50 สำนวนไทย ที่ใช้บ่อย พร้อมความหมายคติสอนใจ
สำนวนไทย หมายถึง ถ้อยคำ กลุ่มคำ หรือประโยคที่ไม่ได้แปลความหมายตรง ๆ แต่มีความหมายเชิงเปรียบเทียบแฝงอยู่ เช่น สอนจระเข้ให้ว่ายนํ้า รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง
คำสุภาษิต หรือ สำนวนสุภาษิต คือ คำในภาษาไทยที่ใช้ในการสื่อสารเชิงเปรียบเทียบอุปมาอุปมัย มักมีความหมายในการตักเตือนสั่งสอนในทางบวก มีความหมายที่ดี เช่น รักยาวให้บั่นรักสั้นให้ต่อ น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ
คำพังเพย หมายถึง ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวเป็นกลาง ๆ เพื่อให้ตีความเข้ากับเรื่อง มีความหมายแฝงอยู่ อาจเป็นคำที่ใช้สื่อในทางเปรียบเปรย หรือในทำนองเสียดสี เช่น กระต่ายตื่นตูม เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย
รวม 50 สํานวนไทยยอดนิยม
- กบเลือกนาย หมายถึง ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาอยู่เรื่อย ๆ
- กบในกะลาครอบ หมายถึง ผู้มีความรู้และประสบการณ์น้อย แต่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก
- กรวดน้ำคว่ำขัน หมายถึง การตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย เลิกไม่คบหาสมาคมกันต่อไป
- กระดูกสันหลังของชาติ หมายถึง คำนี้คือคำเปรียบความสำคัญของชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ ผู้ผลิตอาหาร ปัจจัยหลักของประเทศและของโลกใบนี้
- กระต่ายขาเดียว หมายถึง การยืนกรานไม่ยอมรับผิด ปากแข็งยืนยันคำพูดเดิม
- กระต่ายหมายจันทร์ หมายถึง การที่ผู้ชายฐานะยากจนกว่าฝ่ายหญิงแต่ไปหลงรักหมายปองชอบผู้หญิงที่มีฐานะดีกว่า โอกาสที่จะสมหวังได้นั้นคงค่อนข้างยากเพราะพ่อแม่ของฝ่ายหญิงคงไม่ชอบและคงต้องคอยกีดกัน เปรียบเทียบผู้ชายเป็นเหมือนกระต่ายที่เฝ้ามองดวงจันทร์ที่ลอยสูงเด่นอยู่เหนือท้องฟ้าในยามค่ำคืน ทำอย่างไรก็ไม่มีทางและโอกาสที่จะไปสัมผัสกับดวงจันทร์ได้
- กระต่ายแหย่เสือ หมายถึง การไปล้อเล่น ท้าทายกับผู้ที่มีอำนาจ บารมีมากกว่า ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้
- กระเชอก้นรั่ว หมายถึง สุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบ ขาดการประหยัด
- กลืนไม่เข้าคายไม่ออก หมายถึง การกระทำที่ตัดสินใจไม่ถูก ตัดสินใจได้ยากว่าจะเลือกทางไหน เนื่องจากทั้งสองทาง ก็ส่งผลกระทบด้านลบทั้งสองทางเลือก เปรียบเปรยถึง มีก้างปลาติดอยู่ในคอซึ่งกลืนก็ไม่เข้าท้อง คายก็ไม่สามารถทำได้ง่าย
- กาคาบพริก หมายถึง ลักษณะคนผิวดำแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีแดง
- กำปั้นทุบดิน หมายถึง การพูดแบบกว้าง ๆ อาจจะตรงประเด็นหรือไม่ตรง เป็นการตอบที่ไม่ใช่คำตอบที่ผิด แต่เป็นการตอบที่ไม่ได้ประโยชน์แก่ผู้ฟัง
- กินบนเรือนขี้บนหลังคา หมายถึง คนเนรคุณ ไม่รู้จักบุญคุณคน เหมือนผู้ที่อาศัยพักพิงบ้านเขา แต่กลับทำเรื่องเดือดร้อน สร้างความเสียหาย ให้กับเจ้าของบ้าน
