คำสันธาน
มาพบกันอีกครั้งกับบทความเรื่องที่เกี่ยวกับความรู้ในหลักภาษาไทยอีกเช่นเคย
วันนี้เราจะหยิบยกเรื่อง คำสันธาน มาฝากผู้อ่านกัน เนื้อหาในเรื่องนี้ไม่ได้ยากนักและเชื่อว่าหากผู้อ่านได้เรียนรู้ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ในทันทีและไม่สร้างความสับสนให้ผู้อ่านอีกต่อไปอย่างแน่นอน ถ้าอย่างนั้นมาลองดูกันเลย
คำสันธาน คืออะไร?
ความหมายของคำสันธาน
ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ (๒๕๕๖ : ๑๒๐๗) ได้ให้ความหมายคำว่า สันธาน ไว้ว่าคำพวกที่เชื่อมประโยคให้เกี่ยวเนื่องกัน เช่น เขาชอบสีเหลืองแต่ฉันชอบสีแดง น้ำท่วมเพราะฝนตกหนัก
ราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๕๒ : ๓๒๓ ) อธิบายคำว่า คำสันธาน หมายถึง คำเชื่อมความให้ติดกัน เช่น แต่ ถ้า
นพดล จันทร์เพ็ญ (๒๕๕๗ : ๓๗) ให้ความหมายของคำสันธาน หมายถึง คำที่ใช้เชื่อมคำหรือข้อความให้ต่อเนื่องกัน คำสันธานนั้นเป็นคำเดียวก็มี เช่น และ แต่ เป็นกลุ่มคำก็มี เพราะฉะนั้น แต่ทว่า หรือ มิฉะนั้น เป็นกลุ่มคำแยกกันก็มี เช่น ฉันใด...ฉันนั้น คงจะ...ถึง ถ้า...ก็
วิเชียร เกษประทุม (๒๕๕๗ : ๕๑) อธิบายความหมายของ คำสันธาน หมายถึง คำที่ใช้เชื่อมต่อถ้อยคำให้ติดต่อเป็นเรื่องเดียวกัน
โดยสรุปแล้ว คำสันธาน หมายถึง คำที่ใช้เชื่อมข้อความให้มีความหมายต่าง ๆ ได้แก่ คล้อยตามกัน ขัดแย้งกัน เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง และเป็นเหตุเป็นผลกัน
การจำแนกชนิดของคำสันธาน
คำสันธานสามารถแบ่งได้เป็น ๔ ชนิด ได้แก่
- คำสันธานที่เชื่อมความคล้อยตามกัน
- คำสันธานที่เชื่อมความขัดแย้งกัน
- คำสันธานที่เชื่อมข้อความให้เลือก
- คำสันธานที่เชื่อมความที่เป็นเหตุเป็นผลกัน
โดยมีรายละเอียดดังนี้
๑. คำสันธานที่เชื่อมความคล้อยตามกัน
ได้แก่ ครั้น... ครั้น...จึง ครั้น...แล้ว เมื่อ...ก็ ทั้ง...ก็ ทั้ง...และ ดังตัวอย่าง ทั้งครูและนักเรียนรู้สึกยินดีที่ได้รับรางวัล เมื่อเรียนจบชั้นประถมแล้วฉันก็เรียนต่อชั้นมัธยม ครั้นเมื่อตรวจสอบรายชื่อครบแล้วจึงให้เข้าห้องสอบ
๒.คำสันธานที่เชื่อมความขัดแย้งกัน
ได้แก่คำว่า แต่ แต่ว่า กว่า...ก็ ถึง...ก็ ดังตัวอย่าง
ถึงอย่างไรฉันก็ยังรักเธอเสมอ
เธอหมดรักฉันแต่ฉันไม่หมดรักเธอ
ถึงเธอจะไม่มีใครแล้วแต่เธอก็ยังมีฉัน
๓. คำสันธานที่เชื่อมข้อความให้เลือก
ได้แก่คำว่า หรือ หรือไม่...ก็ หรือไม่ก็ ไม่เช่นนั้น ตัวอย่างเช่น
คุณจะอ่านหนังสือหรือไม่
เธอจะไปน้ำตกหรือไปทะเล
เขาจะส่งงานหรือไม่ก็ไปขอคำปรึกษากับอาจารย์
๔.คำสันธานที่เชื่อมความที่เป็นเหตุเป็นผล
ได้แก่คำว่า เพราะ เพราะว่า ฉะนั้น...จึง ดังนั้น เหตุเพราะ เพราะฉะนั้น...จึง ดังตัวอย่าง
เขาสอบได้ที่หนึ่งเพราะตั้งใจอ่านหนังสือ
เพราะว่าไม่คิดให้รอบคอบจึงทำให้เดือดร้อน
เหตุเพราะเขาขับรถประมาทจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุ
เมื่ออ่านจนจบมาถึงตรงนี้ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเนื้อหาที่นำมาฝากกันในวันนี้ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การเรียนรู้เรื่องหลักภาษาของผู้อ่านมีประสิทธิภาพและสร้างประโยชน์กับตัวผู้อ่านเองได้ไม่มากก็น้อย แล้วเจอกันในบทความดีๆครั้งหน้า