คำพังเพย หมายถึง ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวเป็นกลาง ๆ เพื่อให้ตีความเข้ากับเรื่อง มีความหมายแฝงอยู่ อาจเป็นคำที่ใช้สื่อในทางเปรียบเปรย หรือในทำนองเสียดสี เช่น กระต่ายตื่นตูม เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย

สำนวนไทย หมายถึง ถ้อยคำ กลุ่มคำ หรือประโยคที่ไม่ได้แปลความหมายตรง ๆ แต่มีความหมายเชิงเปรียบเทียบแฝงอยู่ เช่น สอนจระเข้ให้ว่ายนํ้า รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง

คำสุภาษิต หรือ สำนวนสุภาษิต คือ คำในภาษาไทยที่ใช้ในการสื่อสารเชิงเปรียบเทียบอุปมาอุปมัย มักมีความหมายในการตักเตือนสั่งสอนในทางบวก มีความหมายที่ดี เช่น รักยาวให้บั่นรักสั้นให้ต่อ น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ


รวมคำพังเพยยอดนิยม 100 สำนวน

รวมคำพังเพย 100 คำ พร้อมความหมาย มาดูกันว่ามีคำไหนที่เราคุ้นเคยบ้าง

  1. กรวดน้ำคว่ำขัน หมายถึง ตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย
  2. กระเชอก้นรั่ว หมายถึง สุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบ ขาดการประหยัด
  3. กระดี่ได้น้ำ หมายถึง ใช้เปรียบเทียบคนที่แสดงอาการดีอกดีใจจนตัวสั่นเช่นเขาดีใจเหมือนกระดี่ได้น้ำ
  4. กระต่ายขาเดียว หมายถึง ยืนกรานไม่ยอมรับ
  5. กระต่ายตื่นตูม หมายถึง ใช้เปรียบเทียบคนที่แสดงอาการตื่นตกใจง่ายโดยไม่ทันสำรวจให้ถ่องแท้ก่อน
  6. กระต่ายหมายจันทร์ หมายถึง ผู้ชายหมายปองผู้หญิงที่มีฐานะดีกว่า
  7. กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ หมายถึง ลักษณะของการทำงานที่มีความรีรอลังเลใจ ทำให้แก้ไขปัญหาได้ไม่ทันท่วงที เมื่อได้อย่างหนึ่งแล้ว แต่กลับต้องเสียอีกอย่างหนึ่งไป
  8. กิ้งก่าได้ทอง หมายถึง คนที่ได้ลาภยศแล้วทะนงตนลืมฐานะเดิม
  9. กินบนเรือนขี้บนหลังคา หมายถึง คนเนรคุณ
  10. กินปูนร้อนท้อง หมายถึง ทำอาการมีพิรุธเอง, แสดงอาการเดือดร้อนขึ้นเอง
  11. เกลือเป็นหนอน หมายถึง ญาติมิตรสามาภรรยาบุตรธิดาเพื่อนร่วมงานหรือคนในบ้านคิดคดทรยศ
  12. แกะดำ หมายถึง คนที่ทําอะไรผิดเพื่อนผิดฝูงในกลุ่มนั้น ๆ (ใช้ในทางไม่ดี)
  13. ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง หมายถึง ความสวยงามเกิดขึ้นได้จากการปรุงแต่ง
  14. ไก่เห็นตีนงูงูเห็นนมไก่ หมายถึง ต่างฝ่ายต่างรู้ความลับของกันและกัน
  15. ขนทรายเข้าวัด หมายถึง การทำประโยชน์ให้ส่วนรวมโดยการกระทำอย่างไรอย่างหนึ่งแม้ไปกระทบกระเทือนให้ผู้อื่นเสียประโยชน์ก็ถือว่ายกให้กับส่วนรวมไม่ต้องมีอะไรมาชดเชยก็ได้
  16. ขนมจีนผสมน้ำยา หมายถึง พอดีกัน จะว่าข้างไหนดีกว่ากันไม่ได้
  17. ข่มเขาโคขืนให้กลืนหญ้า หมายถึง บังคับขืนใจผู้อื่นให้ทำตามที่ตนต้องการ
  18. ขวานผ่าซาก หมายถึง โผงผางไม่เกรงใจใคร(ใช้แค่กริยาพูด)
