200 สำนวนไทย ที่ใช้บ่อย พร้อมความหมายคติสอนใจ
สำนวนไทย หมายถึง ถ้อยคำ กลุ่มคำ หรือประโยคที่ไม่ได้แปลความหมายตรง ๆ แต่มีความหมายเชิงเปรียบเทียบแฝงอยู่ เช่น สอนจระเข้ให้ว่ายนํ้า รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง
คำสุภาษิต หรือ สำนวนสุภาษิต คือ คำในภาษาไทยที่ใช้ในการสื่อสารเชิงเปรียบเทียบอุปมาอุปมัย มักมีความหมายในการตักเตือนสั่งสอนในทางบวก มีความหมายที่ดี เช่น รักยาวให้บั่นรักสั้นให้ต่อ น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ
คำพังเพย หมายถึง ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวเป็นกลาง ๆ เพื่อให้ตีความเข้ากับเรื่อง มีความหมายแฝงอยู่ อาจเป็นคำที่ใช้สื่อในทางเปรียบเปรย หรือในทำนองเสียดสี เช่น กระต่ายตื่นตูม เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย
รวม 200 สํานวนไทยยอดนิยม
สํานวนไทยหมวด ก
- กบเลือกนาย หมายถึง ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาอยู่เรื่อย ๆ
- กบในกะลาครอบ หมายถึง ผู้มีความรู้และประสบการณ์น้อย แต่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก
- กรวดน้ำคว่ำกะลา หมายถึง ตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย
- กรวดน้ำคว่ำขัน หมายถึง การตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย เลิกไม่คบหาสมาคมกันต่อไป
- กระจอกงอกง่อย หมายถึง ยากจนเข็ญใจ
- กระชังหน้าใหญ่ หมายถึง จัดจ้าน, ออกหน้ารับเสียเอง เช่น แม่กระชังหน้าใหญ่
- กระดังงาลนไฟ หมายถึง หญิงที่เคยแต่งงานหรือผ่านผู้ชายมาแล้ว ย่อมรู้จักชั้นเชิงทางปรนนิบัติและเอาอกเอาใจผู้ชายได้ดีกว่าหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน
- กระดี่ได้น้ำ หมายถึง ใช้เปรียบเทียบคนที่แสดงอาการดีอกดีใจตื่นเต้นจนตัวสั่น
- กระดูกสันหลังของชาติ หมายถึง คำนี้คือคำเปรียบความสำคัญของชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ ผู้ผลิตอาหาร ปัจจัยหลักของประเทศและของโลกใบนี้
- กระดูกแข็ง หมายถึง ไม่ตายง่าย ๆ
- กระต่ายขาเดียว หมายถึง การยืนกรานไม่ยอมรับผิด ปากแข็งยืนยันคำพูดเดิม
- กระต่ายสามขา หมายถึง ยืนกรานไม่ยอมรับ
- กระต่ายหมายจันทร์ หมายถึง การที่ผู้ชายฐานะยากจนกว่าฝ่ายหญิงแต่ไปหลงรักหมายปองชอบผู้หญิงที่มีฐานะดีกว่า โอกาสที่จะสมหวังได้นั้นคงค่อนข้างยากเพราะพ่อแม่ของฝ่ายหญิงคงไม่ชอบและคงต้องคอยกีดกัน เปรียบเทียบผู้ชายเป็นเหมือนกระต่ายที่เฝ้ามองดวงจันทร์ที่ลอยสูงเด่นอยู่เหนือท้องฟ้าในยามค่ำคืน ทำอย่างไรก็ไม่มีทางและโอกาสที่จะไปสัมผัสกับดวงจันทร์ได้
- กระต่ายแหย่เสือ หมายถึง การไปล้อเล่น ท้าทายกับผู้ที่มีอำนาจ บารมีมากกว่า ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้
- กระสือตอมห่า หมายถึง ใช้เรียกคนหรือกลุ่มคนที่รุมมาหาผลประโยชน์อะไรซักอย่าง
- กระเชอก้นรั่ว หมายถึง สุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบ ขาดการประหยัด
- กระโถนท้องพระโรง หมายถึง กระโถนใหญ่ที่ตั้งไว้ที่ท้องพระโรงในศาลาลูกขุนใน สำหรับที่ใคร ๆ บ้วนน้ำหมากหรือทิ้งชานหมากได้
- กลับหน้ามือเป็นหลังมือ หมายถึง เปลี่ยนแปลงหรือทำให้ผิดไปจากเดิมอย่างตรงกันข้าม
- กลับเนื้อกลับตัว หมายถึง เลิกทําความชั่วหันมาทําความดี
- กลืนไม่เข้าคายไม่ออก หมายถึง การกระทำที่ตัดสินใจไม่ถูก ตัดสินใจได้ยากว่าจะเลือกทางไหน เนื่องจากทั้งสองทาง ก็ส่งผลกระทบด้านลบทั้งสองทางเลือก เปรียบเปรยถึง มีก้างปลาติดอยู่ในคอซึ่งกลืนก็ไม่เข้าท้อง คายก็ไม่สามารถทำได้ง่าย
