คำศัพท์ไทย – พม่า ภาษาพม่าพื้นฐาน แปลไทย สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน
ภาษาพม่า (မြန်မာဘာသာ) เป็นภาษาราชการของประเทศพม่า จัดอยู่ในตระกูลภาษาย่อยทิเบต-พม่า อันเป็นสาขาย่อยของตระกูลภาษา โดยเป็นภาษาแม่ของคนประมาณ 32 ล้านคนในพม่า และเป็นภาษาที่สองของชนกลุ่มน้อยในพม่า และในประเทศอินเดีย ประเทศบังคลาเทศ ประเทศมาเลเซีย ประเทศไทย และสหรัฐอเมริกา ภาษาพม่าเป็นภาษาที่มีระดับเสียง หรือวรรณยุกต์ มีวรรณยุกต์ 4 เสียงและเขียนโดยใช้อักษรพม่า ซึ่งดัดแปลงจากอักษรมอญอีกทอดหนึ่ง และจัดเป็นสมาชิกในตระกูลอักษรพราหมี
ภาษาถิ่นและสำเนียง
ภาษาพม่ามาตรฐานคือสำเนียงย่างกุ้ง ภาษาถิ่นในพม่าภาคเหนือและภาคใต้จะต่างจากภาษากลาง ภาษาถิ่นในเขตยะไข่หรืออารกัน ยังมีเสียง /ร/ แต่สำเนียงย่างกุ้งออกเสียงเป็น /ย/ ภาษาพม่าแบ่งอย่างกว้าง ๆ ได้ 2 ระดับ คือระดับทางการใช้งานวรรณคดี งานราชการและวิทยุกระจายเสียง ระดับไม่เป็นทางการใช้ภายในครอบครัวและกับเพื่อน พระภิกษุชาวพม่ามักพูดกันเองด้วยภาษาบาลี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา
ไวยากรณ์
การเรียงคำเป็นแบบ ประธาน-กรรม-กริยา ยกเว้นคำว่า ga (เป็น) ซึ่งจะวางต่อจากประธาน คำสรรพนามเปลี่ยนตามเพศและสถานะของผู้ฟัง เป็นภาษาพยางค์เดี่ยว แต่มีรากศัพท์และการเติมคำอุปสรรค การเรียงคำในประโยคไม่มีบุพบท สันธานแต่ใช้การเติมปัจจัย
คำคุณศัพท์
คำคุณศัพท์มาก่อนคำนาม เช่น chuo-dé lu (สวยงาม + dé + คน = คนสวย) หรือตามหลังนาม เช่น lu chuo (คนสวย) การเปรียบเทียบใช้คำอุปสรรค à-คำคุณศัพท์-ปัจจัย zon คำคุณศัพท์บอกจำนวน ตามหลังคำนาม
คำกริยา
รากศัพท์ของคำกริยามักเติมปัจจัยอย่างน้อย 1 ตัว เพื่อบอกกาล ความสุภาพ รูปแบบกริยา เป็นต้น ไม่มีการใช้คำสันธาน รูปกริยาไม่เปลี่ยนตามบุคคล จำนวน หรือเพศของประธาน ตัวอย่างเช่น คำกริยา sá (กิน) เป็น
- sá-dè = กิน ปัจจัย dè ใช้แสดงปัจจุบันกาลหรือใช้เน้นย้ำ
- sá-gè-dè = กินแล้ว ปัจจัย gè/kè แสดงอดีตแต่ไม่จำเป็นต้องใช้เสมอไป ปัจจัย dè ในที่นี้เป็นการเน้นย้ำ
- sá-nei-dè = กำลังกิน nei เป็นอนุภาคแสดงว่าการกระทำนั้นกำลังเกิดขึ้น
- sá-bi = กำลังกินอยู่ ปัจจัย bi นี้ใช้กับการกระทำที่ประธานเริ่มกระทำและยังไม่เสร็จสิ้น
- sá-mè = จะกิน อนุภาค mè นี้ใช้แสดงอนาคตและยังไม่เกิดขึ้น
- sá-daw-mè = จะกิน (ในไม่ช้า) อนุภาค daw ใช้กับเหตุการณ์ที่ใกล้จะเกิดขึ้น
คำนาม
คำนามภาษาพม่าทำให้เป็นพหูพจน์โดยเติมปัจจัย dei (หรือ tei ถ้ามีเสียงตัวสะกด) อาจใช้ปัจจัย myà ที่แปลว่ามากได้ด้วย ตัวอย่างเช่น nwá = วัว nwá- dei = วัวหลายตัว จะไม่ใช้ปัจจัยแสดงพหูพจน์เมื่อมีการแสดงการนับคำนาม เช่น เด็ก 5 คน ใช้ว่า kelei (เด็ก) ngá (5) yauk (คน)
ลักษณนาม
ภาษาพม่ามีลักษณนามเช่นเดียวกับภาษาจีน ภาษาไทย และภาษามาเลย์ คำลักษณนามที่ใช้ทั่วไปได้แก่
- bá ใช้กับคน (เฉพาะพระสงฆ์และแม่ชี)
- hli ใช้กับสิ่งที่เป็นชิ้น เช่น ขนมปัง
- kaung ใช้กับสัตว์
- ku ใช้กับสิ่งไม่มีชีวิตโดยทั่วไป
- kwet ใช้กับสิ่งที่บรรจุของเหลวเช่น ถ้วย
- lóun ใช้กับวัตถุรุปกลม
- pyá ใช้กับวัตถุแบน
- sin หรือ zín ใช้กับสิ่งที่มีล้อ เช่นรถ
- su ใช้กับกลุ่ม
- ú ใช้กับคน (เป็นทางการ)
- yauk ใช้กับคน (ไม่เป็นทางการ)
คำสรรพนาม
คำสรรพนามที่เป็นรูปประธานใช้ขึ้นต้นประโยค รูปกรรมจะมีปัจจัย –go ต่อท้าย ตัวอย่างคำสรพนาม เช่น
- ฉัน เป็นทางการ ผู้ชายใช้ kyaw-naw ผู้หญิงใช้ kyaw-myaไม่เป็นทางการใช้ nga พูดกับพระสงฆ์ใช้ da-ga หรือ da-be-daw (หมายถึง นักเรียน)
- เธอ ไม่เป็นทางการใช้ nei หรือ min เป็นทางการใช้ a-shin หรือ ka-mya
- เรา ใช้ nga-do
- พวกคุณ ใช้ nei-do
- เขา ใช้ thu
- พวกเขา ใช้ thu-do
- มัน หรือ นั่น ใช้ (ai) ha
คำศัพท์
คำศัพท์ส่วนใหญ่มาจากภาษาตระกูลทิเบต-พม่า ศัพท์เกี่ยวกับศาสนา การศึกษา ปรัชญา รัฐบาลและศิลปะ ได้มาจากภาษาบาลีเป็นส่วนใหญ่ คำยืมจากภาษาอังกฤษมักเกี่ยวกับธุรกิจหรือการปกครองสมัยใหม่ คำยืมจากภาษาฮินดีมักเกี่ยวกับอาหารและการปรุงอาหาร
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำศัพท์ภาษาไทย - พม่า
ดาวน์โหลด PDF รวมคำศัพท์ภาษาไทย - พม่ายอดนิยม
สำหรับใครที่อยากได้คำศัพท์ภาษาไทย - พม่า ในรูปแบบไฟล์ PDF สามารถกดที่ปุ่มดาวน์โหลดได้เลย
PDF – ตัวอย่าง คำศัพท์ภาษาไทย - พม่า ที่ใช้บ่อย