ภาษาไทย

การใช้สระ

หากกล่าวถึงหลักภาษาสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ สระ หลายคนรู้จักสระในภาษาไทยกันดี แต่รู้การใช้สระหรือไม่ว่าเป็นอย่างไร วันนี้เราจะมาหาคำตอบนั้น มาดูกันเลย

 

สระในภาษาไทยจะเขียนลำพังโดยที่ไม่มีพยัญชนะไม่ได้ ยกเว้น ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ ถึงแม้ว่าจะต้องการใช้สระนั้นโดด ๆ ก็ต้องมีตัว อ กำกับอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เช่นต้องการเขียนคำว่า “อ่าน” ก็ไม่สามารถเขียนเป็น 'าน ได้ เนื่องจาก ภาษาไทยเป็นภาษาคำติดต่อ เมื่อนำคำนี้ไปประกอบกับคำอื่นให้เป็นวลีหรือประโยคจะเกิดความกำกวมได้ เช่น ต้องการเขียนคำว่า นอนอ่าน หากเขียนเป็น นอน ' าน อาจจะทำให้เข้าใจผิดคิดว่า นอน่าน ได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาหลักเกณฑ์การใช้สสระที่ถูกต้อง ซึ่งการนำสระไปประกอบกับพยัญชนะมี ๕ วิธี ได้แก่ คงรูป ลดรูป แปลงรูป ตัดรูป และเติมรูป ดังนี้

๑.คงรูป คือ การเขียนรูปสระให้ปรากฏชัดเจน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ  ได้แก่ สระ อะ อื เอะ แอะ โอะ เอาะ ออ เออ เอีย อัวะ อัว

ตัวอย่างเช่น สระอะ คำว่า ปะทะ กระจาย ,สระโอะ คำว่า โละ โปะ เป็นต้น

๒.ลดรูป คือ การเขียนรูปสระไม่ตรงกับรูปเดิม ซึ่งจะต้องออกเสียงให้ตรงกับรูปสระเดิม โดยแบ่งเป็นลดรูปทั้งหมดกับลดรูปบางส่วน ได้แก่ สระ อะ เอะ โอะ เอาะ ออ เออ เอีย อัวะ อัว

ตัวอย่างเช่น สระเอะ คำว่า เก่ง เล่น เปล่ง ,สระอัว คำว่า กวน สวย ลวก เป็นต้น

๓.แปลงรูป คือ การแปลงสระรูปเดิมให้เป็นอีกรูปหนึ่ง ได้แก่ สระ อะ เอะ แอะ เอาะ เออ อัว

ตัวอย่างเช่น สระอะ คำว่า กับ รัก นับ มัน ,สระเอะ คำว่า เก็ง เพ็ญ เป็นต้น

๔.ตัดรูป คือ การตัดรูปและตัดเสียงสระ อะ ที่เป็นสระหน้าของคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต

ตัวอย่างเช่น สระอะ คำว่า อดิเรก เป็น ดิเรก อภิรมย์ เป็น ภิรมย์

๕.เติมรูป คือ การเพิ่มรูป ตัวออ (อ) ในสระ อื

ตัวอย่างเช่น สระอื คำว่า คือ ถือ มือ เป็นต้น


เนื้อหานี้เป็นเพียงความรู้พื้นฐานในการใช้สระที่ทางเรานำมาฝากในวันนี้ เรื่องของการใช้สระยังต้องศึกษาให้ถ่องแท้ เพื่อรู้ถึงสาเหตุการเปลี่ยนแปลงไปของรูปสระ แต่เพียงเท่านี้ก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ประโยชน์จากบทความไม่มากก็น้อย ขอฝากให้ติดตามในบทความต่อ ๆ ไป