- กวนน้ำให้ขุ่น หมายถึง ทำให้เรื่องราวที่สงบเรียบร้อยไร้ปัญหา กลับมาเป็น วุ่นวาย ยุ่งเหยิงไม่สงบ ไม่เรียบร้อย
- กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ หมายถึง ลักษณะของการทำงานที่มีความรีรอลังเลใจ ทำให้แก้ไขปัญหาได้ไม่ทันท่วงที เมื่อได้อย่างหนึ่งแล้ว แต่กลับต้องเสียอีกอย่างหนึ่งไป
- กัดก้อนเกลือกิน หมายถึง คนที่ยอมลำบากไปด้วยกัน ทนทุกข์ยาก เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน
- กาคาบพริก หมายถึง ลักษณะคนผิวดำแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีแดง
- กาฝาก หมายถึง แฝงอยู่กับคนอื่นโดยไม่ทำประโยชน์ให้
- กำปั้นทุบดิน หมายถึง การพูดแบบกว้าง ๆ อาจจะตรงประเด็นหรือไม่ตรง เป็นการตอบที่ไม่ใช่คำตอบที่ผิด แต่เป็นการตอบที่ไม่ได้ประโยชน์แก่ผู้ฟัง
- กำลังกินกำลังนอน หมายถึง อยู่ในวัยกินวัยนอน เช่น เด็กกําลังกินกําลังนอน
- กินขันหมาก หมายถึง ได้แต่งงานอย่างมีหน้ามีตา สมศักดิ์ศรี
- กินข้าวต้มกระโจมกลาง หมายถึง ทำอะไรด้วยความใจร้อนไม่พิจารณาให้รอบคอบ มักเป็นผลเสียแก่ตน
- กินข้าวร้อนนอนตื่นสาย หมายถึง อยู่อย่างสะดวกสบายไม่ลำบาก อยู่ไปเฉย ๆ นอนตื่นสายไม่ทำอะไรก็มีอยู่มีกินมีใช้ เปรียบคนที่มีข้าวร้อน ๆ กินทุกวัน คนที่นอนตื่นสายได้ทุกวัน อะไรมันจะสบายแบบนี้ไม่มีแล้ว
- กินน้ำใต้ศอก หมายถึง จําต้องยอมเป็นรองเขา ไม่เทียมหน้าเทียมตาเท่า (มักหมายถึงเมียน้อยที่ต้องยอมลงให้แก่เมียหลวง)
- กินบนเรือนขี้บนหลังคา หมายถึง คนเนรคุณ ไม่รู้จักบุญคุณคน เหมือนผู้ที่อาศัยพักพิงบ้านเขา แต่กลับทำเรื่องเดือดร้อน สร้างความเสียหาย ให้กับเจ้าของบ้าน
- กินบ้านกินเมือง หมายถึง ตื่นสายมาก ในความว่า นอนกินบ้านกินเมือง
- กินปูนร้อนท้อง หมายถึง เปรียบเหมือนคนเมื่อทำความผิดแล้วเกรงว่าคนอื่นจะจับความผิดของตนได้ อันที่จริง เฉยไว้ก็ไม่มีใครรู้แต่กลับแสดงอาการพิรุธออกมาให้เห็นก่อนที่คนอื่นจะรู้
- กินเศษกินเลย หมายถึง กินกําไร ยักเอาเพียงบางส่วนที่มีจํานวนเล็กน้อยไว้ ยักเอาส่วนที่เหลือไว้เป็นของตนเอาเพียงบางส่วนไว้เป็นของตน
- กินแกงร้อน หมายถึง ทำอะไรจวนตัว มาถึงตัวแล้วเพิ่งจะเริ่มทำ จนทำให้ลนลาน
- กิ่งทองใบหยก หมายถึง เปรียบเทียบของสองสิ่งที่ดูดี มีคุณค่าเสมอกัน เหมาะสมกัน
- กิ้งก่าได้ทอง หมายถึง คนที่ได้ลาภยศแล้วทะนงตนลืมฐานะเดิม
- ก่อร่างสร้างตัว หมายถึง ตั้งเนื้อตั้งตัวเป็นหลักฐาน
- ก้มหน้า ก้มตา หมายถึง ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างจำใจ
- เกลือจิ้มเกลือ หมายถึง ไม่ยอมเสียเปรียบกัน แก้เผ็ดให้สาสมกัน
- เกลือเป็นหนอน หมายถึง ญาติมิตร สามีภรรยา บุตรธิดา เพื่อนร่วมงาน หรือคนในบ้าน คิดคดทรยศ
- เก็บเล็กผสมน้อย หมายถึง เก็บไว้ทีละเล็กละน้อย
- แกงจืดรู้คุณเกลือ หมายถึง จะรู้คุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ที่เรามองข้าม ไม่สนใจ ก็ต่อเมื่อไม่มีของสิ่งนั้นแล้ว
- แกว่งเท้าหาเสี้ยน หมายถึง คนที่ชอบรนหาที่ หาเรื่องใส่ตัว ไปยุ่งกับเรื่องของคนอื่นโดยไม่จำเป็น จนตัวเองได้รับความเดือดร้อน
- แกะดำ หมายถึง คนที่ทําอะไรผิดเพื่อนผิดฝูงในกลุ่มนั้น ๆ (ใช้ในทางไม่ดี)
- แก้วลืมคอน หมายถึง คนที่รักกันแล้วแต่ยังไปหลงรักคนอื่น
- ไกลปืนเที่ยง หมายถึง การห่างไกลความเจริญ สมัยก่อนยังไม่มีเครื่องบอกเวลา แต่จะมีการยิงปืนใหญ่เป็นการบอกเวลาแทน ไกลปืนเที่ยงจึงหมายความว่า อยู่ไกลมากจนไม่ได้ยินเสียงสัญญาณปืนที่บอกเวลานั่นเอง