  19. ข้างนอกขรุขระข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง หมายถึง สิ่งที่ดูภายนอกแล้วดูไม่สวยงามหรือดูไม่ดี แต่แท้จริงแล้วภายในนั้นมีความสวยงามหรือความดีซ่อนอยู่ภายใน
  20. ข้างนอกสุกใสข้างในเป็นโพรง หมายถึง สิ่งที่ดูภายนอกแล้วดูสวยงามดูดี แต่แท้จริงแล้วภายในนั้นแย่
  21. ขิงก็ราข่าก็แรง หมายถึง ต่างก็จัดจ้านพอๆกัน,ต่างก็มีอารมณ์ร้อนพอๆกัน,ต่างไม่ยอมลดละกัน
  22. ขี่ช้างจับตั๊กแตน หมายถึง การจัดทำสิ่งใดที่เป็นการโกลาหลโดยใช่เหตุหรือธุระที่ทำนั้นเป็นสิ่งเล็กน้อยไม่น่าจะต้องลงทุนหรือเตรียมการใหญ่โตเกินต้องการเหมือนคนลงทุนมากได้ผลตอบแทนน้อย
  23. เข็นครกขึ้นภูเขา หมายถึง ทำงานที่ยากเกินความสามารถ
  24. เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม หมายถึง ประพฤติตัวเหมาะสมกับกาลเทศะ, ปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ คน และสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองอาศัยอยู่
  25. เขียนเสือให้วัวกลัว หมายถึง ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียขวัญหรือเกรงขาม
  26. ไข่ในหิน หมายถึง ของที่ต้องระมัดระวังทะนุถนอมอย่างยิ่ง
  27. คดในข้องอในกระดูก หมายถึง มีสันดานคดโกง
  28. คนล้มอย่าข้าม หมายถึง คนที่เคยมีอำนาจวาสนา แล้วหมดอำนาจ อย่าไปซ้ำเติมเขา เพราะเขาอาจกลับมามีอำนาจอีกได้
  29. คบคนให้ดูหน้าซื้อผ้าให้ดูเนื้อ หมายถึง จะคบกับใครพิจารณาให้ดีเสียก่อน เช่นเดียวกับการเลือกซื้อผ้า
  30. คมในฝัก หมายถึง คนที่มีความรู้ความสามารถ ฉลาดหลักแหลม แต่ถ่อมตัว ไม่โอ้อวด ไม่แสดงความฉลาดนั้นออกมาให้ปรากฏ
  31. ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด หมายถึง มีวิชาความรู้มาก แต่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนไม่ได้ หรือเมื่อถึงคราวมีกลับไม่มีปัญญาแก้ไขให้ตัวเองรอดพ้นได้
  32. คว่ำบาตร หมายถึง ไม่ยอมคบค้าสมาคมด้วย,เดิมหมายถึงสังฆกรรมที่พระสงฆ์ประกาศลงโทษคฤหัสถ์ผู้ประทุษร้ายต่อศาสนาด้วยการไม่คบไม่รับบิณฑบาตเป็นต้น
  33. คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก หมายถึง ที่อยู่แม้จะคับแคบก็อยู่ได้ถ้าสบายใจ แต่ถ้าลำบากใจแล้วแม้ที่อยู่จะกว้างขวางใหญ่โตก็อยู่ไม่ได้
  34. คางคกขึ้นวอ หมายถึง คนที่มีฐานะต่ำต้อยพอได้ดิบได้ดีก็มักแสดงกิริยาอวดดีลืมตัว
  35. งมเข็มในมหาสมุทร หมายถึง ค้นหาสิ่งที่ยากจะค้นหาได้ ทํากิจที่สําเร็จได้ยาก
  36. จระเข้ขวางคลอง หมายถึง ผู้ที่ชอบกันท่าหรือขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้สะดวกเหมือนจระเข้ที่ขึ้นมาขวางคลองทำให้เรือผ่านไปผ่านมาไม่สะดวก
  37. จับปลาสองมือ หมายถึง หมายจะเอาให้ได้ทั้ง2อย่าง,เสี่ยงทำการพร้อมๆกันซึ่งอาจไม่สำเร็จทั้ง2อย่าง
