ทันการ, ทันกาล และทันการณ์ คำไหนถูก

คำในภาษาไทยมักสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้อยู่เสมอ แม้แต่คนไทยที่ใช้ภาษาไทยเป็นประจำอย่างเรา ๆ ในบางครั้งยังเกิดความไม่แน่ใจว่าคำนั้นต้องเขียนและสะกดอย่างไรให้ถูกต้อง

คำในภาษาไทยมักสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้อยู่เสมอ แม้แต่คนไทยที่ใช้ภาษาไทยเป็นประจำอย่างเรา ๆ ในบางครั้งยังเกิดความไม่แน่ใจว่าคำนั้นต้องเขียนและสะกดอย่างไรให้ถูกต้อง และหนึ่งในคำที่ทำให้เกิดการสับสนนั่นคือคำว่า ทันการ ทันกาล และทันการณ์ โดยทั้งสามคำเป็นคำพ้องเสียง อ่านเหมือนกันหมดว่า /ทัน – กาน/ แต่มีวิธีการสะกดที่ต่างกัน ซึ่งทำให้หลายคนไม่แน่ใจว่านอกจากเป็นคำพ้องเสียงกันแล้ว คำเหล่านี้ยังเป็นคำพ้องความหมายกันหรือไม่ ต้องใช้คำไหนถึงจะถูกต้องตามบริบท

 

วันนี้มีคำตอบให้กับคำถามที่หลายคนสงสัย ดังนี้

 

ทันการ, ทันกาล และทันการณ์ ความหมาย?

ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่าทั้งสามคำนี้ไม่ได้มีการให้ความหมายไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่มีเพียงคำเดียวที่ปรากฏนั่นคือคำว่า “ทันกาล” และถ้าแยกพยางค์ของทั้งสามคำออกเป็นสองคำคือคำว่า ทัน และ การ, กาล, การณ์ จะมีการให้ความหมายของคำไว้ดังต่อไปนี้

          ทัน หมายถึง      (๑) ว. เป็นไปตามเวลาที่กำหนด, เป็นไปพอดีกับเวลาที่กำหนด, เช่น ทันกาล ทันเวลา

                               (๒) ว. ตามไปถึง เช่น เรียนทัน วิ่งทัน

                               (๓) ว. เท่า, เทียมถึง, เช่น รู้ทันคน

                               (๔) ว. เสมอด้วย เช่น อันว่าผู้จะทำนายฝนนแลจะทันพระศรีสรรเพชญ์ เสด็จภูมีบาลในสงสารภพนี้ก็บมี โสดแล (ม. คำหลวง กุมาร)

          การ หมายถึง     น. งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทำ, มักใช้เข้าคู่กับคำ งาน เช่น การงาน เป็นการเป็นงาน ได้การได้งาน, ถ้าอยู่หน้านาม หมายความว่า เรื่อง, ธุระ, หน้าที่, เช่น การบ้าน การครัว การคลัง การเมือง, ถ้าอยู่หน้ากริยา ทำกริยาให้เป็นนาม เช่น การกิน การเดิน

          กาล หมายถึง     น. เวลา, คราว, ครั้ง, หน

          การณ์ หมายถึง  น. เหตุ, เค้า, มูล, เช่น รู้เท่าไม่ถึงการณ์ สังเกตการณ์

          จะเห็นว่าทั้งสามคำพ้องเสียงกันแต่มีความหมายที่แตกต่างกัน แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าคำไหนใช้ถูกต้อง เหมาะสมกับบริบทของประโยค มาดูกันเลย

          เมื่อทั้งสามคำประกอบขึ้นจากคำว่า “ทัน” ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์ รวมกับคำว่า “การ, กาล และการณ์” ที่เป็นคำนาม ดังนั้น คำว่า “ทันการ” จึงหมายถึง ทันต่อการใช้งาน ทันต่อสิ่งที่จะกระทำ ใช้ในบริบทที่ต้องการสื่อถึงการตอบสนองได้ทันท่วงทีที่ต้องลงมือกระทำการใดที่ต้องพึ่งการจัดการนั้น มี “งาน หรือ การกระทำ” เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา เช่น เมื่อส่วนราชการผู้ยืมมีความจำเป็นต้องใช้พัสดุนั้นเป็นการรีบด่วน จะดำเนินการจัดหาได้ไม่ทันการ

          ส่วนคำว่า “ทันกาล” นั้นหมายถึง ทันเวลา, ดำเนินการเสร็จสิ้นตามกำหนดเวลา ใช้ในบริบทที่ต้องการสื่อถึงการดำเนินการที่ทันเวลา มี “เวลา” เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา เช่น อย่ามัวชักช้าเดี๋ยวงานจะเสร็จไม่ทันกาล

          และคำว่า “ทันการณ์” หมายถึง ทันต่อเหตุการณ์ ใช้ในบริบทที่ต้องการสื่อถึงการปฏิบัติหรือดำเนินการได้ทันต่อเหตุการณ์นั้น ๆ มี “เหตุการณ์” เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา เช่น ปัจจุบันเราสามารถรายงานข่าวได้รวดเร็วทันการณ์ เพราะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย

 

ทันการ

ทันการ หมายถึง ทันต่อการใช้งาน ทันต่อสิ่งที่จะกระทำ

 

ทันกาล

ทันกาล นั้นหมายถึง ทันเวลา, ดำเนินการเสร็จสิ้นตามกำหนดเวลา

 

ทันการณ์

ทันการณ์ หมายถึง ทันต่อเหตุการณ์


          สรุปได้ว่าเราสามารถพบเจอและใช้ได้ทั้ง “ทันการ” “ทันกาล” และ “ทันการณ์” ในบริบทของประโยคการสื่อสารที่ต่างกัน ดังนั้นหากนำไปใช้ผิดหรือสะกดผิดสลับกัน อาจทำให้ความหมายเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย แต่อย่างไรก็ตามภาษาไทยไม่ใช่ภาษาที่ตายแล้วในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลง และมีการกำหนดการใช้คำ ความหมายของคำเหล่านี้ให้ชัดเจน ทางเราจะนำมาอัปเดตให้ผู้อ่านทุกคนนำไปใช้ได้ถูกต้องยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

 


ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับคำในภาษาไทยที่มักเขียนผิด

รวมคำที่มักเขียนผิดในภาษาไทย คำไหนไม่มั่นใจ มาเช็กกันเลย!มีหลายคำที่เขียนผิดกันจนชินตา แต่เราต้องแก้ไขให้ถูกต้อง เช่น อนุญาต ไม่ใช่ อนุญาติ; นะคะ ไม่ใช่ นะค่ะ

 หมวดหมู่ ภาษาไทย
ชอบเนื้อหาชุดนี้ กดให้คะแนน 5 ดาวกับเราได้เลยจ้า
จำนวนผู้ให้คะแนน: 1   คะแนนเฉลี่ย: 5.0
 แสดงความคิดเห็น