- ไก่หลง หมายถึง ผู้หญิงเสแสร้งแอ๊บแบ๊ว ทำตัวเป็นคนดีผู้ดี มาเที่ยวตีสนิทผู้ชายเพื่อคอยหลอกลวง
- ไก่อ่อน หมายถึง ผู้มีประสบการณ์น้อยยังไม่รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของคน
- ไก่แก่แม่ปลาช่อน หมายถึง หญิงที่ค่อนข้างมีอายุที่มีมารยาและเล่ห์เหลี่ยมมากและมีกิริยาจัดจ้าน โบราณท่านจึงเปรียบเทียบเอาไว้เหมือนไก่แก่หรือแม่ปลาช่อน ซึ่งผ่านโลกมามาก
- ไก่ได้พลอย หมายถึง การที่ได้ของมีค่ามาแต่ไม้รู้คุณค่าของสิ่งนั้น
สํานวนไทยหมวด ข - ง
- ขนทรายเข้าวัด หมายถึง ทําบุญกุศลโดยวิธีนําหรือขนทรายไปก่อพระเจดีย์ทรายเป็นต้นที่วัด (สำ) หาประโยชน์ให้ส่วนรวม
- ขนมพอสมกับน้ำยา หมายถึง ใช้ในการเปรียบเทียบของทั้งสองสิ่งนั้นมีมูลค่า, ความดีความร้าย, ความสามารถ นั้นพอ ๆ กัน ไม่ด้อยไปกว่ากัน
- ขมิ้นกับปูน หมายถึง ชอบวิวาทกันอยู่เสมอเมื่ออยู่ใกล้กัน ไม่ถูกกัน
- ขี่ช้างจับตั๊กแตน หมายถึง การทำอะไรที่มากเกินตัว
- เข้าหูซ้ายทะลุหูขาว หมายถึง บอกหรือสอนไปไม่ได้ผลไม่ได้ความ ไม่สนใจอะไร ไม่ฟังในสิ่งที่สอนสั่ง
- ไข่ในหิน หมายถึง ของที่ต้องระมัดระวังทะนุถนอมและหวงอย่างยิ่ง ไม่ยอมให้ไครมาทำอันตรายเด็ดขาดหรือเข้ามาเกี่ยวข้องได้โดยง่าย
- คงเส้นคงวา หมายถึง เสมอต้นเสมอปลาย
- คนละไม้คนละมือ หมายถึง ต่างคนต่างช่วยกันทำ ทำด้วยความสามัคคีกัน อย่างตั้งใจช่วยเหลือเกื้อกูลกันทำงานเพื่อผลสำเร็จ
- คนสามขามีปัญญาหาไว้ทัก ที่ไหนหลักแหลมคำจงจำเอา หมายถึง ผู้เฒ่าผู้แก่หรือผู้สูงอายุนับว่าเป็นผู้ผ่านโลกมาก่อน ย่อมมีประสบการณ์มาก จะทำสิ่งใดจึงควรขอคำแนะนำ
- คมในฝัก หมายถึง มีความรู้ความสามารถแต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็ไม่แสดง ออกมาให้ปรากฏ
- คลื่นกระทบฝั่ง หมายถึง เรื่องราวหรือเหตุการณ์สำคัญที่ค่อนข้างใหญ่โตแต่กลับเงียบหายไป
- คลื่นใต้น้ำ หมายถึง เหตุการณ์ที่กรุ่นอยู่ภายใน แต่ภายนอกดูเหมือนสงบเรียบร้อยหรือพวกคลื่นใต้น้ำชอบก่อหวอดก่อเหตุการณ์วุ่นวาย ภายในคอยแซะอย่างลับหลัง
- คลุมถุงชน หมายถึง ลักษณะที่ทั้ง 2 ฝ่ายมาเผชิญกันทั้งที่ไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จักกันมาก่อน มักใช้แก่ประเพณีแต่งงานสมัยก่อนที่พ่อแม่เป็นผู้จัดการให้โดยที่เจ้าตัวไม่เคยรู้จักหรือรักกันมาก่อนเหมือนแกมบังคับให้โดนจับคู่กัน
- ควันหลง หมายถึง เรื่องราวตามมาหรือเบื้องลึกเบื้องหลังที่มีหลุดออกออกมา หรือสิ่งที่ตามมาเป็นกระแสยังไม่จบซะทีเดียว จากเรื่องที่พึ่งเกิดยังไม่หมดสิ้นกลับปรากฏขึ้นอีก หรือผลพวงที่ตามมาจากเรื่องเหล่านั้น
- คว่ำบาตร หมายถึง ไม่ยอมคบค้าสมาคมด้วย
- คว้าน้ำเหลว หมายถึง การที่ลงมือทำอะไรแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้ผลตามที่ต้องการ
- คอขาดบาดตาย หมายถึง ร้ายแรงถึงอาจต้องสูญเสียชีวิตได้ เกิดเหตุร้ายแรงถึงขั้นอันตรายอาจถึงกับเสียชีวิตหรือเป็นเรื่องใหญ่มาก
- คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก หมายถึง ที่อยู่แม้จะคับแคบก็อยู่ได้ถ้าสบายใจ แต่ถ้าอึดอัดใจ ที่อยู่จะกว้างขวางใหญ่โตอย่างไรก็อยู่ไม่ได้
- คางคกขึ้นวอ หมายถึง คนที่มีฐานะต่ำต้อย พอได้ดิบได้ดี ลืมตัวลืมกำพืด ลืมชาติกำเนิดตัวเอง ดูถูกเหยียดหยามสิ่งที่ตัวเองเคยเป็น
- เค็มเป็นเกลือ หมายถึง ขี้งก ตระหนี่ ขี้เหนียวสุด ๆ เหมือนเกลือที่เค็มสุด ๆ
- โคแก่กินหญ้าอ่อน หมายถึง ชายอายุเยอะ ที่มีภรรยามีอายุอ่อนคราวลูกคราวหลาน
