วรรณคดี หมายถึงอะไร?
เรียนรู้ภาษาไทยในวันนี้ เรามาทำความรู้จักกับ “วรรณคดี” กันนะครับ ว่ามีความหมายว่าอย่างไร และมีกี่แบบ
วรรณคดี หมายถึงอะไร?
ความหมายของ วรรณคดี ในพจนานุกรมไทย บัญญัติไว้ว่า
- วรรณคดี หมายถึง การเกี่ยวกับคำร้อยกรองและบทประพันธ์ต่างๆ, หนังสือที่แต่งไว้ถูกต้องตามหลักของภาษา ในความหมายอย่างกว้างหมายถึงหนังสือทั่ว ๆ ไป
- วรรณคดี หมายถึง วรรณกรรมหรืองานเขียนที่ยกย่องกันว่าดี มีสาระ และมีคุณค่าทางวรรณศิลป์
- วรรณคดี คือ วรรณกรรมที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดีมีคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ถึงขนาด เช่น พระราชพิธีสิบสองเดือน มัทนะพาธาสามก๊ก เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน
วรรณคดีเป็นวรรณกรรมหรืองานเขียนที่ยกย่องกันว่าดี มีสาระ และมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ สามารถทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์สะเทือนใจ มีความคิดเป็นแบบแผน เหมาะแก่การเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้เรียนรู้ เพราะ สามารถยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นได้ รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร
เริ่มใช้วรรณคดีเพื่อประเมินค่าของวรรณกรรม ตั้งแต่เมื่อไหร่?
การใช้คำว่าวรรณคดีเพื่อประเมินค่าของวรรณกรรมเกิดขึ้นในพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่ 6 (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ณ วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2457
ประเภทของวรรณคดี
วรรณคดีแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
- วรรณคดีมุขปาฐะ คือ วรรณคดี แบบที่เล่ากันมาปากต่อปาก ไม่ได้บันทึกไว้ เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น เพลงพื้นบ้าน นิทานชาวบ้าน บทร้องเล่น
- วรรณคดีราชสำนัก หรือ วรรรคดีลายลักษณ์ คือ วรรณคดี แบบที่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ไตรภูมิพระร่วง พระอภัยมณี อิเหนา ลิลิตตะเลงพ่าย
วรรณคดีในภาษาไทย
วรรณคดีในภาษาไทย ตรงกับคำว่า "Literature" ในภาษาอังกฤษ
โดยคำว่า Literature ในภาษาอังกฤษมาจากภาษาลาติน แปลว่า การศึกษา ระเบียบของภาษา
สำหรับในภาษาไทย วรรณคดี ปรากฏครั้งแรกในหนังสือพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสร วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 โดยมีความหมายคือ หนังสือที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี นั้นคือมีการใช้ภาษาอย่างดี มีศิลปะการแต่งที่ยอดเยี่ยมทั้งด้านศิลปะการใช้คำ ศิลปะการใช้โวหารและถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ และภาษานั้นให้ความหมายชัดเจน ทำให้เกิดการโน้มน้าวอารมณ์ผู้อ่านให้คล้องตามไปด้วย
กล่าวง่าย ๆ คือ เมื่อผู้อ่าน ๆ แล้วทำให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ตื่นเต้นดื่มด่ำ หนังสือเล่มใดอ่านแล้วมีอารมณ์เฉย ๆ ไม่ซาบซึ้งตรึงใจและทำให้น่าเบื่อถือว่าไม่ใช่วรรณคดี
หนังสือที่ทำให้เกิดความรู้สึกดื่มด่ำดังกล่าวนี้จะต้องเป็นความรู้สึกฝ่ายสูง คือทำให้เกิดอารมณ์ความนึกคิดในทางที่ดีงาม ไม่ชักจูงในทางที่ไม่ดี
ประเภทของวรรณคดีตามลักษณะเนื้อหา
การศึกษาวรรณคดีโดยวิเคราะห์ตามประเภทหรือลักษณะของเนื้อหา สามารถแบ่งย่อยได้เป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้
- วรรณคดีคำสอน
- วรรณคดีศาสนา
- วรรณคดีนิทาน
- วรรณคดีลิลิต
- วรรณคดีนิราศ
- วรรณคดีเสภา
- วรรณคดีบทละคร
- วรรณคดีเพลงยาว
- วรรณคดีคำฉันท์
- วรรณคดียอพระเกียรติ
- วรรณคดีคำหลวง
- วรรณคดีปลุกใจ
จะเห็นได้ว่า คำว่า วรรณคดี เป็นการจัดกลุ่มหรือเป็นประเภทของวรรณกรรม โดยต้องเป็นวรรณกรรมที่เขียนได้ดีนั่นเอง เดี๋ยวบทความหน้า เราไปดูเรื่อง วรรณกรรม กันต่อครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/วรรณคดี