รวม 50 สำนวนไทย พร้อมความหมายน่ารู้ ที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน
สำนวนไทย มีความแตกต่างจากข้อความทั่วไปตรงที่มีความคมคาย อาจต้องวิเคราะห์หรือตีความเพิ่มเติม จึงจะเข้าใจความหมายที่แท้จริง ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ทางภาษาที่สะท้อนภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย และคนไทยเรามักนำมาใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน จนเห็นได้ชินตา พูดได้ว่าใช้เป็นข้อความหนึ่งในบทสนทนาที่เห็นได้โดยทั่ว ๆ ไปเลย
สำนวนไทย สุภาษิต และ คำพังเพย นั้น ดูเผิน ๆ จะคล้ายกันมากจนแยกกันแทบไม่ออก แต่สำนวนไทย จะเป็นเชิงอุปมาอุปมัยโดยมีนัยแฝงเร้นซ่อนอยู่อย่างลึกซึ้ง แยบคาย ต้องตีความ ทำความเข้าใจอีกที ซึ่งอาจแตกต่างไปความหมายเดิมหรืออาจคล้ายคลึงกับความหมายเดิมก็ได้
"สำนวนไทย" คืออะไร?
สำนวนไทย หมายถึง ถ้อยคำ กลุ่มคำ หรือประโยคที่ไม่ได้แปลความหมายตรงๆ แต่มีความหมายเชิงเปรียบเทียบแฝงอยู่ ซึ่งเป็นข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านาน ส่วนใหญ่เป็นสำนวนที่เกิดจากวัฒนธรรมและพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของคนไทย
นอกจากนี้ยังมี สุภาษิต และ คำพังเพย ที่มีลักษณะอุปมาอุปมัยเช่นเดียวกัน แต่จะเน้นความหมายเชิงสั่งสอน ว่ากล่าวตักเตือน และเสียดสี ตามวิถีชีวิตและแนวคิดของคนไทยสมัยก่อน ทำให้บางครั้งมักจะเรียกรวมกันว่า "สำนวน สุภาษิต และคำพังเพย"
ทำไมเราต้องใช้สำนวนไทยในการสื่อสาร
คนไทยมักจะคุ้นเคยกับสำนวนไทยมาตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นจากการฟังผู้ใหญ่ในบ้านพูด หรือแม้แต่ได้เรียนเรื่องการใช้สำนวนไทย ในชั้นเรียนระดับต่าง ๆ โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษาที่เริ่มสอนให้นักเรียนได้รู้จักความหมายของสำนวนไทย เพื่อช่วยในการสื่อสารและอ่านวิเคราะห์ ซึ่งสำนวนส่วนใหญ่จะง่าย ไม่ซับซ้อน เด็ก ๆ สามารถเข้าใจง่าย ยกตัวอย่างเช่น
สำนวนไทยตามระดับชั้นการศึกษา ป.3 - ป.6
สํานวนไทย ป.3
- กระต่ายตื่นตูม หมายถึง อาการตื่นตกใจแบบด่วนสรุปง่ายๆ โดยยังไม่คิดไตร่ตรองถึงเหตุผลให้ถี่ถ้วนเสียก่อน
- ขวานผ่าซาก หมายถึง การพูดตรงมากจนเกินไป โดยไม่ดูกาลเทศะ ไม่ได้คิดว่าจะสร้างความพอใจให้แก่ผู้อื่นหรือไม่
- ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด หมายถึง มีความรู้มาก แต่รู้เพียงทฤษฎี ไม่สามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองได้
สํานวนไทย ป.4
- ม้าดีดกะโหลก หมายถึง กิริยาที่กระโดดโลดเต้น วางตัวไม่สุภาพเรียบร้อย
- มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ หมายถึง ไม่ช่วยคนอื่นทำงานแล้ว ยังจะขัดขวางการทำงานอีก
- ลิงหลอกเจ้า หมายถึง ทำตัวเรียบร้อยเฉพาะเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่ แต่พอลับหลังก็ทำตัวอีกแบบ
สํานวนไทย ป.5
- กินบนเรือน ขี้รดบนหลังคา หมายถึง คนเนรคุณ ไม่รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณ มักทำให้เจ้าของบ้านเดือดร้อน
- ไก่งามเพราะขนคนงามเพราะแต่ง หมายถึง คนจะดูดีได้นั้น จะต้องรู้จักแต่งหน้าแต่งตัวให้สวยงาม
- เข็นครกขึ้นภูเขา หมายถึง การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างลำบากแสนเข็ญ กว่าจะสำเร็จถึงเป้าหมาย