- ฆ้องดีถ้าไม่ตีก็ไม่ดัง หมายถึง ผู้ที่มีคุณความดีในตัวนั้นถ้าไม่มีใครยกย่องชมเชยก็จะไม่มีใครเห็นความดีนั้น เปรียบดังฆ้องคุณภาพดี แต่ก็ต้องมีคนดีถึงจะมีเสียงดังขึ้นมา
- ฆ้องปากแตก หมายถึง คนที่เก็บความลับไม่อยู่ ชอบนำความลับหรือเรื่องไม่ดีของผู้อื่นไปโพนทะนา ทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน
- งอมพระราม หมายถึง มีความทุกข์ยากลำบากเต็มที่ ถูกกระทำอย่างหนักหน่วง เช่น เจ้าของโครงการคอนโดนี้วางแผนสร้างคอนโดที่ทันสมัยที่สุด หรูที่สุด ซึ่งใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมากทำให้หมุนเงินไม่ทันสุดท้ายผู้รับเหมาแต่ละรายก็เลยงอมพระรามไปตาม ๆ กัน
- งูกินหาง หมายถึง พัวพันเกี่ยวโยงกันไปเป็นทอด ๆ จนหาที่สิ้นสุดไม่ได้
- งูจงอางหวงไข่ หมายถึง รักหวง ปกป้องลูกของตัวเองถึงที่สุด ไม่ยอมให้ใครมาทำร้ายได้ง่าย ๆ
- งูถูกตีขนดหาง หมายถึง ถูกทำในจุดสำคัญทำให้รู้สึกเจ็บปวด และแค้นเคืองมาก
- เงยหน้าอ้าปาก หมายถึง การมีฐานะที่ดีขึ้นกว่าเดิม ดูแลตัวเองได้ไม่เดือดร้อน มีฐานะที่พอทัดเทียมกับเพื่อนได้
สํานวนไทยหมวด จ - ฒ
- จมูกมด หมายถึง รู้ทันเหตุการณ์ผู้หญิงคนนั้นเป็นคนจมูกมด มักจะรู้เรื่องราวทุกอย่างในหมู่บ้านตลอดเวลา รู้อะไรไปหมด รู้ก่อนคนอื่นตลอด
- จระเข้ขวางคลอง หมายถึง คนที่ชอบอะไรขัดขวางผู้อื่น คอยกีดกันไม่ให้ผู้อื่นกระทำการได้อย่างสะดวก
- จองหองพองขน หมายถึง เย่อหยิ่ง อวดดี ทะนงตน หรือไม่รู้จักบุญคุณด้วยการแสดงอาการลบหลู่ผู้มีพระคุณ
- จับปลาสองมือ หมายถึง การที่คน ๆ หนึ่งทำสิ่งใดที่ยากพร้อม ๆ กันทำให้ล้มเหลวทั้งสองสิ่งนั้น
- จับปูใส่กระด้ง หมายถึง การที่คน ๆ หนึ่งพยายามดูแลเด็กเล็ก ๆ โดยพยายามให้อยู่นิ่ง ๆ หรือเป็นระเบียบ แต่เด็กก็ซุกซนไม่อยู่นิ่ง
- จับแพะชนแกะ หมายถึง การทำการแก้ปัญหาเรื่องราวหนึ่งโดยเร่งด่วนเพื่อให้เหตุการณ์นั้นสามารถผ่านไปได้ก่อน โดยการแก้ปัญหานั้นจะเป็นลักษณะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนไม่มีความสมบูรณ์นัก
- จับให้มั่นคั้นให้ตาย หมายถึง การจะจับผิดหรือเอาผิดกับใครต้องมีหลักฐานแน่ชัด
- เจ้าชู้ประตูดิน หมายถึง ผู้ชายที่เที่ยวจีบผู้หญิงไม่เลือกหน้า
- แจงสี่เบี้ย หมายถึง การพูดชี้แจงหรืออธิบายอย่างละเอียดถี่ถ้วน
- ใจดีสู้เสือ หมายถึง การทำใจกล้า ควบคุมจิตใจให้เป็นปกติ ไม่หวั่นไหวไปกับเหตุการณ์ตรงหน้า เมื่อต้องเจอกับสิ่งที่น่ากลัวหรือเป็นอันตราย
- ฉ้อราษฎร์บังหลวง หมายถึง ทุจริตในหน้าที่การงานที่ตนเองรับผิดชอบ
- ชักแม่น้ำทั้งห้า หมายถึง การพูดจาหว่านล้อม หาเหตุผลต่างๆมาอ้างเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ และได้ในสิ่งที่ต้องการ
- ชักใบให้เรือเสีย หมายถึง การพูดหรือการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ การสนทนาหรือเหตุการณ์นั้น ๆ ต้องเขว ออกนอกเรื่อง นอกประเด็นไป
- ชักใย หมายถึง บงการอยู่เบื้องหลัง
- ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน หมายถึง ในช่วงชีวิตของคนเราไม่มีอะไรเป็นที่แน่นอน มีทั้งสุขและทุกข์ มีทั้งดีและร้าย สลับกันไป
- ชาติเสือจับเนื้อกินเอง หมายถึง คนที่เชื่อมั่นและถือศักดิ์ศรีของตน แม้จะลำบากยากแค้นก็ไม่ยอมรบกวนและเบียดเบียนใคร หรือการทำมาหากินด้วยความอุตสาหะไม่เบียดเบียนผู้อื่น
- ชาติเสือไม่ทิ้งลาย หมายถึง เป็นผู้ชายต้องมีความเก่งกล้าสามารถ มีความองอาจแข็งแรง ไม่อ่อนแอเหมือนผู้หญิง
