200 คำพังเพย พร้อมความหมาย และคติเตือนใจ
คำพังเพย หมายถึง ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวเป็นกลาง ๆ เพื่อให้ตีความเข้ากับเรื่อง มีความหมายแฝงอยู่ อาจเป็นคำที่ใช้สื่อในทางเปรียบเปรย หรือในทำนองเสียดสี เช่น กระต่ายตื่นตูม เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย
สำนวนไทย หมายถึง ถ้อยคำ กลุ่มคำ หรือประโยคที่ไม่ได้แปลความหมายตรง ๆ แต่มีความหมายเชิงเปรียบเทียบแฝงอยู่ เช่น สอนจระเข้ให้ว่ายนํ้า รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง
คำสุภาษิต หรือ สำนวนสุภาษิต คือ คำในภาษาไทยที่ใช้ในการสื่อสารเชิงเปรียบเทียบอุปมาอุปมัย มักมีความหมายในการตักเตือนสั่งสอนในทางบวก มีความหมายที่ดี เช่น รักยาวให้บั่นรักสั้นให้ต่อ น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ
รวม 200 คำพังเพยยอดนิยม
คำพังเพยหมวด ก
- กงเกวียนกำเกวียน หมายถึง เวรสนองเวร, กรรมสนองกรรม, เช่นทำแกเขาอย่างไร ตนหรือลูกหลานก็อาจจะถูกทำในทำนองเดียวกันอย่างนั้นบ้างเป็นกงกำกงเกวียน
- กรวดน้ำคว่ำขัน หมายถึง ตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย
- กระดังงาลนไฟ หมายถึง หญิงที่เคยแต่งงานหรือผ่านผู้ชายมาแล้ว ย่อมรู้จักชั้นเชิงทางปรนนิบัติและเอาอกเอาใจผู้ชายได้ดีกว่าหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน
- กระดี่ได้น้ำ หมายถึง ใช้เปรียบเทียบคนที่แสดงอาการดีอกดีใจจนตัวสั่นเช่นเขาดีใจเหมือนกระดี่ได้น้ำ
- กระต่ายขาเดียว หมายถึง ยืนกรานไม่ยอมรับ
- กระต่ายตื่นตูม หมายถึง ใช้เปรียบเทียบคนที่แสดงอาการตื่นตกใจง่ายโดยไม่ทันสำรวจให้ถ่องแท้ก่อน
- กระต่ายสามขา หมายถึง ยืนกรานไม่ยอมรับ
- กระต่ายหมายจันทร์ หมายถึง ผู้ชายหมายปองผู้หญิงที่มีฐานะดีกว่า
- กระเชอก้นรั่ว หมายถึง สุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบ ขาดการประหยัด
- กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ หมายถึง ลักษณะของการทำงานที่มีความรีรอลังเลใจ ทำให้แก้ไขปัญหาได้ไม่ทันท่วงที เมื่อได้อย่างหนึ่งแล้ว แต่กลับต้องเสียอีกอย่างหนึ่งไป
- กาคาบพริก หมายถึง ลักษณะคนผิวดำแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแดง
- กาในฝูงหงส์ หมายถึง ผู้ที่ต่ำต้อยไม่มีเกียรติ อยู่ท่ามกลางเจ้าขุนมูลนายสูงศักดิ์
- กำขี้ดีกว่ากำตด หมายถึง ได้บ้างดีกว่าไม่ได้อะไรเลย
- กินบนเรือนขี้บนหลังคา หมายถึง คนเนรคุณ
- กินปูนร้อนท้อง หมายถึง ทำอาการมีพิรุธเอง, แสดงอาการเดือดร้อนขึ้นเอง
- กิ้งก่าได้ทอง หมายถึง คนที่ได้ลาภยศแล้วทะนงตนลืมฐานะเดิม
- ก้างขวางคอ หมายถึง ผู้ขัดขวางให้ผู้อื่นเสียประโยชน์, ผู้ขัดขวางมิให้ผู้อื่นทำการได้โดยสะดวก
- เกลือจิ้มเกลือ หมายถึง ไม่ยอมเสียเปรียบกัน แก้เผ็ดให้สาสมกัน
- เกลือเป็นหนอน หมายถึง ญาติมิตรสามาภรรยาบุตรธิดาเพื่อนร่วมงานหรือคนในบ้านคิดคดทรยศ
- เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน หมายถึง เก็บเล็กผสมน้อย, ทําอะไรที่ประกอบด้วยส่วนเล็กส่วนน้อย โน่นบ้างนี่บ้าง จนสําเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
- แกะดำ หมายถึง คนที่ทําอะไรผิดเพื่อนผิดฝูงในกลุ่มนั้น ๆ (ใช้ในทางไม่ดี)
