คำสมาส: คำสมาสแบบสมาส คืออะไร
หากกล่าวถึงการสร้างคำในภาษาไทย แน่นอน! หลายคนคงคุ้นหูกับ “คำสมาส” มาอยู่บ้าง แต่จะบอกอะไร คำสมาสเนี่ยอยู่ในทุกช่วงชีวิตของเราเลยล่ะ ตั้งแต่เกิดที่ สูตินรีแพทย์ ทำคลอดให้เรา เราได้สูติบัตรเป็นหลักฐาน เมื่ออายุถึงก็เข้าเรียนชั้นปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือต่ออุดมศึกษา/มหาวิทยาลัย จนเข้าวัยทำงาน ชื่อสถานที่ ตำแหน่ง ก็หนีไม่พ้นคำสมาสอีกเช่นเคย จนวันตายก็ยังจะได้มรณบัตร เพียงแต่เราไม่รู้เท่านั้นเองว่านี่เป็นคำสมาส และมันสมาสยังไง ยังไงถึงเรียกสมาส วันนี้แหละเราจะมาไขข้อสงสัยในคำสมาสกัน
เมื่อพูดถึงคำสมาส หลายคนจะพูดว่าต้องมาคู่กับ คำสนธิ แต่! ช้าก่อนครับผม รู้ไหมว่าจริง ๆ แล้วคำสนธิไม่มี เพราะเราจะเรียกว่าคำสมาสเท่านั้น สมาส เป็นการสร้างคำในภาษาบาลี สันสกฤต (เท่านั้น) ตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมาต่อกัน แต่จะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ต่อแบบคำชนกันปกติ เราเรียก “สมาสแบบสมาส” กับ ต่อแบบเชื่อมเสียง มีการเปลี่ยนรูปศัพท์ เราเรียก “สมาสแบบสนธิ” เรียกได้ว่า สนธิ เป็น Subset ในคำสมาสนั่งเองครับ แต่คนไทยเราชอบอะไรง่าย ๆ จึงเรียก คำสมาส คำสนธิ ไปเลย ซึ่งมีสูตรหากินที่ท่องว่า “สมาสชน สนธิเชื่อม” วันนี้เราจะมาเริ่มกันด้วย สมาสชน นั่นคือ คำสมาสแบบสมาส
คำสมาสแบบสมาส คืออะไร?
คำสมาสแบบสมาส หรือ คำสมาสแบบธรรมดา คือ การรวมกันของคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป เข้าเป็นคำเดียว โดยการเรียงต่อกัน ไม่มีการดัดแปลงรูปอักษร ซึ่งทำให้เกิดคำใหม่ ความหมายใหม่ แต่ยังมีเค้าของความหมายเดิมอยู่
วิธีการสร้างคำสมาสแบบสมาส
1. คำสมาส จะต้องเป็นคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตเท่านั้น จะนำคำไทยหรือคำภาษาอื่นมาสมาสกับคำบาลีหรือสันสกฤตไม่ได้ เช่น
ศิลปะ (ส.) + วิทยา (ส.) สมาสเป็น ศิลปวิทยา
ยุติ (ป.) + ธรรม (ส.) สมาสเป็น ยุติธรรม
ราช (ป.,ส.) + การ (ป.,ส.) สมาสเป็น ราชการ
2. คำที่รวมกันแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปคำ เช่น
อัคคี + ภัย สมาสเป็น อัคคีภัย
โลก + บาล สมาสเป็น โลกบาล
3. ถ้าพยางค์สุดท้ายของคำหน้ามีรูปสระ ะ (วิสรรชนีย์) หรือตัวการันต์ต้องตัดสระ ะ หรือไม้ทัณฑฆาตออก เช่น
ศิลปะ + ศึกษา สมาสเป็น ศิลปศึกษา
มนุษย์ + ธรรม สมาสเป็น มนุษยธรรม
4. คำว่า “วร” เมื่อสมาสกับคำอื่นแล้ว ในภาษาไทยจะแผลงเป็น พระ หรืออาจคงรูปไว้ มักใช้ในคำราชาศัพท์ เช่น
วร + พักตร์ สมาสเป็น พระพักตร์
วร + ชายา สมาสเป็น พระชายา, วรชายา
แต่พระเก้าอี้ พระขนอง แม้มีคำว่าพระอยู่ข้างหน้า แต่ เก้าอี้ ขนอง ไม่ใช่คำบาลีสันสกฤต จึงไม่ใช่คำสมาส
5. คำสมาสนิยมแปลความหมายจากหลังมาหน้า เพราะคำหลักมักวางไว้หลัง คำขยายวางไว้หน้า เช่น
