การใช้สระในภาษาไทย
วันนี้ผมมีบทความเกี่ยวกับหลักภาษาไทยมาให้ผู้อ่านได้ลองศึกษากันโดยเราจะขอพูดถึงเรื่องของสระ นั้นก็คือการใช้สระ อย่างที่เคยกล่าวว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่มีเอกลักษณ์และมีความยากในตัว แม้กระทั่งคนไทยเองยังเกิดความสับสน ในเรื่องการใช้สระก็เช่นเดียวกันบางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องง่ายและบางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่ยาก ผมจึงรวบรวมและสรุปสาระสำคัญเรื่องการใช้สระในภาษาไทยไว้ดังนี้
การใช้สระในภาษาไทย
การใช้สระ สระในภาษาไทยจะเขียนลำพังโดยที่ไม่มีพยัญชนะไม่ได้ ยกเว้น ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ ถึงแม้ว่าจะต้องการใช้สระนั้นโดด ๆ ก็ต้องมีตัว อ กำกับอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เช่น ต้องการเขียนคำว่า “อ่าน” ก็ไม่สามารถเขียนเป็น 'าน ได้ เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาคำติดต่อ เมื่อนำคำนี้ไปประกอบกับคำอื่นให้เป็นวลีหรือประโยคจะเกิดความกำกวมได้ เช่น ต้องการเขียนว่า นอนอ่าน หากเขียนเป็นนอน'าน อาจจะทำให้เข้าใจผิดคิดว่า นอน่าน ได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาหลักเกณฑ์การใช้สระที่ถูกต้อง ซึ่งการนำสระไปประกอบกับพยัญชนะมี 5 วิธี ได้แก่ คงรูป ลดรูป แปลงรูป ตัดรูป และเติมรูป สรุปได้ดังนี้
- คงรูป คือ การเขียนรูปสระให้ปรากฏชัดเจน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ได้แก่ สระ อะ อื เอะ แอะ โอะ เอาะ ออ เออ เอีย อัวะ อัว
ตัวอย่างเช่นคำว่า มะระ ปะทะ กระจาย ตระกูล ผืน คืน เละ เตะ แพะ แกะ โปะ โละ เกาะ เคาะ ขอ พ่อ เสีย เพลีย ผัวะ กลัว วัว เป็นต้น
- ลดรูป คือ การเขียนรูปสระไม่ตรงกับรูปเดิม ซึ่งจะต้องออกเสียงให้ตรงกับรูปสระเดิมโดยแบ่งเป็นลดรูปทั้งหมดกับลดรูปบางส่วน ได้แก่ สระ อะ เอะ โอะ เอาะ ออ เออ เอีย อัวะ อัว
ตัวอย่างเช่น -สระ อะ พยางค์ที่เป็นอักษรนำ เช่น ขนม ฉลอง ผนวช ฝรั่ง สมาน เป็นต้น -สระ อะ คำยกเว้น เช่น ณ (ที่ใน) ณ ที่แห่งนั้น ท (คน ท่าน) ทนาย ธ (ท่าน) ธ ประสงค์ใด พ (พ่อ พระ) พนักงาน พณ (พ่อเหนือ) เช่น ฯพณฯ -สระ อะ ตัวสะกดที่นิยมออกเสียงหนัก เช่น สกปรก จักจั่น ตั๊กแตน สัพยอก เป็นต้น -สระ อะ แผลงมาจากคำเดิมที่ไม่ประวิสรรชนีย์ เช่น ชรอุ่ม ชไม ชอุ่ม เป็นต้น -สระ อะ พยางค์ที่ออกเสียงเบา เช่น ขโมย สไบ เป็นต้น -สระ อะ พยางค์ที่ไม่ใช่พยางค์สุดท้าย เช่น คติ จริยา กตัญญู สปริง อเมริกา เป็นต้น -สระ เอะ พยางค์ที่มีตัวสะกดและรูปวรรณยุกต์กำกับ เช่น เก่ง เล่น เว้น เปล่ง เผ่น เป็นต้น -สระ โอะ พยางค์ที่มีตัวสะกดจะลดรูปสระทั้งหมด เช่น คน นก จม สด เป็นต้น -สระ เอาะ พยางค์ที่มีตัวสะกดจะลดรูปเดิมทั้งหมดแล้วเติม อ และไม้ไต่คู้ เช่น น็อต ล็อก เป็นต้น -สระ ออ คำไทย เช่น บ บ่ (ไม่) จระเข้(สัตว์) เป็นต้น -สระ ออ คำภาษาอื่นที่มี ร สะกด เช่น กร พร สมร ละคร เป็นต้น -สระ ออ คำบาลี สันสกฤตที่มีพยางค์หน้า ป แต่แผลงเป็น บ เช่น บดี บรม บพิตร เป็นต้น -สระ ออ คำบาลี สันสกฤตที่ออกเสียง จ ท ธ น ม ว ศ ษ ส ห อ และมี ร ตาม เช่น จรลี ทรชน ธรณี มหรสพ อรพินท์ อักษรศาสตร์ เป็นต้น -สระ เออ พยางค์ที่มีตัวสะกด ย สะกด จะลดตัว อ เช่น เขย เคย เชย เลย เป็นต้น -สระ เอีย คำโบราณปัจจุบันไม่นิยมใช้ เช่น สยง(เสียง) รยน(เรียน) เป็นต้น -สระ อัว พยางค์ที่มีตัวสะกดจะลดไม้หันอากาศ เช่น กวย สวย ลวก เป็นต้น
- แปลงรูป คือ การแปลงสระรูปเดิมให้เป็นอีกรูปหนึ่งได้แก่ สระ อะ เอะ แอะ เอาะ เออ อัว
ตัวอย่างเช่น -พยางค์ที่มีตัวสะกดสระ อะ จะแปลงเป็นไม้หันอากาศ เช่น กับ รัก นับ มัน เป็นต้น -สระ อะ แปลงเป็น ร หัน เช่น กรรม ธรรมะ จรรยา เป็นต้น -สระ เอะ พยางค์ที่มีตัวสะกดจะแปลงวิสรรชนีย์เป็นไม้ไต่คู้ เช่น เก็ง เพ็ญ เป็นต้น -สระ แอะ พยางค์ที่มีตัวสะกดจะแปลงวิสรรชนีย์เป็นไม้ไต่คู้ เช่น แข็ง เป็นต้น -สระ เอาะ ในภาษาไทยมีเพียงคำเดียว คือ ก็ มาจาก เก้าะ -สระ เออ พยางค์ที่มีตัวสะกดจะแปลงตัว อ เป็น อิ ยกเว้นสะกดด้วยตัว ย เช่น เกิด เพลิง เลิก เดิน เป็นต้น
- ตัดรูป คือ การตัดรูปและตัดเสียงสระ อะ ที่เป็นสระหน้าของคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต
ตัวอย่างเช่น -สระอัว คำโบราณปัจจุบันไม่นิยมใช้ เช่น หวว(หัว) ตวว(ตัว) เป็นต้น -สระอะ ตัดรูปและตัดเสียง อะ เช่น อดิเรก เป็น ดิเรก, อภิรมย์ เป็น ภิรมย์ เป็นต้น 5.เติมรูป คือ การเพิ่มรูป ตัวออ (อ) ในสระ อื ที่พยางค์ไม่มีตัวสะกด ตัวอย่างเช่น คือ ถือ มือ ลือ เป็นต้น
เมื่อลองศึกษาแล้วก็มีหลายเสียงบอกว่าง่ายและอีกหลายเสียงบอกว่ายาก ซึ่งก็อาจคิดได้ทั้งสองแบบว่าง่ายและยากเพราะว่าหลักในการเรียนเรื่องนี้คงต้องอาศัยการจำและการใช้อย่างเป็นประจำ แต่คงไม่ยากเกินไปหากลองศึกษาอย่างตั้งใจ ลองศึกษากันดูนะครับ แล้วเจอกันในบทความดีๆครั้งหน้า