- ใกล้เกลือกินด่าง หมายถึง มองข้ามหรือไม่รู้ค่าของดีที่อยู่ใกล้ตัวซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ตนกลับไปแสวงหาสิ่งอื่นที่ด้อยกว่า
- ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง หมายถึง ความสวยงามเกิดขึ้นได้จากการปรุงแต่ง
- ไก่เห็นตีนงูงูเห็นนมไก่ หมายถึง ต่างฝ่ายต่างรู้ความลับของกันและกัน
- ไก่แก่แม่ปลาช่อน หมายถึง หญิงค่อนข้างมีอายุที่มีมารยาและเล่ห์เหลี่ยมมาก และมีกิริยาจัดจ้าน
คำพังเพยหมวด ข - จ
- ขนทรายเข้าวัด หมายถึง การทำประโยชน์ให้ส่วนรวมโดยการกระทำอย่างไรอย่างหนึ่งแม้ไปกระทบกระเทือนให้ผู้อื่นเสียประโยชน์ก็ถือว่ายกให้กับส่วนรวมไม่ต้องมีอะไรมาชดเชยก็ได้
- ขนมจีนผสมน้ำยา หมายถึง พอดีกัน จะว่าข้างไหนดีกว่ากันไม่ได้
- ขมิ้นกับปูน หมายถึง คนสองคนที่ไม่ถูกกันอยู่ใกล้กันเมื่อไรก็ต้องทะเลาะวิวาทกันเมื่อนั้น
- ขวานผ่าซาก หมายถึง โผงผางไม่เกรงใจใคร(ใช้แค่กริยาพูด)
- ขว้างงูไม่พ้นคอ หมายถึง ทำอะไรแล้วผลร้ายกลับมาสู่ตัว
- ขายผ้าเอาหน้ารอด หมายถึง ยอมเสียสละแม้แต่ของจำเป็นที่ตนมีอยู่ เพื่อรักษาชื่อเสียงของตนไว้
- ขิงก็ราข่าก็แรง หมายถึง ต่างก็จัดจ้านพอๆกัน,ต่างก็มีอารมณ์ร้อนพอๆกัน,ต่างไม่ยอมลดละกัน
- ขี่ช้างจับตั๊กแตน หมายถึง การจัดทำสิ่งใดที่เป็นการโกลาหลโดยใช่เหตุหรือธุระที่ทำนั้นเป็นสิ่งเล็กน้อยไม่น่าจะต้องลงทุนหรือเตรียมการใหญ่โตเกินต้องการเหมือนคนลงทุนมากได้ผลตอบแทนน้อย
- ขุนไม่ขึ้น หมายถึง เลี้ยงไม่เชื่องมีแต่เนรคุณ
- ขุนไม่เชื่อง หมายถึง เลี้ยงไม่เชื่องมีแต่เนรคุณ
- ข่มเขาโคขืน หมายถึง บังคับขืนใจผู้อื่นให้ทำตามที่ตนต้องการเช่นจะจัดแจงแต่งตามอารมณ์ให้กินหญ้าเราเหมือนข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า
- ข่มเขาโคขืนให้กลืนหญ้า หมายถึง บังคับขืนใจผู้อื่นให้ทำตามที่ตนต้องการ
- ข้างนอกขรุขระข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง หมายถึง สิ่งที่ดูภายนอกแล้วดูไม่สวยงามหรือดูไม่ดี แต่แท้จริงแล้วภายในนั้นมีความสวยงามหรือความดีซ่อนอยู่ภายใน
- ข้างนอกสุกใสข้างในเป็นโพรง หมายถึง สิ่งที่ดูภายนอกแล้วดูสวยงามดูดี แต่แท้จริงแล้วภายในนั้นแย่
- เขียนด้วยมือลบด้วยตีน หมายถึง ยกย่องแล้วกลับทําลายในภายหลัง
- เขียนเสือให้วัวกลัว หมายถึง ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียขวัญหรือเกรงขาม
- เข็นครกขึ้นภูเขา หมายถึง ทำงานที่ยากเกินความสามารถ
- เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม หมายถึง ประพฤติตัวเหมาะสมกับกาลเทศะ, ปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ คน และสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองอาศัยอยู่
- ไข่ในหิน หมายถึง ของที่ต้องระมัดระวังทะนุถนอมอย่างยิ่ง
- คดในข้องอในกระดูก หมายถึง มีสันดานคดโกง
- คนตายขายคนเป็น หมายถึง การจัดงานศพให้แก่ผู้ตายอย่างใหญ่โตทั้งที่ผู้อยู่ข้างหลังยากจนไม่มีเงิน หรือต้องไปกู้เงินมาจนเป็นหนี้สิน
- คนรักเท่าผืนหนังคนชังเท่าผืนเสื่อ หมายถึง คนรักมีน้อย คนเกลียดมีมาก
- คนล้มอย่าข้าม หมายถึง คนที่เคยมีอำนาจวาสนา แล้วหมดอำนาจ อย่าไปซ้ำเติมเขา เพราะเขาอาจกลับมามีอำนาจอีกได้
- คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล หมายถึง การเลือกคบคนค้องพิจารณาให้ดีถ้าคบคนชั่วมาเป็นมิตร คนชั่วก็จะชักนำ พาเราไปในทางไม่ดี ถ้าคบคนดีมีความรู้ คนดีก็จะชักนำ พาเราไปในทางที่ดี