สํานวนไทย ป.6
- ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ หมายถึง รู้ความผิดของกันและกัน
- น้ำขึ้นให้รีบตัก หมายถึง รีบทำเมื่อมีโอกาส
- มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ หมายถึง ไม่ช่วยทำงานแต่สร้างความรำคาญใจให้
รวม 50 สํานวนไทย พร้อมความหมาย ที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน
สำหรับคนที่สงสัยว่า สำนวนไทย มีอะไรบ้าง? การแบ่งประเภทของสำนวนไทย ไม่ได้จำกัดรูปแบบตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าต้องการแบ่งตามเกณฑ์ใด เช่น สำนวนไทย ก-ฮ, สำนวนไทยเกี่ยวกับการกระทำ, สำนวนไทยเกี่ยวกับอาหาร เป็นต้น ไทยรัฐออนไลน์ขอยกตัวอย่างสำนวนไทย พร้อมความหมาย ที่มักพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ดังนี้
- กบเลือกนาย หมายถึง ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาอยู่เรื่อย ๆ
- กบในกะลาครอบ หมายถึง ผู้มีความรู้และประสบการณ์น้อยแต่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก
- กรวดน้ำคว่ำขัน หมายถึง การตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย เลิกไม่คบหาสมาคมกันต่อไป
- กระต่ายขาเดียว หมายถึง การยืนกรานไม่ยอมรับผิด ปากแข็งยืนยันคำพูดเดิม
- กระต่ายหมายจันทร์ หมายถึง การที่ผู้ชายฐานะยากจนกว่าฝ่ายหญิงแต่ไปหลงรักหมายปองชอบผู้หญิงที่มีฐานะดีกว่า โอกาสที่จะสมหวังได้นั้นคงค่อนข้างยากเพราะพ่อแม่ของฝ่ายหญิงคงไม่ชอบและคงต้องคอยกีดกัน เปรียบเทียบผู้ชายเป็นเหมือนกระต่ายที่เฝ้ามองดวงจันทร์ที่ลอยสูงเด่นอยู่เหนือท้องฟ้าในยามค่ำคืน ทำอย่างไรก็ไม่มีทางและโอกาสที่จะไปสัมผัสกับดวงจันทร์ได้
- กระเชอก้นรั่ว หมายถึง สุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบ ขาดการประหยัด
- กระโถนท้องพระโรง หมายถึง กระโถนใหญ่ที่ตั้งไว้ที่ท้องพระโรงในศาลาลูกขุนใน สำหรับที่ใคร ๆ บ้วนน้ำหมากหรือทิ้งชานหมากได้
- กาคาบพริก หมายถึง ลักษณะคนผิวดำแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีแดง
- กำปั้นทุบดิน หมายถึง การพูดแบบกว้าง ๆ อาจจะตรงประเด็นหรือไม่ตรง เป็นการตอบที่ไม่ใช่คำตอบที่ผิด แต่เป็นการตอบที่ไม่ได้ประโยชน์แก่ผู้ฟัง
- กินบนเรือนขี้บนหลังคา หมายถึง คนเนรคุณ ไม่รู้จักบุญคุณคน เหมือนผู้ที่อาศัยพักพิงบ้านเขา แต่กลับทำเรื่องเดือดร้อน สร้างความเสียหาย ให้กับเจ้าของบ้าน
- กินปูนร้อนท้อง หมายถึง เปรียบเหมือนคนเมื่อทำความผิดแล้วเกรงว่าคนอื่นจะจับความผิดของตนได้ อันที่จริง เฉยไว้ก็ไม่มีใครรู้แต่กลับแสดงอาการพิรุธออกมาให้เห็นก่อนที่คนอื่นจะรู้
- กิ้งก่าได้ทอง หมายถึง คนที่ได้ลาภยศแล้วทะนงตนลืมฐานะเดิม
- ขนทรายเข้าวัด หมายถึง ทําบุญกุศลโดยวิธีนําหรือขนทรายไปก่อพระเจดีย์ทรายเป็นต้นที่วัด (สำ) หาประโยชน์ให้ส่วนรวม
- ขนมพอสมกับน้ำยา หมายถึง ใช้ในการเปรียบเทียบของทั้งสองสิ่งนั้นมีมูลค่า, ความดีความร้าย, ความสามารถ นั้นพอ ๆ กัน ไม่ด้อยไปกว่ากัน
- ขมิ้นกับปูน หมายถึง ชอบวิวาทกันอยู่เสมอเมื่ออยู่ใกล้กัน ไม่ถูกกัน
- คมในฝัก หมายถึง มีความรู้ความสามารถแต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็ไม่แสดง ออกมาให้ปรากฏ