- กินแกงร้อน หมายถึง ทำอะไรจวนตัว มาถึงตัวแล้วเพิ่งจะเริ่มทำ จนทำให้ลนลาน
- กิ้งก่าได้ทอง หมายถึง คนที่ได้ลาภยศแล้วทะนงตนลืมฐานะเดิม
- ไก่ได้พลอย หมายถึง การที่ได้ของมีค่ามาแต่ไม้รู้คุณค่าของสิ่งนั้น
- ขนมพอสมกับน้ำยา หมายถึง ใช้ในการเปรียบเทียบของทั้งสองสิ่งนั้นมีมูลค่า, ความดีความร้าย, ความสามารถ นั้นพอ ๆ กัน ไม่ด้อยไปกว่ากัน
- ไข่ในหิน หมายถึง ของที่ต้องระมัดระวังทะนุถนอมและหวงอย่างยิ่ง ไม่ยอมให้ไครมาทำอันตรายเด็ดขาดหรือเข้ามาเกี่ยวข้องได้โดยง่าย
- คนละไม้คนละมือ หมายถึง ต่างคนต่างช่วยกันทำ ทำด้วยความสามัคคีกัน อย่างตั้งใจช่วยเหลือเกื้อกูลกันทำงานเพื่อผลสำเร็จ
- คนสามขามีปัญญาหาไว้ทัก ที่ไหนหลักแหลมคำจงจำเอา หมายถึง ผู้เฒ่าผู้แก่หรือผู้สูงอายุนับว่าเป็นผู้ผ่านโลกมาก่อน ย่อมมีประสบการณ์มาก จะทำสิ่งใดจึงควรขอคำแนะนำ
- คมในฝัก หมายถึง มีความรู้ความสามารถแต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็ไม่แสดง ออกมาให้ปรากฏ
- คลื่นใต้น้ำ หมายถึง เหตุการณ์ที่กรุ่นอยู่ภายใน แต่ภายนอกดูเหมือนสงบเรียบร้อยหรือพวกคลื่นใต้น้ำชอบก่อหวอดก่อเหตุการณ์วุ่นวาย ภายในคอยแซะอย่างลับหลัง
- คางคกขึ้นวอ หมายถึง คนที่มีฐานะต่ำต้อย พอได้ดิบได้ดี ลืมตัวลืมกำพืด ลืมชาติกำเนิดตัวเอง ดูถูกเหยียดหยามสิ่งที่ตัวเองเคยเป็น
- ฆ้องดีถ้าไม่ตีก็ไม่ดัง หมายถึง ผู้ที่มีคุณความดีในตัวนั้นถ้าไม่มีใครยกย่องชมเชยก็จะไม่มีใครเห็นความดีนั้น เปรียบดังฆ้องคุณภาพดี แต่ก็ต้องมีคนดีถึงจะมีเสียงดังขึ้นมา
- จมูกมด หมายถึง รู้ทันเหตุการณ์ผู้หญิงคนนั้นเป็นคนจมูกมด มักจะรู้เรื่องราวทุกอย่างในหมู่บ้านตลอดเวลา รู้อะไรไปหมด รู้ก่อนคนอื่นตลอด
- จับปลาสองมือ หมายถึง การที่คน ๆ หนึ่งทำสิ่งใดที่ยากพร้อม ๆ กันทำให้ล้มเหลวทั้งสองสิ่งนั้น
- จับปูใส่กระด้ง หมายถึง การที่คน ๆ หนึ่งพยายามดูแลเด็กเล็ก ๆ โดยพยายามให้อยู่นิ่ง ๆ หรือเป็นระเบียบ แต่เด็กก็ซุกซนไม่อยู่นิ่ง
- ใจดีสู้เสือ หมายถึง การทำใจกล้า ควบคุมจิตใจให้เป็นปกติ ไม่หวั่นไหวไปกับเหตุการณ์ตรงหน้า เมื่อต้องเจอกับสิ่งที่น่ากลัวหรือเป็นอันตราย
- ชาติเสือจับเนื้อกินเอง หมายถึง คนที่เชื่อมั่นและถือศักดิ์ศรีของตน แม้จะลำบากยากแค้นก็ไม่ยอมรบกวนและเบียดเบียนใคร หรือการทำมาหากินด้วยความอุตสาหะไม่เบียดเบียนผู้อื่น
- ชี้โพรงให้กระรอก หมายถึง ผู้ที่ชอบทำอะไรก็ตามเป็นนิสัยเดิมอยู่แล้ว เมื่อมีคนมาบอกกล่าวก็จะลงมือทำทันที เช่น เป็นคนชอบเที่ยวถ้ามีผู้บอกว่าที่นั่นที่นี่น่าเที่ยวก็จะไป หรือผู้มีนิสัยเป็นคนขี้ลักขี้ขโมยถ้ามีผู้บอกว่า บ้านนั้นบ้านนี้มีทรัพย์สินเงินทองมาก ก็จะหาทางเข้าไปขโมยหรือลักทรัพย์ในบ้านนั้น เช่นนี้ เรียกว่า ชี้โพรงให้
- ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน หมายถึง ความซื่อสัตย์ทำให้คนเชื่อใจ มีคนนับถือ ไม่มีวันอดตาย มีคนคอยช่วยเหลือ แต่หากมีนิสัยคดโกง เมื่อถูกจับได้ย่อมไม่มีใครอยากช่วยเหลือหรือเกี่ยวข้องด้วย