  38. จับแพะชนแกะ หมายถึง ทำอย่างขอไปทีไม่ได้อย่างนี้ก็เอาอย่างนั้นเข้าแทนเพื่อให้ลุล่วงก็ไป
  39. จุดไต้ตำตอ หมายถึง พูดหรือทําสิ่งใดสิ่งหนึ่งบังเอิญไปโดนเอาเจ้าตัวหรือผู้ที่เป็นเจ้าของเรื่องนั้นเข้าโดยผู้พูดหรือผู้ทําไม่รู้ตัว
  40. ใจเขาใจเรา หมายถึง การที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หากคิดที่จะทำอะไรสักอย่างกับผู้อื่น ให้นึกถึงความรู้สึกของเขา ถ้าเราเป็นเขาจะรู้สึกอย่างไร
  41. ใจดีผีเข้า หมายถึง คนใจดีเป็นคนดีเกินไปมักถูกรังแก
  42. ใจดีสู้เสือ หมายถึง การทำใจกล้า ควบคุมจิตใจให้เป็นปกติ ไม่หวั่นไหวไปกับเหตุการณ์ตรงหน้า เมื่อต้องเจอกับสิ่งที่น่ากลัวหรือเป็นอันตราย
  43. ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด หมายถึง คนที่ทำความผิดอย่างร้ายแรงย่อมไม่สามารถปกปิดความผิดของตนได้หรือพยายามหาหลักฐานมากลบเกลื่อนแต่ไม่สามารถปกปิดความผิดนั้นได้
  44. ชี้โพรงให้กระรอก หมายถึง ผู้ที่ชอบทำอะไรก็ตามเป็นนิสัยเดิมอยู่แล้ว เมื่อมีคนมาบอกกล่าวก็จะลงมือทำทันที เช่น เป็นคนชอบเที่ยวถ้ามีผู้บอกว่าที่นั่นที่นี่น่าเที่ยวก็จะไป หรือผู้มีนิสัยเป็นคนขี้ลักขี้ขโมยถ้ามีผู้บอกว่า บ้านนั้นบ้านนี้มีทรัพย์สินเงินทองมาก ก็จะหาทางเข้าไปขโมยหรือลักทรัพย์ในบ้านนั้น เช่นนี้ เรียกว่า ชี้โพรงให้
  45. ซื่อเหมือนแมวนอนหวด หมายถึง ทำทีว่าเป็นคนซื่อ แต่พอเผลอก็ออกลวดลายทันที เช่นเดียวกับแมวที่นอนบิดขี้เกียจ ไม่ลืมหูลืมตาอยู่ใกล้ ๆ หวดนึ่งข้าวข้าง ๆ เตาไฟที่มีปลาย่างวางอยู่พอคนเผลอมันก็ลุกขึ้นคาบ เอาปลาไปทันที
  46. เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด หมายถึง ประพฤติตามอย่างผู้ใหญ่ย่อมปลอดภัย
  47. ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา หมายถึง การจะทำอะไรให้รู้จักประมาณตน รู้จักฐานะของตัวเอง เจียมเนื้อเจียมตัว อย่ามักใหญ่ใฝ่สูงทำที่อะไรเกินตัว
  48. ตีงูให้กากิน หมายถึง ลงทุนลงแรงทำสิ่งที่ไม่เป็นคุณแก่ตนมีแต่จะเป็นโทษแล้วยังกลับไปเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอีกเช่นตีงูให้ตายแต่ไม่ได้นำงูมาเป็นอาหารกลับโยนงูให้กากิน
  49. ทำคุณบูชาโทษ หมายถึง ทำคุณแต่กลับเป็นโทษ, ทำดีแต่ได้ผลร้าย, มักพูดคู่กับ โปรดสัตว์ได้บาป เป็น ทำคุณบูชาโทษ โปรดสัตว์ได้บาป
  50. ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว หมายถึง คนเราทำอย่างไรก็จะได้อย่างนั้น
  51. ทำนาบนหลังคน หมายถึง หาผลประโยชน์ใส่ตนโดยขูดรีดผู้อื่น
  52. ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม หมายถึง ประพฤติอย่างไร ธรรมะจึงจะตามรักษาผู้นั้นได้
  53. นกสองหัว หมายถึง คนที่ทำตัวเข้าด้วยทั้ง 2 ฝ่ายที่เป็นศัตรูกันเพื่อผลประโยชน์ของตน
  54. นานปีทีหน หมายถึง ล้าสมัย