- คลุมถุงชน หมายถึง ลักษณะที่ทั้ง 2 ฝ่ายมาเผชิญกันทั้งที่ไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จักกันมาก่อน มักใช้แก่ประเพณีแต่งงานสมัยก่อนที่พ่อแม่เป็นผู้จัดการให้โดยที่เจ้าตัวไม่เคยรู้จักหรือรักกันมาก่อนเหมือนแกมบังคับให้โดนจับคู่กัน
- คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก หมายถึง ที่อยู่แม้จะคับแคบก็อยู่ได้ถ้าสบายใจ แต่ถ้าอึดอัดใจ ที่อยู่จะกว้างขวางใหญ่โตอย่างไรก็อยู่ไม่ได้
- คางคกขึ้นวอ หมายถึง คนที่มีฐานะต่ำต้อย พอได้ดิบได้ดี ลืมตัวลืมกำพืด ลืมชาติกำเนิดตัวเอง ดูถูกเหยียดหยามสิ่งที่ตัวเองเคยเป็น
- จับปลาสองมือ หมายถึง การที่คน ๆ หนึ่งทำสิ่งใดที่ยากพร้อม ๆ กันทำให้ล้มเหลวทั้งสองสิ่งนั้น
- ชาติเสือจับเนื้อกินเอง หมายถึง คนที่เชื่อมั่นและถือศักดิ์ศรีของตน แม้จะลำบากยากแค้นก็ไม่ยอมรบกวนและเบียดเบียนใคร หรือการทำมาหากินด้วยความอุตสาหะไม่เบียดเบียนผู้อื่น
- ชี้โพรงให้กระรอก หมายถึง ผู้ที่ชอบทำอะไรก็ตามเป็นนิสัยเดิมอยู่แล้ว เมื่อมีคนมาบอกกล่าวก็จะลงมือทำทันที เช่น เป็นคนชอบเที่ยวถ้ามีผู้บอกว่าที่นั่นที่นี่น่าเที่ยวก็จะไป หรือผู้มีนิสัยเป็นคนขี้ลักขี้ขโมยถ้ามีผู้บอกว่า บ้านนั้นบ้านนี้มีทรัพย์สินเงินทองมาก ก็จะหาทางเข้าไปขโมยหรือลักทรัพย์ในบ้านนั้น เช่นนี้ เรียกว่า ชี้โพรงให้
- ช้างสาร งูเห่า ข้าเก่า เมียรัก หมายถึง สิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะรู้ตื้นหนาบางของเราเป็นอย่างดี
- ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ หมายถึง คนใหญ่คนโตขัดแย้งมีปัญหากัน หรือผู้นำของแต่ละฝ่ายนั้นมีปัญหาทะเลาะกัน แต่ส่งผลให้ผู้น้อยหรือประชาชน ลูกน้องนั้นได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน
- ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน หมายถึง ความซื่อสัตย์ทำให้คนเชื่อใจ มีคนนับถือ ไม่มีวันอดตาย มีคนคอยช่วยเหลือ แต่หากมีนิสัยคดโกง เมื่อถูกจับได้ย่อมไม่มีใครอยากช่วยเหลือหรือเกี่ยวข้องด้วย
- ดินพอกหางหมู หมายถึง นิสัยที่ชอบปล่อยให้การงานคั่งค้างสะสม ผัดวันประกันพรุ่ง เกียจคร้าน ไม่ยอมทำให้สิ่งนั้นสำเร็จเสร็จสิ้นโดยเร็ว จนในที่สุดการงานต่างก็สะสมพอกพูนขึ้นจนยากที่จะสะสางให้เสร็จได้โดยง่าย
- น้ำขึ้นให้รีบตัก หมายถึง เมื่อที่มีโอกาสก็รีบขว้าเอาไว้ก่อนที่จะไม่มีโอกาส
- น้ำท่วมปาก หมายถึง การรู้อะไรแล้วพูดไม่ได้ พูดไม่ออกไม่สามารถพูดออกมาได้ เพราะมีความจำเป็นบางอย่างหรือเพราะเกรงจะมีภัยมาถึงตนเองแก่ตนหรือผู้อื่นที่เกี่ยวข้องด้วย
- ปากปราศัยน้ำใจเชือดคอ หมายถึง พูดดีแต่คิดร้าย
- ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม หมายถึง ยังเป็นเหมือนเด็กไม่มีความคิด เป็นการว่ากล่าวตำหนิคนที่ชอบอวดดี คิดว่าตนเองเก่งกว่าผู้อื่น
- ผักชีโรยหน้า หมายถึง การทำความดีหรือกระทำการใดๆเพียงเพื่อให้ผู้อื่นเห็นว่างานเสร็จแล้ว เรียบร้อย สวยงาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งนั้นยังไม่สำเร็จเรียบร้อย
- รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี หมายถึง หากลูกทำผิดก็ควรอบรมสั่งสอน ดุด่าว่ากล่าว และลงโทษเมื่อกระทำความผิดตามสมควร
- สวมเขา หมายถึง ทำความอัปยศให้แก่สามีด้วยการมีชู้โดยที่สามีไม่รู้ระแคะระคาย
- หนอนหนังสือ หมายถึง คนที่ชอบหมกมุ่นอยู่กับการอ่านหนังสือ.