- ชี้โพรงให้กระรอก หมายถึง ผู้ที่ชอบทำอะไรก็ตามเป็นนิสัยเดิมอยู่แล้ว เมื่อมีคนมาบอกกล่าวก็จะลงมือทำทันที เช่น เป็นคนชอบเที่ยวถ้ามีผู้บอกว่าที่นั่นที่นี่น่าเที่ยวก็จะไป หรือผู้มีนิสัยเป็นคนขี้ลักขี้ขโมยถ้ามีผู้บอกว่า บ้านนั้นบ้านนี้มีทรัพย์สินเงินทองมาก ก็จะหาทางเข้าไปขโมยหรือลักทรัพย์ในบ้านนั้น เช่นนี้ เรียกว่า ชี้โพรงให้
- ชุบมือเปิบ หมายถึง ฉวยโอกาส เอาสิ่งของคนอื่นทำจนสำเร็จแล้วมาเป็นประโยชน์ของตน โดยที่ไม่ได้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องอะไรมาก่อนเลย
- ช้างสาร งูเห่า ข้าเก่า เมียรัก หมายถึง สิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะรู้ตื้นหนาบางของเราเป็นอย่างดี
- ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ หมายถึง คนใหญ่คนโตขัดแย้งมีปัญหากัน หรือผู้นำของแต่ละฝ่ายนั้นมีปัญหาทะเลาะกัน แต่ส่งผลให้ผู้น้อยหรือประชาชน ลูกน้องนั้นได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน
- ช้างเท้าหลัง หมายถึง ภรรยา (อาจจะเป็นผู้ชายก็ได้ในปัจจุบัน) ผู้ตาม ผู้คอยหนุนหลัง สนับสนุนผู้นำของตัวเอง หรือสามี
- ช้างเผือกเกิดในป่า หมายถึง คนที่มีปัญญา เป็นคนดี มีความสามารถนั้นหาได้ยาก เหมือนกับช้างเผือกที่เกิดในป่านาน ๆ ครั้งถึงจะได้พบเจอ
- เชือดไก่ให้ลิงดู หมายถึง ทำโทษเพื่อไม่ให้ผู้อื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
- ใช้แมวเฝ้าปลาย่าง หมายถึง ฝากของไว้กับผู้ที่อยากได้ ของนั้นย่อมสูญหาย
- ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน หมายถึง ความซื่อสัตย์ทำให้คนเชื่อใจ มีคนนับถือ ไม่มีวันอดตาย มีคนคอยช่วยเหลือ แต่หากมีนิสัยคดโกง เมื่อถูกจับได้ย่อมไม่มีใครอยากช่วยเหลือหรือเกี่ยวข้องด้วย
- เฒ่าหัวงู หมายถึง คนแก่หรือคนมีอายุมากที่มีนิสัยเจ้าชู้ มีเล่ห์เหลี่ยม ชอบใช้กลอุบาย หลอกล่อเด็กสาวไปบำเรอความสุข ในทางกามารมณ์
สํานวนไทยหมวด ด - ธ
- ดอกพิกุลร่วง หมายถึง อาการนิ่งไม่พูด กลัวดอกพิกุลร่วง
- ดอกไม้ริมทาง หมายถึง ผู้หญิงใจง่ายที่ผู้ชายสามารถเกี้ยวพาราสีเอามาเชยชมได้ง่ายๆ ทำให้ไม่มีความสำคัญ
- ดาบสองคม หมายถึง การกระทำที่อาจเกิดผลดีและผลร้ายได้พอๆกัน เปรียบได้กับดาบ ถ้าดาบนั้นมีคมทั้งสองข้าง มันก็ดีใช้ฟันได้สะดวก ขึ้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าดาบมีคมทั้งสองข้าง เมื่อเราใช้ดาบฟันไปข้างหนึ่ง คมอีกข้างหนึ่ง ก็อาจทำร้ายถูกตัวเราได้
- ดาวล้อมเดือน หมายถึง คนที่มีบริวารอยู่รายล้อมเป็นจำนวนมาก เหมือนดวงดาวที่อยู่ล้อมดวงจันทร์
- ดินพอกหางหมู หมายถึง นิสัยที่ชอบปล่อยให้การงานคั่งค้างสะสม ผัดวันประกันพรุ่ง เกียจคร้าน ไม่ยอมทำให้สิ่งนั้นสำเร็จเสร็จสิ้นโดยเร็ว จนในที่สุดการงานต่างก็สะสมพอกพูนขึ้นจนยากที่จะสะสางให้เสร็จได้โดยง่าย
- เด็กอมมือ หมายถึง คนที่ไม่รู้ประสีประสา ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ไม่มีประสบการณ์
- โดดร่ม หมายถึง หลบเลี่ยงงานหรือการเรียน
- ได้น้ำได้เนื้อ หมายถึง ได้อะไรที่เป็นประโยชน์ ได้อะไรที่ดี ๆ มีสาระ ครบถ้วน ใช้บอกในหลายเหตุการณ์ เช่น การฟัง การพูด การทำงาน ค้าขาย กำไร เป็นต้น
- ตดไม่ทันหายเหม็น หมายถึง เร็วมาก
- ตบตา หมายถึง หลอกหรือลวงให้เข้าใจผิด ทำการหลอกล่อให้เข้าใจผิด
- ตบมือข้างเดียวไม่ดัง หมายถึง ทำอะไรฝ่ายเดียวไม่เกิดผล เหมือนตบมือข้างเดียว ตบอย่างไรก็ไม่ดัง
- ตบหัวลูบหลัง หมายถึง ทำหรือพูดให้กระทบกระเทือนใจในตอนแรก แล้วกลับทำหรือพูดเป็นการปลอบใจในตอนหลัง