- คบคนให้ดูหน้าซื้อผ้าให้ดูเนื้อ หมายถึง จะคบกับใครพิจารณาให้ดีเสียก่อน เช่นเดียวกับการเลือกซื้อผ้า
- คมในฝัก หมายถึง คนที่มีความรู้ความสามารถ ฉลาดหลักแหลม แต่ถ่อมตัว ไม่โอ้อวด ไม่แสดงความฉลาดนั้นออกมาให้ปรากฏ
- ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด หมายถึง มีวิชาความรู้มาก แต่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนไม่ได้ หรือเมื่อถึงคราวมีกลับไม่มีปัญญาแก้ไขให้ตัวเองรอดพ้นได้
- คว่ำบาตร หมายถึง ไม่ยอมคบค้าสมาคมด้วย,เดิมหมายถึงสังฆกรรมที่พระสงฆ์ประกาศลงโทษคฤหัสถ์ผู้ประทุษร้ายต่อศาสนาด้วยการไม่คบไม่รับบิณฑบาตเป็นต้น
- คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก หมายถึง ที่อยู่แม้จะคับแคบก็อยู่ได้ถ้าสบายใจ แต่ถ้าลำบากใจแล้วแม้ที่อยู่จะกว้างขวางใหญ่โตก็อยู่ไม่ได้
- คางคกขึ้นวอ หมายถึง คนที่มีฐานะต่ำต้อยพอได้ดิบได้ดีก็มักแสดงกิริยาอวดดีลืมตัว
- งมเข็มในมหาสมุทร หมายถึง ค้นหาสิ่งที่ยากจะค้นหาได้ ทํากิจที่สําเร็จได้ยาก
- จระเข้ขวางคลอง หมายถึง ผู้ที่ชอบกันท่าหรือขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้สะดวกเหมือนจระเข้ที่ขึ้นมาขวางคลองทำให้เรือผ่านไปผ่านมาไม่สะดวก
- จับปลาสองมือ หมายถึง หมายจะเอาให้ได้ทั้ง2อย่าง,เสี่ยงทำการพร้อมๆกันซึ่งอาจไม่สำเร็จทั้ง2อย่าง
- จับปูใส่กระด้ง หมายถึง การเปรียบเทียบกับเด็กๆที่ซุกซนไม่ยอมอยู่นิ่งผู้ใหญ่ต้องคอยควบคุมดูแลตลอดเวลาเพื่อให้เด็กอยู่ในระเบียบ
- จับแพะชนแกะ หมายถึง ทำอย่างขอไปทีไม่ได้อย่างนี้ก็เอาอย่างนั้นเข้าแทนเพื่อให้ลุล่วงก็ไป
- จุดไต้ตำตอ หมายถึง พูดหรือทําสิ่งใดสิ่งหนึ่งบังเอิญไปโดนเอาเจ้าตัวหรือผู้ที่เป็นเจ้าของเรื่องนั้นเข้าโดยผู้พูดหรือผู้ทําไม่รู้ตัว
- ใจดีผีเข้า หมายถึง คนใจดีเป็นคนดีเกินไปมักถูกรังแก
- ใจดีสู้เสือ หมายถึง การทำใจกล้า ควบคุมจิตใจให้เป็นปกติ ไม่หวั่นไหวไปกับเหตุการณ์ตรงหน้า เมื่อต้องเจอกับสิ่งที่น่ากลัวหรือเป็นอันตราย
- ใจเขาใจเรา หมายถึง การที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หากคิดที่จะทำอะไรสักอย่างกับผู้อื่น ให้นึกถึงความรู้สึกของเขา ถ้าเราเป็นเขาจะรู้สึกอย่างไร
คำพังเพยหมวด ช - ธ
- ชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน หมายถึง นำศัตรูเข้าบ้าน
- ชักแม่น้ำทั้งห้า หมายถึง พูดจาหว่านล้อมยกยอบุญคุณเพื่อขอสิ่งที่ประสงค์
- ชักใบให้เรือเสีย หมายถึง พูดหรือทำขวางๆให้การสนทนาหรือการงานเขวออกนอกเรื่องไป
- ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน หมายถึง ชีวิตคนเราเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ มีขึ้นและมีลง ดังนั้นเมื่อถึงคราวตกอับ ก็อย่าเพิ่งท้อถอย หรือหมดอาลัยในชีวิต และเมื่อถึงคราวรุ่งเรือง มีอำนาจวาสนา ก็อย่าลืมตัว อย่าประมาท
- ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ หมายถึง ลูกผู้ชายที่ชื่อว่าตนมีความเก่งกล้าสามารถ จะต้องสำแดงวิชาความรู้และความสามารถให้ลือชาปรากฏแก่คนทั่วไป
- ชาติเสือไม่ทิ้งลาย หมายถึง เป็นผู้ชายต้องมีความเก่งกล้าสามารถ มีความองอาจแข็งแรง ไม่อ่อนแอเหมือนผู้หญิง