- หนูตกถังข้าวสาร หมายถึง ชายที่ฐานะไม่ค่อยดี ยากจน แต่งงานกับหญิงที่ร่ำรวยและมั่งคั่งกว่าตัว
- หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง หมายถึง ความลับรักษาได้ยาก
- หมาจนตรอก หมายถึง คนที่ฮึดสู้อย่างสุดชีวิตเพราะไม่มีทางเลือก ในสำนวนว่า สู้เหมือนหมาจนตรอก.
- หมาเห่าใบตองแห้ง หมายถึง คนที่ทำตัวเองเหมือนมีความเก่งกล้าสามารถ แต่จริงแล้วเป็นคนที่ขี้ขลาดไม่กล้าจริงอย่างที่พูด
- หวังน้ำบ่อหน้า หมายถึง ของที่ได้แน่นอนแล้วไม่เอา กลับไปคาดหวังกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
- หอกข้างแคร่ หมายถึง การมีศัตรูอยู่ใกล้ตัวเช่นคนใกล้ชิดที่อาจคิดร้ายขึ้นมาเมื่อไรก็ได้
- อ้าปากเห็นลิ้นไก่ หมายถึง รู้ทันกัน รู้ทันสิ่งที่จะทำ
- เกลือเป็นหนอน หมายถึง ญาติมิตร สามีภรรยา บุตรธิดา เพื่อนร่วมงาน หรือคนในบ้าน คิดคดทรยศ
- เชือดไก่ให้ลิงดู หมายถึง ทำโทษเพื่อไม่ให้ผู้อื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
- เฒ่าหัวงู หมายถึง คนแก่หรือคนมีอายุมากที่มีนิสัยเจ้าชู้ มีเล่ห์เหลี่ยม ชอบใช้กลอุบาย หลอกล่อเด็กสาวไปบำเรอความสุข ในทางกามารมณ์
- เถียงคำไม่ตกฟาก หมายถึง เถียงได้ไม่หยุดปาก มักจะใช้กับเด็กที่เถียงผู้ใหญ่อยู่เสมอ
- แก้วลืมคอน หมายถึง คนที่รักกันแล้วแต่ยังไปหลงรักคนอื่น
- แจงสี่เบี้ย หมายถึง การพูดชี้แจงหรืออธิบายอย่างละเอียดถี่ถ้วน
- ไก่ได้พลอย หมายถึง การที่ได้ของมีค่ามาแต่ไม้รู้คุณค่าของสิ่งนั้น
- ไข่ในหิน หมายถึง ของที่ต้องระมัดระวังทะนุถนอมและหวงอย่างยิ่ง ไม่ยอมให้ไครมาทำอันตรายเด็ดขาดหรือเข้ามาเกี่ยวข้องได้โดยง่าย
- ไฟไหม้ฟาง หมายถึง อารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างวู่วาม สักพักก็หาย
สำนวนไทย ถือเป็นภูมิปัญญาทางภาษาและวัฒนธรรมของไทย ที่สืบสานกันมาจนถึงปัจจุบัน และยังคงมีการใช้งานในชีวิตประจำวันอยู่เรื่อย ๆ แต่กาลเวลาเปลี่ยน บริบทและความหมายที่แฝงไว้ในสำนวนไทยอาจจะมีเปลี่ยนไปบ้าง ดังนั้น หากจะมีการหยิบยกสำนวนต่าง ๆ มาใช้ ก็ควรรู้คำแปล ความหมาย ที่มา ประกอบให้ชัดเจนเพื่อจะได้ใช้อย่างเหมาะสมและถูกกาลเทศะด้วยนั่นเอง