  55. น้ำขึ้นให้รีบตัก หมายถึง มีโอกาสดีควรรีบทำ
  56. น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ หมายถึง อย่าขวางผู้ที่มีอำนาจหรือผู้ที่กำลังโกรธจัด
  57. น้ำลดตอผุด หมายถึง เมื่อหมดอำนาจความชั่วที่ทำไว้ก็ปรากฏ
  58. นินทากาเลเหมือนเทน้ำ หมายถึง การติฉินนินทานั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องเจอ
  59. ในน้ำมีปลาในนามีข้าว หมายถึง ดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ผู้คนไม่อดอยากปากแห้ง โดยเทียบได้กับในแหล่งน้ำทุกที่มีปลาให้จับเป็นอาหารและในนาก็มีข้าวอุดมสมบูรณ์
  60. ปลาหมอตายเพราะปาก หมายถึง คนที่ปากพล่อยชอบพูดจาไม่ดี จนตัวเองต้องได้รับผลผลกระทบจากคำพูดของตน
  61. ปากเป็นเอกเลขเป็นโท หมายถึง การพูดจาสำคัญกว่าวิชาหนังสือ
  62. ปากหวานก้นเปรี้ยว หมายถึง พูดจาไพเราะ อ่อนหวานแต่ไม่จริงใจ
  63. ปิดทองหลังพระ หมายถึง ทำความดีแต่ไม่ได้รับการยกย่องเพราะไม่มีใครเห็นคุณค่า
  64. เป่าปี่ให้ควายฟัง หมายถึง การพูดจาแนะนำสั่งสอนให้คนโง่เง่าฟังเพื่อหวังให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเขาเองแต่กลับไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยเพราะคนโง่ฟังไม่รู้เรื่องเหมือนกับคนเป่าปี่ให้ควายฟังควายฟังไม่รู้เรื่อง
  65. ไปลามาไหว้ หมายถึง มารยาทไทย ที่เป็นวัฒนธรรมในการทักทาย เวลาพบปะกันหรือลาจากกัน
  66. ผักชีโรยหน้า หมายถึง การทำความดีเพียงผิวเผิน
  67. ผ้าขี้ริ้วห่อทอง หมายถึง คนมั่งมีแต่แต่งตัวซอมซ่อ
  68. ผู้ดีเดินตรอกขี้ครอกเดินถนน หมายถึง คนดีคอยปิดบังไม่แสดงตัวแต่คนชั่วกลับแสดงออกอย่างเปิดเผย
  69. พูดไปสองไพเบี้ยนิ่งเสียตำลึงทอง หมายถึง พูดไปไม่มีประโยชน์ นิ่งเสียดีกว่า
  70. ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด หมายถึง ฟังไม่ได้ความแจ่มชัดแล้วเอาไปพูดต่อหรือทำผิด ๆ พลาด ๆ
  71. ฟังหูไว้หู หมายถึง รับฟังไว้แต่ไม่เชื่อทั้งหมด
  72. มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ หมายถึง ไม่ช่วยทำงานแล้วเกะกะขัดขวางทำให้งานเดินไปไม่สะดวกเหมือนกับคนที่นั่งไปในเรือไม่ช่วยทำงานแต่ยังไปเอาเท้าไปราน้ำให้เรือแล่นช้า
  73. ยกตนข่มท่าน หมายถึง ยกย่องตัวเองและข่มผู้อื่น,พูดทับถมผู้อื่นแสดงให้เห็นว่าตัวเหนือกว่า
  74. ยกเมฆ หมายถึง เดาเอา, นึกคาดเอาเอง, กุเรื่องขึ้น
  75. รวมกันเราอยู่แยกหมู่เราตาย หมายถึง ร่วมกันทำงานย่อมประสบความสำเร็จได้ แต่ทางตรงกันข้าม ถ้าแยกกันทำไม่รวมใจกัน งานอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเอาได้
  76. รักดีหามจั่วรักชั่วหามเสา หมายถึง ใฝ่ดีจะมีความสุขความเจริญ ใฝ่ชั่วจะได้รับความลําบาก
  77. รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี หมายถึง เวลาลูกทำผิดก็ควรอบรมสั่งสอนลูก และมีการลงโทษบางตามสมควร ซึ่งทั้งหมดที่ทำไปก็เพราะรักลูกอยากให้ลูกเป็นเด็กดี