- ชี้โพรงให้กระรอก หมายถึง ผู้ที่ชอบทำอะไรก็ตามเป็นนิสัยเดิมอยู่แล้ว เมื่อมีคนมาบอกกล่าวก็จะลงมือทำทันที เช่น เป็นคนชอบเที่ยวถ้ามีผู้บอกว่าที่นั่นที่นี่น่าเที่ยวก็จะไป หรือผู้มีนิสัยเป็นคนขี้ลักขี้ขโมยถ้ามีผู้บอกว่า บ้านนั้นบ้านนี้มีทรัพย์สินเงินทองมาก ก็จะหาทางเข้าไปขโมยหรือลักทรัพย์ในบ้านนั้น เช่นนี้ เรียกว่า ชี้โพรงให้
- ชุบมือเปิบ หมายถึง ฉวยประโยชน์จากคนอื่นโดยไม่ได้ลงทุนลงแรง
- ช้า ๆ ได้พร้าสองเล่มงาม หมายถึง ค่อย ๆ คิดค่อย ๆ ทําแล้วจะสําเร็จผล
- ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด หมายถึง คนที่ทำความผิดอย่างร้ายแรงย่อมไม่สามารถปกปิดความผิดของตนได้หรือพยายามหาหลักฐานมากลบเกลื่อนแต่ไม่สามารถปกปิดความผิดนั้นได้
- ช้างสาร งูเห่า ข้าเก่า เมียรัก หมายถึง สิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะรู้ตื้นหนาบางของเราเป็นอย่างดี
- ช้างเท้าหลัง หมายถึง คู่ชีวิต ผู้ตาม ผู้คอยหนุนหลัง สนับสนุนผู้นำของตัวเอง
- ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ หมายถึง ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทําดีกว่าด่วนทํา
- เชื้อไม่ทิ้งแถว หมายถึง เป็นไปตามเผ่าพันธุ์, เหมือนบรรพบุรุษ
- ซื่อเหมือนแมวนอนหวด หมายถึง ทำทีว่าเป็นคนซื่อ แต่พอเผลอก็ออกลวดลายทันที เช่นเดียวกับแมวที่นอนบิดขี้เกียจ ไม่ลืมหูลืมตาอยู่ใกล้ ๆ หวดนึ่งข้าวข้าง ๆ เตาไฟที่มีปลาย่างวางอยู่พอคนเผลอมันก็ลุกขึ้นคาบ เอาปลาไปทันที
- ดินพอกหางหมู หมายถึง การปล่อยงานคั่งค้างอยู่เรื่อยๆเพราะมัวแต่ผัดวันประกันพุ่งในไม่ช้างานที่คั่งค้างนั้นจะพอกพูนมากขึ้นทุกทีจนเป็นภาระที่หน้าเบื่อหน่ายภายหลัง
- เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด หมายถึง ประพฤติตามอย่างผู้ใหญ่ย่อมปลอดภัย
- เด็กอมมือ หมายถึง ผู้ไม่รู้ประสีประสา
- เด็ดบัวเหลือใย หมายถึง ตัดกันยังไม่ขาด ลึกๆ ยังรู้สึกดีต่อกัน ตัดบัวยังเหลือใย ก็ว่า
- เด็ดบัวไม่ไว้ใย หมายถึง ตัดขาด,ตัดญาติขาดมิตรกันเด็ดขาด,มักใช้คู่กับเด็ดดอกไม่ไว้ขั้วเด็ดบัวไม่ไว้ใย
- ตบมือข้างเดียวไม่ดัง หมายถึง ทำอะไรฝ่ายเดียวไม่เกิดผล
- ตบหัวลูบหลัง หมายถึง ทำหรือพูดให้กระทบกระเทือนใจในตอนแรกแล้วกลับทำหรือพูดเป็นการปลอบใจในตอนหลัง
- ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา หมายถึง การจะทำอะไรให้รู้จักประมาณตน รู้จักฐานะของตัวเอง เจียมเนื้อเจียมตัว อย่ามักใหญ่ใฝ่สูงทำที่อะไรเกินตัว
- ตาดีได้ตาร้ายเสีย หมายถึง ถ้าโชคดี ตานั้นก็ได้ ถ้าโชคร้าย ตานั้นก็เสีย
- ตาบอดได้แว่น หมายถึง ได้รับสิ่งของที่มีคนเขาให้มาแต่ตัวเองไม่มีปัญญาจะใช้เช่นมีคนให้พัดลมมาแต่ที่บ้านไม่มีไฟฟ้าเป็นต้น
- ตายทั้งเป็น หมายถึง มีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ทรมานแสนสาหัส
- ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หมายถึง ลงทุนไปโดยได้ผลประโยชน์ไม่คุ้มทุน, ใช้จ่ายทรัพย์ในทางที่ไม่เกิดประโยชน์, เสียทรัพย์จำนวนมากไปโดยไม่ได้ประโยชน์อะไร
- ตีงูให้กากิน หมายถึง ลงทุนลงแรงทำสิ่งที่ไม่เป็นคุณแก่ตนมีแต่จะเป็นโทษแล้วยังกลับไปเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอีกเช่นตีงูให้ตายแต่ไม่ได้นำงูมาเป็นอาหารกลับโยนงูให้กากิน
