การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ

ในภาษาไทยหรือแม้กระทั่งภาษาอื่น ๆ ต่างก็มีเครื่องหมายที่ใช้สำหรับการเขียนเพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจตรงกัน หรือให้ผู้อ่านเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และใช้เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่จะใช้ให้เป็นแบบแผนเดียวกัน การใช้เครื่องหมายต่าง ๆ ในภาษาไทยมีหลักการใช้ สรุปได้ดังนี้

  ในภาษาไทยหรือแม้กระทั่งภาษาอื่น ๆ ต่างก็มีเครื่องหมายที่ใช้สำหรับการเขียนเพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจตรงกัน หรือให้ผู้อ่านเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และใช้เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่จะใช้ให้เป็นแบบแผนเดียวกัน การใช้เครื่องหมายต่าง ๆ ในภาษาไทยมีหลักการใช้ สรุปได้ดังนี้

 

เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น

1.มหัพภาค (.)

ใช้เพื่อแสดงว่าจบประโยคหรือจบความ

 

2.จุด (.)

-ใช้เขียนไว้หลังตัวอักษรเพื่อแสดงว่าเป็นอักษรย่อ เช่น ร.ป.ภ. ย่อมาจาก รักษาความปลอดภัย

-ใช้เขียนไว้หลังตัวอักษรหรือตัวเลขที่บอกลำดับข้อ เช่น ก. 1.

-ใช้คั่นตัวเลขระหว่างชั่วโมงกับนาทีในการบอกเวลา เช่น 12.30 น.

-ใช้เป็นจุดทศนิยม เช่น 8.88

 

3.จุลภาค หรือ จุดลูกน้ำ (,)

-ใช้แยกวลีหรืออนุประโยคเพื่อกันความสับสน

-ใช้คั่นรายการที่เขียนต่อ ๆ กันตั้งแต่ 3 รายการขึ้นไป

-ใช้ในการเขียนบรรณานุกรม ดรรชนี และนามานุกรม

 

4.อัฒภาค (;)

-ใช้แยกประโยคเปรียบเทียบออกจากกัน

-ใช้คั่นระหว่างประโยคที่มีรูปประโยคและใจความสมบูรณ์อยู่แล้ว เพื่อแสดงความต่อเนื่องอย่างใกล้ชิดของประโยคนั้น

 

5.ทวิภาค (:)

-ใช้ไขความแทนคำ “คือ” หรือ “หมายถึง” เช่น เพชรมงกุฎ : ลิลลิตเพชรมงกุฎ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ

-ใช้คั่นบอกเวลา เช่น 6 : 30 : 25

 

6.ต่อ (:)

-ใช้แสดงอัตราส่วนละมาตราส่วน เช่น ใส่น้ำและน้ำตาลในอัตราส่วน 2 : 3

-ใช้แสดงสัดส่วน ในการผสมปูนคอนกรีตใช้ปูนซีเมนต์ หิน และทรายในสัดส่วน 1 : 2 : 3

 

7.วิภัชภาค (:-)

ใช้หลังคำ “ดังนี้” “ดังต่อไปนี้” เพื่อแจกแจงรายการ รายการที่ตามหลังเครื่องหมายวิภัชภาคให้ขึ้นย่อหน้าใหม่ และใช้กับรายการที่แจกแจงครบทุกรายการ

 

8.ยัติภังค์ (-)

-ใช้เขียนไว้สุดบรรทัดเพื่อต่อพยางค์หรือคำสมาส ซึ่งจำเป็นต้องเขียนแยกบรรทัดกันเนื่องจากเนื้อที่จำกัด

-ใช้เขียนแยกพยางค์เพื่อบอกคำ เช่น ปฏิรูป อ่านว่า ปะ-ติ-รูบ

-ใช้ในความหมายว่า “ถึง” เพื่อแสดงช่วงเวลา จำนวน สถานที่  ฯลฯ เช่น รถจะมารับเวลา 08.00 – 08.30 น.

 

9.ยัติภาค (—)

-ใช้ในความหมายว่า “และ” หรือ “กับ” เพื่อบอกความสัมพันธ์ของคำ ๒ คำ เช่น ภาษาตระกูลไทย — จีน

-ใช้ขยายความ เช่น ถิ่น—พายัพ (หมายความว่า เป็นภาษาถิ่นที่ใช้ในภาคพายัพ)

-ใช้แทนคำว่า “เป็น” เช่น พจนานุกรมไทย—อังกฤษ

-ใช้แสดงลำดับย่อยของรายการที่ไม่ต้องการใส่ตัวอักษรหรือตัวเลขบอกลำดับข้อ

 

10.วงเล็บ หรือ นขลิขิต ( )

-ใช้กันข้อความที่ขยายหรืออธิบายจากข้อความอื่น ข้อคาวมในระหว่างวงเล็บ จะอ่านหรือไม่ก็ได้โดยไม่ทำให้เนื้อความเสียไป เช่น  ทุกขสมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์)

-ใช้ขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น เจ้าพระยาพระคลัง (หน)

-ใช้กันตัวอักษรหรือตัวเลขที่เป็นหัวข้อ อาจใช้เพียงเครื่องหมายวงเล็บปิดอย่างเดียวก็ได้ เช่น (ก) หรือ ก)