- ตาร้อน หมายถึง เป็นอาการของคนที่มีความรู้สึกอิจฉาผู้อื่นในเรื่องต่าง ๆ ที่เหนือกว่าตน หรือเห็นคนอื่นได้ดี ใช้ในทางไม่ดีก็ได้แต่บางบริบทนั้นก็นิยมเอามาพูดเล่น ๆ แซวกัน ขำขำ ในวงคนรู้จักกันก็มีให้เห็นโดยทั่วไป
- ตีนเท่าฝาหอย หมายถึง เด็กทารก เด็กเล็ก หรือแรกเกิด
- ตีปลาหน้าไซ หมายถึง พูดหรือทำให้งานของผู้อื่นที่กำลังไปได้ดีกลับเสียไป
- ตีหัวหมา ด่าแม่เจ็ก หมายถึง ทำเก่ง, รังแกคนที่ไม่มีทางสู้, รังแกคนที่อ่อนแอกว่า, ทำร้ายคนที่ด้อยกว่า, ถูกรังแกเอาเปรียบจากคนที่เหนือกว่า
- ต่อความยาว สาวความยืด หมายถึง มากเรื่องมากราวโต้กันไปโต้กันมา ไม่รู้จักจบจักสิ้นพูดกันไปพูดกันมาจนไม่จบไม่สิ้นเสียที สนทนาเถียงกัน จนเรื่องราวไม่ได้จบลงเสียที
- ต้นคดปลายตรง หมายถึง คนชั่วที่กลับตัวเป็นคนดี
- ต้มยำ ทำแกง หมายถึง หลอกลวง โกหก ทำร้ายโดยไม่นึกถึงจิตใจใครคนอื่นเลยทำกันแบบไม่คิดถึงอกเขาอกเรา
- ถอนขนห่าน หมายถึง การที่รัฐเรียกเก็บภาษีจากประชาชนในอัตราสูง ขูดรีดประชาชน รีดงบเก็บภาษี
- เถียงคำไม่ตกฟาก หมายถึง เถียงได้ไม่หยุดปาก มักจะใช้กับเด็กที่เถียงผู้ใหญ่อยู่เสมอ
- ทองไม่รู้ร้อน หมายถึง การกระทำที่เฉยเมย ไม่กระตือรือร้น ไม่สนใจว่าผู้อื่นจะเดือดร้อนหรือรู้สึกอย่างไร
- ทิ้งทวน หมายถึง ทําอย่างไว้ฝีมือ, ทําจนสุดความสามารถ, ไม่ทําอีกต่อไป; ปล่อยฝีมือฝีปากเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะเลิกไป; ฉวยโอกาสทําเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะหมดอํานาจ.
- ทีใครทีมัน หมายถึง โอกาสของใครก็เป็นของคนนั้น.
- ธุระไม่ใช่ หมายถึง ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องคนอื่นที่ไม่ได้มีผลอะไรกับตัวเลยไม่ไปวุ่นวายกับกิจการงานของคนอื่นโดยที่ตัวเองไม่เกี่ยวข้อง
สํานวนไทยหมวด น - ม
- นกกระจอกไม่ทันกินน้ำ หมายถึง อาการที่สำเร็จอย่างรวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง
- นกสองหัว หมายถึง คนที่ทําตัวฝักใฝ่เข้าด้วยทั้ง ๒ ฝ่ายที่ไม่เป็นมิตรกันโดยหวังประโยชน์เพื่อตน
- นิ่งเป็นสิงโตหิน หมายถึง นิ่งเฉยไม่มีท่าทีใด ๆ
- น้ำขึ้นให้รีบตัก หมายถึง เมื่อมีโอกาสหรือเมื่อโอกาสมาถึงก็จงรีบคว้าหรือรีบทำ
- น้ำตาเป็นเผาเต่า หมายถึง ร้องไห้น้ำตาไหลพราก
- น้ำท่วมปาก หมายถึง การรู้อะไรแล้วพูดไม่ได้ พูดไม่ออกไม่สามารถพูดออกมาได้ เพราะมีความจำเป็นบางอย่างหรือเพราะเกรงจะมีภัยมาถึงตนเองแก่ตนหรือผู้อื่นที่เกี่ยวข้องด้วย
- น้ำผึ้งหยดเดียว หมายถึง เหตุที่เกิดเพียงเล็กน้อย
- น้ำไหลไฟดับ หมายถึง เร็วและคล่อง (ใช้แก่กริยาพูด).
- ปลากระดี่ได้น้ำ หมายถึง แสดงท่าทางดีใจจนเกินงาม
- ปอกกล้วยเข้าปาก หมายถึง ง่าย, สะดวก.
- ปั้นน้ำเป็นตัว หมายถึง สร้างเรื่องเท็จให้เห็นเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา.
- ปากดี หมายถึง พูดแบบไม่เกรงกลัว
- ปากตำแย หมายถึง อาการที่ปากอยู่ไม่สุข ชอบพูด ชอบฟ้อง, ปากคัน หรือ ปากบอน ก็ว่า.
- ปากปราศัยน้ำใจเชือดคอ หมายถึง พูดดีแต่คิดร้าย
- ปากหอยปากปู หมายถึง ชอบนินทาเล็กนินทาน้อย; ไม่กล้าพูด, พูดไม่ขึ้นหรือพูดไม่มีใครสนใจฟัง (ใช้แก่ผู้น้อย)
- ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม หมายถึง ยังเป็นเหมือนเด็กไม่มีความคิด เป็นการว่ากล่าวตำหนิคนที่ชอบอวดดี คิดว่าตนเองเก่งกว่าผู้อื่น
- ปีกกล้าขาแข็ง หมายถึง พึ่งตัวเองได้, เป็นคำที่ผู้ใหญ่มักใช้กล่าวเชิงตําหนิติเตียนผู้น้อย.