- ตื่นก่อนนอนทีหลัง หมายถึง เป็นสำนวน สุภาษิตสอนหญิง ให้มีค่านิยม ตื่นนอนก่อนสามี แต่เข้านอนทีหลังสามี เพื่อใช้เวลาทำงานบ้านงานเรือน ปรนนิบัติสามี
- ถอดเขี้ยวถอดเล็บ หมายถึง ละพยศ,ละความดุหรือร้ายกาจ,เลิกแสดงฤทธิ์แสดงอำนาจอีกต่อไป
- ถ่านไฟเก่า หมายถึง ชายหญิงที่เคยรักใคร่หรือเคยได้เสียกันมาก่อนแม้เลิกร้างกันไปเมื่อมาพบกันใหม่ย่อมรักใคร่หรือปลงใจกันได้ง่ายขึ้น
- ถ้อยที่ถ้อยอาศัย หมายถึง ต่างฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยกัน
- ทองไม่รู้ร้อน หมายถึง เฉยเมย,ไม่กระตือรือร้น,ไม่สะดุ้งสะเทือน
- ทำคุณบูชาโทษ หมายถึง ทำคุณแต่กลับเป็นโทษ, ทำดีแต่ได้ผลร้าย, มักพูดคู่กับ โปรดสัตว์ได้บาป เป็น ทำคุณบูชาโทษ โปรดสัตว์ได้บาป
- ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว หมายถึง คนเราทำอย่างไรก็จะได้อย่างนั้น
- ทำนาบนหลังคน หมายถึง หาผลประโยชน์ใส่ตนโดยขูดรีดผู้อื่น
- ท่าดีทีเหลว หมายถึง มีท่าทางดีแต่ทำอะไรไม่ได้เรื่อง
- ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม หมายถึง ประพฤติอย่างไร ธรรมะจึงจะตามรักษาผู้นั้นได้
คำพังเพยหมวด น - ฟ
- นกกระจอกเลี้ยงไม่เชื่อง หมายถึง ผู้ที่ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูแล้วมักทรยศ
- นกต่อ หมายถึง คนที่ทำหน้าที่ติดต่อหรือชักจูงหลอกล่อคนอื่นให้หลงเชื่อ(ใช้ในทางไม่ดี)
- นกน้อยทำรังแต่พอตัว หมายถึง เป็นผู้น้อยทำอะไรต้องดูให้พอสมควรกับฐานะของตนเช่นมีเงินไม่มากนักก็สร้างบ้านพอประมาณมิใช่สร้างใหญ่โตเพิ่มภาระหนี้สินให้ครอบครัว
- นกสองหัว หมายถึง คนที่ทำตัวเข้าด้วยทั้ง 2 ฝ่ายที่เป็นศัตรูกันเพื่อผลประโยชน์ของตน
- นานปีทีหน หมายถึง ล้าสมัย
- นายว่าขี้ข้าพลอย หมายถึง พลอยพูดผสมโรงติเตียนผู้อื่นตามนายไปด้วย
- นินทากาเลเหมือนเทน้ำ หมายถึง การติฉินนินทานั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องเจอ
- น้ำกลิ้งบนใบบอน หมายถึง ตลบตะแลง มิจิตใจไม่แน่นอน หรือเอาแน่อะไรไม่ได้ ปัจจุบันมักถูกนำมาเปรียบเปรยกับสาวที่มีจิตใจไม่มั่นคง
- น้ำขึ้นให้รีบตัก หมายถึง มีโอกาสดีควรรีบทำ
- น้ำนิ่งไหลลึก หมายถึง คนที่มีท่าหงิม ๆ มักจะมีความคิดลึกซึ้ง
- น้ำมาปลากินมดน้ำลดมดกินปลา หมายถึง ทีใครทีมัน
- น้ำลดตอผุด หมายถึง เมื่อหมดอำนาจความชั่วที่ทำไว้ก็ปรากฏ
- น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ หมายถึง อย่าขวางผู้ที่มีอำนาจหรือผู้ที่กำลังโกรธจัด
- ในน้ำมีปลาในนามีข้าว หมายถึง ดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ผู้คนไม่อดอยากปากแห้ง โดยเทียบได้กับในแหล่งน้ำทุกที่มีปลาให้จับเป็นอาหารและในนาก็มีข้าวอุดมสมบูรณ์
- ปลากระดี่ได้น้ำ หมายถึง การแสดงอาการดีใจจนออกหน้าดูแล้วเกินงามส่วนใหญ่แล้วจะว่าผู้หญิงที่แสดงอาการดีใจและท่าทางไม่เรียบร้อย
- ปลาข้องเดียวกัน หมายถึง คนที่อยู่ร่วมกันหรือเป็นพวกเดียวกัน
- ปลาหมอตายเพราะปาก หมายถึง คนที่ปากพล่อยชอบพูดจาไม่ดี จนตัวเองต้องได้รับผลผลกระทบจากคำพูดของตน
- ปลาหมอแถกเหงือก หมายถึง กระเสือกกระสนดิ้นรน
- ปลาใหญ่กินปลาเล็ก หมายถึง คนที่มีอำนาจราชศักดิ์หรือเป็นใหญ่เป็นโตก็ย่อมข่มคนที่เป็นผู้น้อยหรือผู้น้อยเหมือนกับคนที่มีกำลังมากย่อมมีภาษีเหนือกว่าคนอ่อนแอ
- ปากว่าตาขยิบ หมายถึง พูดอย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่างหนึ่ง ปากกับใจไม่ตรงกัน