อักษร + ศาสตร์ สมาสเป็น อักษรศาสตร์ หมายถึง วิชาที่ว่าด้วยตัวหนังสือ
ชัย + ภูมิ สมาสเป็น ชัยภูมิ หมายถึง ดินแดนแห่งชัยชนะ (ทำเลที่ดี)
ข้อสังเกตคำสมาสแบบสมาส
1. คำส่วนใหญ่มักลงท้ายด้วยคำว่า กร กรรม การ กิจ ธรรม ภัย ภาพ วิทยา ศาสตร์ ศิลป์ ศึกษา สถาน เป็นต้น
2. การอ่านคำสมาส จะต้องอ่านให้มีเสียงสระเชื่อมติดกันระหว่างคำหน้ากับคำหลัง เช่น
ภูมิ + ศาสตร์ สมาสเป็น ภูมิศาสตร์ อ่านว่า พู-มิ-สาด
เกตุ + มาลา สมาสเป็น เกตุมามา อ่านว่า เก-ตุ-มา-ลา
หมายเหตุ เกตุมาลา อ่านว่า เกด-มา-ลา ก็ได้ เพราะความนิยมอย่างง่ายของคนไทย เช่นเดียวกับคำว่า ประวัติศาสตร์ หากจะยึดหลักสมาสที่ถูกต้อง ต้องอ่านว่า ประ-หวัด-ติ-สาด แต่เราอ่าน ประ-หวัด-สาด จนเคยชิน จึงมีการบัญญัติให้อ่านได้ 2 ลักษณะ ซึ่งคำสมาสที่มีสระ อะ อิ อุ จะพบมากในกรณีนี้ เช่น
มัธยมศึกษา อ่านว่า มัด-ทะ-ยม-มะ-สึก-สา หรือ มัด-ทะ-ยม-สึก-สา
เกียรติประวัติ อ่านว่า เกียด-ติ-ประ-หวัด หรือ เกียด-ประ-หวัด
3. ถ้าระหว่างคำไม่มีรูปสระ ให้อ่านเหมือนมีสระอะประสมอยู่ เช่น
ธรรม + ศาสตร์ สมาสเป็น ธรรมศาสตร์ อ่านว่า ทำ-มะ-สาด
สาร + คดี สมาสเป็น สารคดี อ่านว่า สา-ระ-คะ-ดี
4. คำสมาสบางคำไม่อ่านออกเสียงรูปสระสระหว่างคำหน้าและคำหลัง (เป็นข้อยกเว้น) เช่น
เกียรติ + นิยม สมาสเป็น เกียรตินิยม อ่านว่า เกียด-นิ-ยม
ผล + ลัพธ์ สมาสเป็น ผลลัพธ์ อ่านว่า ผน-ลับ
5. จังหวัดที่ชื่อลงท้ายด้วย “บุรี” บางชื่ออ่านออกเสียงเชื่อมระหว่างคำ บางชื่อไม่อ่านออกเสียงเชื่อม หรือบางชื่อก็อ่านได้ทั้งสองอย่าง เช่น
จันทบุรี อ่านว่า จัน-ทะ-บุ-รี
ชลบุรี อ่านว่า ชน-บุ-รี
เพชรบุรี อ่านว่า เพ็ด-บุ-รี หรือ เพ็ด-ชะ-บุ-รี
ตัวอย่างคำสมาสแบบสมาส
เกษตรกรรม กรรมฐาน จรรยาบรรณ ธรรมจักร ฌาปนกิจ บุพการี ปัญญาญาณ กิจกรรม วีรบุรุษ ผลบุญ เทวสถาน
บทบาท พินัยกรรม อุบัติเหตุ เพศศึกษา สุนทรียภาพ ชีวภาพ คณิตศาสตร์ วาตภัย มิตรภาพ รัฐมนตรี จักรราศี ศิลปกรรม ไตรสิกขา ภารกิจ เบญจศีล รูปพรรณ กรรมการ ผลิตผล หัตถกรรม วีรสตรี ภูมิทัศน์ วิทยาศาสตร์ ประถมศึกษา อุดมศึกษา พุทธศาสนา ธุรกิจ วารสาร จุลทรรศน์ สมณพราหมณ์ วิทยาธร ครุศาสตร์ วัฏสงสาร
สารัตถศึกษา เวชกรรม จักษุแพทย์ สังฆเภท อินทรธนู ฤทธิเดช พระเนตร พระกรรณ ราชบุรี มหาราช แพทยศาสตร์
หวังว่าเนื้อหาคำสมาสที่เรานำมาฝากผู้อ่านได้เรียนรู้กันในวันนี้จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจเรื่องของคำสมาสมากยิ่งขึ้น หากพบคำสมาสต่อไปนี้หลายคนต้องสามารถแยกได้และอ่านถูกอย่างแน่นอน แล้วพบกันใหม่ในครั้งหน้าจะมีเนื้อหาดี ๆ ในเรื่องใดรอติดตามได้เลย
ข้อมูลเพิ่มเติม
ข้อมูลน่าสนใจ
คำสมาสแบบสมาส กับ คำสมาสแบบธรรมดา ต่างกันอย่างไร?
คำสมาสแบบสมาส เรียกอีกอย่างว่า คำสมาสแบบธรรมดา นั่นคือสิ่งเดียวกันนั่นเอง
คำสมาส มีกี่แบบ?
มี 2 แบบ คือ 1. คำสมาสแบบสมาส 2. คำสมาสแบบสนธิ