- ผักชีโรยหน้า หมายถึง การทำความดีหรือกระทำการใดๆเพียงเพื่อให้ผู้อื่นเห็นว่างานเสร็จแล้ว เรียบร้อย สวยงาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งนั้นยังไม่สำเร็จเรียบร้อย
- ผ้าขี้ริ้วห่อทอง หมายถึง ผู้ที่มีฐานะร่ำรวย แต่ทำตัวสมถะหรือแต่งตัวซ่อมซ่อ
- พร้าขัดหลังเล่มเดียว หมายถึง คนดีถ้าขยันก็ตั้งตัวได้
- ฟังความข้างเดียว หมายถึง เชื่อถือแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่ฟังความอีกฝ่ายหนึ่ง
- ฟังหูไว้หู หมายถึง การรับฟังเรื่องราวต่าง ๆ แต่ไม่เชื่อทั้งหมดในทันที แต่รับฟังไว้ก่อนแล้วจึงพิจารณาในภายหลังว่าสิ่งนั้นเชื่อถือได้หรือไม่
- ไฟไหม้ฟาง หมายถึง อารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างวู่วาม สักพักก็หาย
- ภูเขาเลากา หมายถึง มากมายก่ายกอง
- มะนาวไม่มีน้ำ หมายถึง พูดห้วน ๆ
- มือซุกหีบ หมายถึง เข้าไปยุ่งเกี่ยว รับภาระหรือยุ่งเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ภาระของตนเอง
- มือสะอาด หมายถึง มีความประพฤติดี, มีความซื่อสัตย์สุจริตไม่คดโกงหรือฉ้อราษฎร์บังหลวง
- ไม้หลักปักเลน หมายถึง โลเล, ไม่แน่นอน, เช่น เหมือนไม้หลักปักเลนเอนไปมา. (สังข์ทอง).
สํานวนไทยหมวด ย - ส
- ยกภูเขาออกจากอก หมายถึง โล่งอก, หมดวิตกกังวล, ปลดเปลื้องภาระที่หนักอกหนักใจให้หมดไป
- ยกเมฆ หมายถึง เพ่งดูเมฆเมื่อเห็นเป็นรูปอะไรแล้ว ก็ถือเป็นนิมิตเพื่อทำนายว่าดีหรือร้าย เช่นในเวลาจะยกทัพ ถ้าเห็นเมฆเป็นรูปพระนารายณ์ ก็ถือว่าเป็นนิมิตที่ดี ควรยกทัพได้ เช่น ตรงเข้าไปในป่าแล้วปลุกตัว เป่าทั่วด้วยคาถาประกาศิต ขยับยืนยกเมฆดูนิมิต เห็นรูปนารายณ์เรืองฤทธิ์ติดอัมพร. (ขุนช้างขุนแผน), ถ้าเห็นเมฆเป็นรูปคนหัวขาดหรือแขนขาดขาขาด เป็นนิมิตไม่ดี ไม่ควรยกทัพ แม้ผู้ทรงวิทยาคุณอาจบริกรรมต่อหัวหรือแขนขาให้สมบูรณ์ได้ ถึงกระนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นนิมิตที่ดี ไม่ควรยกทัพ เช่น กอดอกยกเมฆดูนิมิต ก็วิปริตเป็นรูปคนหัวหาย จะยกต่อคอแขนไม่ติดกาย เถนสำคัญมั่นหมายไม่คืนมา. (ขุนช้างขุนแผน); เดาเอา, นึกคาดเอาเอง, กุเรื่องขึ้น
- ยืนกระต่ายขาเดียว หมายถึง พูดยืนยันอยู่คำเดียว โดยไม่เปลี่ยนความคิดเดิม, มักพูดว่า ยืนกระต่ายขาเดียว
- ยืมจมูกคนอื่นหายใจ หมายถึง อาศัยผู้อื่นทำงานให้มักไม่สะดวกเหมือนทำด้วยตนเอง
- ยื่นหมูยื่นแมว หมายถึง แลกกันโดยต่างฝ่ายต่างให้และรับในเวลาเดียวกัน
- แย้มปากเห็นไรฟัน หมายถึง เพียงแต่พูดก็รู้ความหมาย
- รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี หมายถึง หากลูกทำผิดก็ควรอบรมสั่งสอน ดุด่าว่ากล่าว และลงโทษเมื่อกระทำความผิดตามสมควร
- รัดเข็มขัด หมายถึง ประหยัด เช่น ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนต้องรัดเข็มขัด
- รีดเลือดกับปู หมายถึง การบังคับขู่เข็ญเพื่อเอาผลประโยชน์กับผู้ที่ไม่มีความสามารถที่จะให้สิ่งที่ต้องการได้ เช่น การรีดไถเงินจากคนที่มีความยากจน
- รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม หมายถึง เรียนรู้ไว้ไม่หนักเรี่ยวหนักแรงหรือเสียหายอะไร
- ร่มโพธิ์ร่มไทร หมายถึง ที่พึ่ง, ผู้ที่ให้ความคุ้มครองและความอบอุ่นใจ, เช่น พ่อแม่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูก
- ว่าวติดลม หมายถึง เพลินจนลืมตัว
- ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง หมายถึง การต่อว่าผู้อื่นว่าทำในสิ่งผิด แต่ตนเองกับประพฤติผิดแบบนั้นซะเอง
- สวมหัวโขน หมายถึง เอาหัวโขนสวมศีรษะ, โดยปริยายหมายความว่า ดำรงตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โตหรือมียศถาบรรดาศักดิ์แล้วมักลืมตัวชอบแสดงอำนาจ
- สวมเขา หมายถึง ทำความอัปยศให้แก่สามีด้วยการมีชู้โดยที่สามีไม่รู้ระแคะระคาย
- สอดรู้สอดเห็น หมายถึง เที่ยวเข้าไปรู้ในเรื่องของคนอื่น (มักใช้ในทางไม่ดี) เช่น ใครเขาจะทำอะไรกันที่ไหน ก็เที่ยวไปสอดรู้เขาหมด เขาเป็นคนช่างสอดรู้สอดเห็น มีเรื่องของชาวบ้านมาเล่าเสมอ.