- ปากหวานก้นเปรี้ยว หมายถึง พูดจาไพเราะ อ่อนหวานแต่ไม่จริงใจ
- ปากเป็นเอกเลขเป็นโท หมายถึง การพูดจาสำคัญกว่าวิชาหนังสือ
- ปิดทองหลังพระ หมายถึง ทำความดีแต่ไม่ได้รับการยกย่องเพราะไม่มีใครเห็นคุณค่า
- ปิดประตูตีแมว หมายถึง รังแกคนไม่มีทางสู้ไม่มีทางหนีรอดไปได้
- เป่าปี่ให้ควายฟัง หมายถึง การพูดจาแนะนำสั่งสอนให้คนโง่เง่าฟังเพื่อหวังให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเขาเองแต่กลับไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยเพราะคนโง่ฟังไม่รู้เรื่องเหมือนกับคนเป่าปี่ให้ควายฟังควายฟังไม่รู้เรื่อง
- ไปลามาไหว้ หมายถึง มารยาทไทย ที่เป็นวัฒนธรรมในการทักทาย เวลาพบปะกันหรือลาจากกัน
- ผักชีโรยหน้า หมายถึง การทำความดีเพียงผิวเผิน
- ผู้ดีเดินตรอกขี้ครอกเดินถนน หมายถึง คนดีคอยปิดบังไม่แสดงตัวแต่คนชั่วกลับแสดงออกอย่างเปิดเผย
- ผ้าขี้ริ้วห่อทอง หมายถึง คนมั่งมีแต่แต่งตัวซอมซ่อ
- ฝนตกไม่ทั่วฟ้า หมายถึง ให้หรือแจกจ่ายอะไรไม่ทั่วถึงกัน
- ฝนทั่งให้เป็นเข็ม หมายถึง เพียรพยายามสุดความสามารถจนกว่าจะสำเร็จผล
- พูดไปสองไพเบี้ยนิ่งเสียตำลึงทอง หมายถึง พูดไปไม่มีประโยชน์ นิ่งเสียดีกว่า
- เพื่อนกินหาง่ายเพื่อนตายหายาก หมายถึง เพื่อนกินเพื่อนเที่ยวหาง่าย แต่เพื่อนที่คอยช่วยเหลือยามลำบากนั้นหายาก
- ฟังหูไว้หู หมายถึง รับฟังไว้แต่ไม่เชื่อทั้งหมด
- ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด หมายถึง ฟังไม่ได้ความแจ่มชัดแล้วเอาไปพูดต่อหรือทำผิด ๆ พลาด ๆ
คำพังเพยหมวด ม - ล
- มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ หมายถึง ไม่ช่วยทำงานแล้วเกะกะขัดขวางทำให้งานเดินไปไม่สะดวกเหมือนกับคนที่นั่งไปในเรือไม่ช่วยทำงานแต่ยังไปเอาเท้าไปราน้ำให้เรือแล่นช้า
- มือไวใจเร็ว หมายถึง ด่วนตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ โดยไม่คิดให้รอบคอบ
- ม้าดีดกระโหลก หมายถึง กริยาท่าทางผลุบผลับกระโดกกระเดกลุกลนมักใช้ว่าผู้หญิงที่ไม่เรียบร้อยจะลุกจะนั่งจะเดินเตะนั่นโดนนี่กระทบโน่นไปรอบข้าง
- ม้าดีย่อมมีพยศ หมายถึง คนเก่ง คนมีฝีมือ มักจะมีความรั้นบ้างในบางแง่มุม
- แม่สื่อแม่ชักไม่ได้เจ้าตัวเอาวัวพันหลัก หมายถึง หญิงที่ไปติดต่อระหว่างชายหญิงแต่ไม่สำเร็จในที่สุดก็ตกเป็นภรรยาของชายนั้นแทน
- ไม่เอาถ่าน หมายถึง คนที่มีนิสัยไม่เอาการเอางาน ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้ความ ไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
- ยกตนข่มท่าน หมายถึง ยกย่องตัวเองและข่มผู้อื่น,พูดทับถมผู้อื่นแสดงให้เห็นว่าตัวเหนือกว่า
- ยกธงขาว หมายถึง ยอมแพ้, ยอมจำนน
- ยกหางตัวเอง หมายถึง ยกตนเองว่าดีว่าเก่ง
- ยกเมฆ หมายถึง เดาเอา, นึกคาดเอาเอง, กุเรื่องขึ้น
- ยืนกระต่ายขาเดียว หมายถึง การพูดยืนยันคำเดียวไม่แปรผันหรือเปลี่ยนแปลงไปเช่นเขาไม่ได้ลักเงินไปจริงๆถามเขาตั้งร้อยครั้งเขาก็ยืนยันว่าไม่ได้อาไปจริง
- รวมกันเราอยู่แยกหมู่เราตาย หมายถึง ร่วมกันทำงานย่อมประสบความสำเร็จได้ แต่ทางตรงกันข้าม ถ้าแยกกันทำไม่รวมใจกัน งานอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเอาได้
- รักดีหามจั่วรักชั่วหามเสา หมายถึง ใฝ่ดีจะมีความสุขความเจริญ ใฝ่ชั่วจะได้รับความลําบาก
- รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี หมายถึง เวลาลูกทำผิดก็ควรอบรมสั่งสอนลูก และมีการลงโทษบางตามสมควร ซึ่งทั้งหมดที่ทำไปก็เพราะรักลูกอยากให้ลูกเป็นเด็กดี
- รักสนุกทุกข์ถนัด หมายถึง สนุกมาก ก็มักจะทุกข์มาก
- รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี หมายถึง ความรู้จะสามารถช่วยให้เราสามารถรักษาตัวเองให้รอดได้และเป็นสิ่งมีค่าที่จะติดตัวเราไปทุกที่มากกว่าทรัพย์สินสิ่งของใดๆ
- ร้อยชู้หรือจะสู้เมียตน หมายถึง ไม่มีใครดีกว่าเมียผู้เป็นที่รัก
- ลูกรักอยู่หลังลูกชังอยู่หน้า หมายถึง รักลูกไม่เท่ากัน
- ลูกไก่ในกำมือ หมายถึง ผู้ที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจ ไม่มีทางหนีหรือทางต่อสู้
- ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น หมายถึง ลูกย่อมไม่ต่างกับพ่อแม่มากนัก
- เลือกที่รักมักที่ชัง หมายถึง ลำเอียง, ไม่เป็นกลาง, เลือกปฏิบัติ
- เล่นกับสากสากต่อยหัว หมายถึง ถ้าลดตัวไปเล่นหัวกับคนชั้นต่ำกว่า เขาก็อาจตีเสมอทำลวนลามเอา สากในที่นี้หมายถึงสากตำข้าวที่เขาพิงไว้ ถ้าใครซุกซนไปจับต้องเข้า สากอาจเลื่อนล้มทับถูกหัวถูกหูก็ได้
- โลภมาก ลาภหาย หมายถึง อยากได้ทีละมาก ๆ สุดท้ายไม่ได้อะไรเลย
คำพังเพยหมวด ว - ส
- วัดรอยเท้า หมายถึง มุ่งจะโต้ตอบมุ่งแก้แค้นมุ่งอาฆาตเป็นสำนวนที่ใช้กับลูกที่คิดจะสู้ลูกหรือใช้กับผู้น้อยคิดจะหักล้างผู้ใหญ่ที่เคยบังคับบัญชาตนมาก็ได้
- วันพระไม่ได้มีหนเดียว หมายถึง วันหน้ายังมีโอกาสอีก
- วัวลืมตีน หมายถึง คนที่ได้ดีแล้วลืมฐานะเดิมของตน
- วัวหายล้อมคอก หมายถึง เกิดเรื่องเสียหายขึ้นแล้วจึงคิดหาหนทางป้องกันเหมือนมีสมบัติไม่เก็บรักษาให้ดีพอสมบัติหายไปแล้วจึงหาทางสร้างที่เก็บสมบัติ
- วัวเห็นแก่หญ้าขี้ข้าเห็นแก่กิน หมายถึง คนชั้นล่างทีทำอะไรเห็นแก่ได้ เอาแต่กอบโดย
- วัวแก่อยากกินหญ้าอ่อน หมายถึง ชายแก่ที่มีเมียสาวคราวลูกหลานมักใช้เป็นคำเปรียบเปรยเมื่อเห็นคนที่มีอายุมากไปจีบเด็กรุ่นลูกหลานหวังจะได้มาเป็นเมีย
- เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร หมายถึง การให้อภัย คือการยุติความบาดหมางทั้งปวง ไม่จองเวรจองกรรมกัน เวรกรรมก็จะไม่เกิดขึ้นใหม่
- เวลาและวารีไม่เคยคอยใคร หมายถึง สิ่งต่าง ๆ หรือโอกาสต่าง ๆ จะไม่รอใคร
- ศิษย์มีครู หมายถึง คนเก่งที่มีครู
- สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ หมายถึง สอนคนที่มีสันดานไม่ดีอยู่แล้วให้มีความเฉลียวฉลาดมากยิ่งขึ้นแล้วก็ก่อให้เกิดเรื่องร้ายขึ้นมาภายหลัง
- สาวไส้ให้กากิน หมายถึง นำความลับของฝ่ายตนไปเปิดเผยให้คนอื่นรู้เป็นการประจานตนหรือพรรคพวกของตน
- สำเนียงบอกภาษากิริยาส่อสกุล หมายถึง การแสดงออกทางการพูดหรือกิริยามารยาท ที่จะชี้ให้เห็นถึงพื้นฐานการในการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน
- สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น หมายถึง การได้ยินได้ฟังจากผู้อื่นหลาย ๆ คน ก็ไม่เท่ากับพบเห็นด้วยตนเอง
- สีซอให้ควายฟัง หมายถึง แนะนำ หรือสั่งสอนคนปัญญาทึบ มักไม่มีประโยชน์ เสียเวลาเปล่า
- สุกเอาเผากิน หมายถึง อาการที่ทำอย่างเร่งรีบไม่ใส่ใจ, อาการที่ทำลวก ๆ พอให้เสร็จ
- เสียทองเท่าหัวไม่ยอมเสียผัวให้ใคร หมายถึง ไม่ยอมยกสามีให้แก่ผู้หญิงอื่นแม้ต้องแลกกับทรัพย์สินเงินทองมากมายก็ตาม
- เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ หมายถึง คนมีอำนาจ บารมี อิทธิพลพอ ๆ กัน ย่อมอยู่ร่วมกันไม่ได้ ตัวอย่างเช่น เขาทั้งสองเป็นคนเก่งและมีความสามารถเท่า ๆ กันมักเกิดปัญหาเพราะความไม่ยอมกันเหมือนเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้
คำพังเพยหมวด ห - อ
- หนอนหนังสือ หมายถึง คนที่ชอบหมกมุ่นอยู่กับการอ่านหนังสือ
- หนังหน้าไฟ หมายถึง ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หรืออันตรายก่อนผู้อื่นซึ่งเป็นต้นเรื่อง
- หนีเสือปะจระเข้ หมายถึง หนีภัยอันตรายอย่างหนึ่งแล้วต้องพบภัยอันตรายอีกอย่างหนึ่ง
- หมองูตายเพราะงู หมายถึง ผู้ที่มีความรู้อาจพลาดท่าเสียที หรือถึงตายเพราะความรู้ของตนก็ได้
- หมากัดไม่เห่า หมายถึง คนที่ต่อสู้หรือตอบโต้โดยไม่เตือนล่วงหน้า
- หมาจนตรอก หมายถึง คนที่หันหน้าสู้สุดชีวิตเพราะไม่มีทางเลือก
- หมาหยอกไก่ หมายถึง ใช้เรียกอาการที่ผู้ชายหยอกล้อเกี้ยวผู้หญิงแบบทีเล่นทีจริง
- หมาหวงก้าง หมายถึง คนที่หวงของที่ตนเองไม่มีสิทธิ์, คนที่กันท่าคนอื่นในสิ่งที่ตนใช้ประโยชน์ไม่ได้
- หมาเห่าใบตองแห้ง หมายถึง คนที่ดีแต่พูดอวดเก่งเสียงดัง แต่ไม่กล้าจริง
- หมูในอวย หมายถึง สิ่งที่อยู่ในกำมือ
- หวานนอกขมใน หมายถึง พูดทำหรือแสดงให้เห็นว่าดีแต่ภายนอกแต่ในใจกลับตรงข้าม
- หวานเป็นลมขมเป็นยา หมายถึง คำชม หรือคำพูดเยินยอฟังแล้วก็จบไปไม่ก่อประโยชน์แต่คำติมักเป็นประโยชน์ทำให้ได้คิด
- หอกข้างแคร่ หมายถึง คนที่ใกล้ชิดที่อาจคิดร้ายขึ้นมาเมื่อไรก็ได้มักใช้แก่ลูกเลี้ยงที่ติดมากับพ่อหรือแม่,ศัตรูที่อยู่ข้างตัว
- หาเหาใส่หัว หมายถึง รนหาเรื่องเดือดร้อนมาสู่ตนเอง
- เห็นกงจักรเป็นดอกบัว หมายถึง เห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
- เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง หมายถึง ทําเลียนแบบคนใหญ่คนโตหรือคนมั่งมีทั้ง ๆ ที่ตนไม่มีกําลังทรัพย์หรือความสามารถพอ
- อกเขาอกเรา หมายถึง การที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หากคิดที่จะทำอะไรสักอย่างกับผู้อื่น ให้นึกถึงความรู้สึกของเขา ถ้าเราเป็นเขาจะรู้สึกอย่างไร
- อดเปรี้ยวไว้กินหวาน หมายถึง อดใจไว้ตอนนี้เพื่อสิ่งที่ดีกว่าในวันข้างหน้า
- อมพระมาพูด หมายถึง ใช้ในการพูดโดยอ้างพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาประกอบเป็นพยานมักใช้ในความปฏิเสธเช่นต่อให้อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ
- อยากเป็นหนี้ให้เป็นนายหน้า หมายถึง หลีกเลี่ยงกระทำสัญญาหรือค้ำประกันให้คนอื่น เพราะอาจจะได้รับความเดือดร้อน
- อย่าถือคนบ้าอย่าว่าคนเมา หมายถึง อย่าหาความจากคนที่ไม่มีสติสมบูรณ์ เพราะไร้ซึ่งประโยชน์ในการเจรจา
- อย่าไว้ใจทางอย่าวางใจคนจะจนใจเอง หมายถึง ไม่ควรไว้ใจใครมากเกินไปเพราะเขาอาจจะทำให้เราเดือดร้อนในภายหลังได้
- เอาลูกเขามาเลี้ยงเอาเมี่ยงเขามาอม หมายถึง เอาลูกของคนอื่นมาเลี้ยงเป็นลูกเป็นภาระรับผิดชอบที่หวังผลตอบแทนแน่นอนไม่ได้
คิดว่าน่าจะเต็มอิ่มกับคำพังเพยทั้ง 200 คำกันไปแล้วเนอะ หวังว่าน่าจะพอมีประโยชน์ให้นำไปใช้ต่อในชีวิตประจำวันกัน
หากยังไม่เจอคำไหน หรือคิดว่ามีตกหล่นไป สามารถแจ้งแนะนำกันเข้ามาได้เลย