 

11.วงเล็บเหลี่ยม [ ]

-ใช้กันคำหรือข้อความที่ขยายหรืออธิบายจากข้อความอื่นในอีกลักษณะหนึ่ง เมื่อข้อความนั้นได้มีการใช้เครื่องหมายวงเล็บแบบอื่นด้วย [ป. กต ว่า (อุปการคุณ) ที่ท่านทำแล้ว + ญู ว่า ผู้รู้]

-ใช้บอกคำอ่านในหนังสือประเภทพจนานุกรม เช่น ขนง [ขะหฺนง]

-ใช้ในวิชาคณิตศาสตร์เพื่อกั้นกลุ่มตัวเลขกลุ่มสัญลักษณ์ที่มีวงเล็บอื่นอยู่แล้วไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน

 

12.วงเล็บปีกกา { }

ใช้รวบคำหรือข้อความที่อยู่คนละบรรทัดเข้าด้วยกัน เพื่อให้รู้ว่าเป็นกลุ่มเดียวกันหรือเชื่อมโยงกัน อาจใช้เพียงข้างใดข้างหนึ่งก็ได้

 

13.ปรัศนี (?)

ใช้เมื่อสิ้นสุดข้อความหรือประโยคที่เป็นคำถาม หรือใช้แทนคำถาม

 

14.อัศเจรีย์ (!)

-ใช้เขียนหลังคำ วลี หรือประโยคที่เป็นคำอุทาน เช่น พระเจ้าช่วย !

-ใช้เขียนไว้หลังคำเลียนเสียงธรรมชาติ เพื่อให้ผู้อ่านทำเสียงได้เหมาะสมกับเหตุการณ์ เช่น โครม !

-ใช้เขียนหลังข้อความสั้น ๆ ที่ต้องการเน้นเป็นคำสั่งหรือคำเตือน เช่น ระวังน้ำลึก !

 

15.อัญประกาศ (“ ”)

-ใช้เพื่อแสดงว่าคำหรือข้อความนั้นเป็นคำพูด บทสนทนา หรือความนึกคิด

-ใช้เพื่อแสดงว่าคำหรือข้อความนั้นคัดมาจากที่อื่น

-ใช้เพื่อเน้นความให้ชัดเจนขึ้น

 

16.ไข่ปลา หรือ จุดไข่ปลา (...)

ใช้สำหรับละข้อความที่ไม่ต้องการเพื่อจะชี้ว่า ข้อความที่นำมากล่าวนั้นตัดตอนมาเพียงบางส่วน ใช้ได้ทั้งตอนขึ้นต้น ตอนกลาง และตอนลงท้ายข้อความ

 

17.บุพสัญญา ( ” )

ใช้เขียนแทนคำหรือข้อความที่ซ้ำกับบรรทัดบน โดยเขียนไว้ใต้คำหรือข้อความนั้นเพื่อไม่ต้องเขียนซ้ำอีก

 

18.ทับ ( / )

-ใช้คั่นระหว่างจำนวนเลข เพื่อแบ่งจำนวนย่อยออกจากจำนวนใหญ่ เช่น บ้านเลขที่ 65/13

-ใช้ขีดคั่นระหว่างเลขบอกลำดับกับเลขศักราช เช่น ค่ำสั่งที่ 14/2562

-ใช้ขีดคั่นระหว่างตัวเลขที่แสดง วัน เดือน ปี เช่น 21/11/2562

-ใช้คั่นระหว่างคำ แทนคำว่า “หรือ” หมายความว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ชาย/หญิง

 

19.ไม้ยมก หรือ ยมก (ๆ)

ใช้เขียนหลังคำ วลี หรือประโยค เพื่อให้อ่านซ้ำคำ วลี หรือประโยคอีกครั้งหนึ่ง

 

20.ไปยาลน้อย หรือ เปยยาลน้อย (ฯ)

-ใช้ละคำที่รู้กันดีแล้ว โดยละส่วนท้ายไว้เหลือแต่ส่วนหน้าของคำพอเป็นที่เข้าใจ เช่น กรุงเทพฯ

-ใช้เป็นคำนำหน้าชื่อหรือตำแหน่งข้ารราชการชั้นผู้ใหญ่ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีขึ้นไปและเอกอัครราชทูต เป็นต้น เช่น ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี

 

21.ไปยาลใหญ่ หรือ เปยยาลใหญ่ (ฯลฯ)

ใช้สำหรับละข้อความข้างท้ายที่อยู่ในประเภทเดียวกัน ซึ่งยังมีอีกมากแต่ไม่ได้นำมาแสดงไว้ เช่น ผลไม่ส่งออกที่สำคัญของไทยมีทั้ง มะม่วง มะละกอ ทุเรียน ฯลฯ


ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับคำในภาษาไทย

พจนานุกรมไทยแปลไทย หาความหมายของคำภาษาไทย พร้อมคำอ่านพจนานุกรมภาษาไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลคำศัพท์ ค้นหาความหมายของคำศัพท์ออนไลน์ ใช้งานง่าย มีหมวดหมู่

 หมวดหมู่ ภาษาไทย
ชอบเนื้อหาชุดนี้ กดให้คะแนน 5 ดาวกับเราได้เลยจ้า
 แสดงความคิดเห็น