- สาวไส้ให้กากิน หมายถึง การนำความลับหรือเรื่องเลวร้ายไปบอกให้คนอื่นรู้ ซึ่งไม่ก่อประโยชน์ให้กับใคร แต่ผู้ที่ได้รับฟังกลับได้ล่วงรู้ความลับต่างๆ สำนวนนี้มักจะใช้สื่อถึงการบอกเล่าเรื่องราวที่ไม่ดี และมักจะมีคู่กรณีที่ต่างคนต่างแฉกันและกัน
- สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น หมายถึง การบอกเล่าบอกต่อผ่านคนมามากๆ ก็ไม่เท่ากับเราได้เห็นด้วยตาตนเอง อย่าเพิ่งไปเชื่อสิ่งที่คนบอกต่อ ๆ กันมา จะจริงหรือไม่ต้องไปสัมผัสไปเห็นด้วยตัวเอง
- สุกเอาเผากิน หมายถึง อาการที่ทำลวก ๆ, อาการที่ทำพอเสร็จไปคราวหนึ่ง ๆ เช่น เขาทำงานสุกเอาเผากิน พอให้พ้นตัวไป
- สู้ยิบตา หมายถึง สู้จนถึงที่สุด, สู้ไม่ถอย, เช่น เขาสู้ยิบตาแม้ว่าจะสะบักสะบอมเพียงใดก็ไม่ยอมแพ้. (กร่อนมาจากสำนวนเกี่ยวกับการตีไก่ซึ่งถูกตีจนต้องเย็บตาว่า สู้จนเย็บตา)
- เสือซ่อนเล็บ หมายถึง ดูไม่มีอะไรน่ากลัวหรือมีอะไรโดดเด่น แต่แท้จริงแล้วอาจแอบซ่อนความสามารถ ที่ไม่ยอมแสดงออกมาให้ไครรู้
- ใส่หน้ากาก หมายถึง แสดงทีท่าหรือกิริยาอาการที่มิได้เกิดจากนิสัยใจจริง, แสดงกิริยาท่าทีลวงให้เข้าใจผิด, เช่น ต่างคนต่างใส่หน้ากากเข้าหากัน, สวมหน้ากาก ก็ว่า.
สํานวนไทยหมวด ห - อ
- หนอนบ่อนไส้ หมายถึง ฝ่ายตรงข้ามที่เข้ามาทำทีเป็นพวกเพื่อบ่อนทำลาย, คนใกล้ชิด หรือพวกเดียวกันที่คิดทรยศไปเข้าพวก และคอยช่วยเหลือฝ่ายตรงข้าม
- หนอนหนังสือ หมายถึง คนที่ชอบหมกมุ่นอยู่กับการอ่านหนังสือ
- หนักเอาเบาสู้ หมายถึง ขยันขันแข็งไม่เกี่ยงงาน
- หนีเสือปะจระเข้ หมายถึง หนีภัยอันตรายอย่างหนึ่งแล้วต้องพบภัยอันตรายอีกอย่างหนึ่ง
- หนูตกถังข้าวสาร หมายถึง ชายที่ฐานะไม่ค่อยดี ยากจน แต่งงานกับหญิงที่ร่ำรวยและมั่งคั่งกว่าตัว
- หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง หมายถึง ความลับรักษาได้ยาก
- หมองูตายเพราะงู หมายถึง ผู้ที่ชำนาญในการเอางูเห่ามาเลี้ยงเป็นอาชีพก็อาจถูกงูเห่ากัดตายเพราะความประมาทได้, โดยปริยายหมายถึงผู้ที่มีความรู้อาจตายหรือพลาดท่าเสียทีเพราะความรู้ของตนก็ได้.
- หมาจนตรอก หมายถึง คนที่ฮึดสู้อย่างสุดชีวิตเพราะไม่มีทางเลือก ในสำนวนว่า สู้เหมือนหมาจนตรอก
- หมาหยอกไก่ หมายถึง เรียกอาการที่ชายหยอกล้อหญิงในทำนองชู้สาวเป็นทีเล่นทีจริง
- หมาหัวเน่า หมายถึง ไม่มีไครเอาไม่มีไครต้อการ โดนรังเกียจ ไม่มีไครอยากคบด้วย
- หมาเห่าใบตองแห้ง หมายถึง คนที่ทำตัวเองเหมือนมีความเก่งกล้าสามารถ แต่จริงแล้วเป็นคนที่ขี้ขลาดไม่กล้าจริงอย่างที่พูด
- หวังน้ำบ่อหน้า หมายถึง ของที่ได้แน่นอนแล้วไม่เอา กลับไปคาดหวังกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
- หอกข้างแคร่ หมายถึง การมีศัตรูอยู่ใกล้ตัวเช่นคนใกล้ชิดที่อาจคิดร้ายขึ้นมาเมื่อไรก็ได้
- หัวหมอ หมายถึง เจ้าเล่ห์อ้างนู่อ้างนี่ไปเรื่อย ฉลาดแกมโกง
- หัวไม่วาง หางไม่เว้น หมายถึง ถูกเรียกใช้ โดนใช้งานอย่างหนักอยู่ตลอด ไม่ได้ว่างเว้น
- หามรุ่งหามค่ำ หมายถึง หักโหมทั้งวันทั้งคืน
- หูเบา หมายถึง เชื่อคนง่าย
- อ้าปากเห็นลิ้นไก่ หมายถึง รู้ทันกัน รู้ทันสิ่งที่จะทำ
คิดว่าน่าจะเต็มอิ่มกับสํานวนไทยทั้ง 200 คำกันไปแล้วเนอะ หวังว่าน่าจะพอมีประโยชน์ให้นำไปใช้ต่อในชีวิตประจำวันกัน
หากยังไม่เจอคำไหน หรือคิดว่ามีตกหล่นไป สามารถแจ้งแนะนำกันเข้ามาได้เลย