- ดาบสองคม หมายถึง การกระทำที่อาจเกิดผลดีและผลร้ายได้พอๆกัน เปรียบได้กับดาบ ถ้าดาบนั้นมีคมทั้งสองข้าง มันก็ดีใช้ฟันได้สะดวก ขึ้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าดาบมีคมทั้งสองข้าง เมื่อเราใช้ดาบฟันไปข้างหนึ่ง คมอีกข้างหนึ่ง ก็อาจทำร้ายถูกตัวเราได้
- ดาวล้อมเดือน หมายถึง คนที่มีบริวารอยู่รายล้อมเป็นจำนวนมาก เหมือนดวงดาวที่อยู่ล้อมดวงจันทร์
- ดินพอกหางหมู หมายถึง นิสัยที่ชอบปล่อยให้การงานคั่งค้างสะสม ผัดวันประกันพรุ่ง เกียจคร้าน ไม่ยอมทำให้สิ่งนั้นสำเร็จเสร็จสิ้นโดยเร็ว จนในที่สุดการงานต่างก็สะสมพอกพูนขึ้นจนยากที่จะสะสางให้เสร็จได้โดยง่าย
- นกสองหัว หมายถึง คนที่ทําตัวฝักใฝ่เข้าด้วยทั้ง ๒ ฝ่ายที่ไม่เป็นมิตรกันโดยหวังประโยชน์เพื่อตน
- นิ่งเป็นสิงโตหิน หมายถึง นิ่งเฉยไม่มีท่าทีใด ๆ
- น้ำขึ้นให้รีบตัก หมายถึง เมื่อมีโอกาสหรือเมื่อโอกาสมาถึงก็จงรีบคว้าหรือรีบทำ
- น้ำตาเป็นเผาเต่า หมายถึง ร้องไห้น้ำตาไหลพราก
- น้ำท่วมปาก หมายถึง การรู้อะไรแล้วพูดไม่ได้ พูดไม่ออกไม่สามารถพูดออกมาได้ เพราะมีความจำเป็นบางอย่างหรือเพราะเกรงจะมีภัยมาถึงตนเองแก่ตนหรือผู้อื่นที่เกี่ยวข้องด้วย
- น้ำผึ้งหยดเดียว หมายถึง เหตุที่เกิดเพียงเล็กน้อย
- ผักชีโรยหน้า หมายถึง การทำความดีหรือกระทำการใดๆเพียงเพื่อให้ผู้อื่นเห็นว่างานเสร็จแล้ว เรียบร้อย สวยงาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งนั้นยังไม่สำเร็จเรียบร้อย
- ไฟไหม้ฟาง หมายถึง อารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างวู่วาม สักพักก็หาย
- รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี หมายถึง หากลูกทำผิดก็ควรอบรมสั่งสอน ดุด่าว่ากล่าว และลงโทษเมื่อกระทำความผิดตามสมควร
- สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น หมายถึง การบอกเล่าบอกต่อผ่านคนมามากๆ ก็ไม่เท่ากับเราได้เห็นด้วยตาตนเอง อย่าเพิ่งไปเชื่อสิ่งที่คนบอกต่อ ๆ กันมา จะจริงหรือไม่ต้องไปสัมผัสไปเห็นด้วยตัวเอง
- สู้ยิบตา หมายถึง สู้จนถึงที่สุด, สู้ไม่ถอย, เช่น เขาสู้ยิบตาแม้ว่าจะสะบักสะบอมเพียงใดก็ไม่ยอมแพ้. (กร่อนมาจากสำนวนเกี่ยวกับการตีไก่ซึ่งถูกตีจนต้องเย็บตาว่า สู้จนเย็บตา)
- หนอนหนังสือ หมายถึง คนที่ชอบหมกมุ่นอยู่กับการอ่านหนังสือ
- หนักเอาเบาสู้ หมายถึง ขยันขันแข็งไม่เกี่ยงงาน
- หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง หมายถึง ความลับรักษาได้ยาก
- หมาเห่าใบตองแห้ง หมายถึง คนที่ทำตัวเองเหมือนมีความเก่งกล้าสามารถ แต่จริงแล้วเป็นคนที่ขี้ขลาดไม่กล้าจริงอย่างที่พูด
- หวังน้ำบ่อหน้า หมายถึง ของที่ได้แน่นอนแล้วไม่เอา กลับไปคาดหวังกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
- อ้าปากเห็นลิ้นไก่ หมายถึง รู้ทันกัน รู้ทันสิ่งที่จะทำ
คิดว่าน่าจะเต็มอิ่มกับสํานวนไทยทั้ง 50 คำกันไปแล้วเนอะ หวังว่าน่าจะพอมีประโยชน์ให้นำไปใช้ต่อในชีวิตประจำวันกัน
หากยังไม่เจอคำไหน หรือคิดว่ามีตกหล่นไป สามารถแจ้งแนะนำกันเข้ามาได้เลย