็นภาษาที่มีความซับซ้อนภาษาหนึ่งในโลกและวันนี้เราจะมาพูดถึงความแตกต่างในการใช้สระที่ออกเสียงเหมือนกันแต่เขียนต่างกันอย่างไอ ใอ ไอย และ อัย
หลักการใช้ไอ ใอ ไอย อัย
๑. ไอ การใช้สระไอไม้มลายนี้ใช้กับคำไทยทั้งหมด เช่น
ไหม ตะไคร้
๒. ใอ การใช้สระใอไม้ม้วนนี้ แต่เดิมใช้เขียนกันตามถนัด ภายหลังได้มีผู้รวบรวมหลักการใช้สระใอไม้ม้วนขึ้นไว้ ๒๐ คำ อนึ่ง คำ ไอ และ ใอ ที่เขียนได้ทั้งสองอย่างก็มี แต่มีความหมายต่างกันไป
ให้ – ร้องไห้
ใบ – สไบ
ใจ – ไจไหม
ใคร่ – ตะไคร่
หลงใหล – น้ำไหล – เหลวไหล
ใด – บันได
ใน – ไน
ใต้ -ไต้
ใย – ไย
๓. ไอย ใช้ในคำที่มาจากสระเอ มี ย สะกด และ ย ตาม (เอยฺย) ในภาษาบาลี แล้วแผลงมาเป็น “ไอย” ในภาษาไทย เช่น
เวยฺยากรณ – ไวยากรณ์
เทยฺยทาน – ไทยทาน
อสงเชยฺย – อสงไขย
เวยฺยาวจฺจกร – ไวยาวัจกร
๔. อัย ใช้ในคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต ซึ่งมีเสียง อะ มี ย ตาม เช่น ชย – ชัย วย – วัย นย – นัย ถ้าในภาษาเดิมของเขามีตัว ย สะกด และ ย ตาม เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยให้คง ย ทั้งสองตัวนั้นไว้ เช่น
อยฺย – อัยยะ
อยฺยิกา – อัยยิกา
คำที่ออกเสียงคล้ายกันแต่เขียนไม่เหมือนกันนั้นยังมีอีกมาก เราจึงควรพิจารณาให้ดีก่อนใช้คำ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดอย่างเช่นตัวอย่างข้างบนนี้ก็คงจะทำให้หายสับสนได้บ้าง