  78. รักสนุกทุกข์ถนัด หมายถึง สนุกมาก ก็มักจะทุกข์มาก
  79. ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น หมายถึง ลูกย่อมไม่ต่างกับพ่อแม่มากนัก
  80. ลูกรักอยู่หลังลูกชังอยู่หน้า หมายถึง รักลูกไม่เท่ากัน
  81. โลภมาก ลาภหาย หมายถึง อยากได้ทีละมาก ๆ สุดท้ายไม่ได้อะไรเลย
  82. วัดรอยเท้า หมายถึง มุ่งจะโต้ตอบมุ่งแก้แค้นมุ่งอาฆาตเป็นสำนวนที่ใช้กับลูกที่คิดจะสู้ลูกหรือใช้กับผู้น้อยคิดจะหักล้างผู้ใหญ่ที่เคยบังคับบัญชาตนมาก็ได้
  83. วันพระไม่ได้มีหนเดียว หมายถึง วันหน้ายังมีโอกาสอีก
  84. วัวลืมตีน หมายถึง คนที่ได้ดีแล้วลืมฐานะเดิมของตน
  85. วัวหายล้อมคอก หมายถึง เกิดเรื่องเสียหายขึ้นแล้วจึงคิดหาหนทางป้องกันเหมือนมีสมบัติไม่เก็บรักษาให้ดีพอสมบัติหายไปแล้วจึงหาทางสร้างที่เก็บสมบัติ
  86. เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร หมายถึง การให้อภัย คือการยุติความบาดหมางทั้งปวง ไม่จองเวรจองกรรมกัน เวรกรรมก็จะไม่เกิดขึ้นใหม่
  87. สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ หมายถึง สอนคนที่มีสันดานไม่ดีอยู่แล้วให้มีความเฉลียวฉลาดมากยิ่งขึ้นแล้วก็ก่อให้เกิดเรื่องร้ายขึ้นมาภายหลัง
  88. สำเนียงบอกภาษากิริยาส่อสกุล หมายถึง การแสดงออกทางการพูดหรือกิริยามารยาท ที่จะชี้ให้เห็นถึงพื้นฐานการในการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน
  89. สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น หมายถึง การได้ยินได้ฟังจากผู้อื่นหลาย ๆ คน ก็ไม่เท่ากับพบเห็นด้วยตนเอง
  90. สีซอให้ควายฟัง หมายถึง แนะนำ หรือสั่งสอนคนปัญญาทึบ มักไม่มีประโยชน์ เสียเวลาเปล่า
  91. เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ หมายถึง คนมีอำนาจ บารมี อิทธิพลพอ ๆ กัน ย่อมอยู่ร่วมกันไม่ได้ ตัวอย่างเช่น เขาทั้งสองเป็นคนเก่งและมีความสามารถเท่า ๆ กันมักเกิดปัญหาเพราะความไม่ยอมกันเหมือนเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้
  92. หมากัดไม่เห่า หมายถึง คนที่ต่อสู้หรือตอบโต้โดยไม่เตือนล่วงหน้า
  93. หมาเห่าใบตองแห้ง หมายถึง คนที่ดีแต่พูดอวดเก่งเสียงดัง แต่ไม่กล้าจริง
  94. หอกข้างแคร่ หมายถึง คนที่ใกล้ชิดที่อาจคิดร้ายขึ้นมาเมื่อไรก็ได้มักใช้แก่ลูกเลี้ยงที่ติดมากับพ่อหรือแม่,ศัตรูที่อยู่ข้างตัว
  95. เห็นกงจักรเป็นดอกบัว หมายถึง เห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
  96. อดเปรี้ยวไว้กินหวาน หมายถึง อดใจไว้ตอนนี้เพื่อสิ่งที่ดีกว่าในวันข้างหน้า
  97. อมพระมาพูด หมายถึง ใช้ในการพูดโดยอ้างพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาประกอบเป็นพยานมักใช้ในความปฏิเสธเช่นต่อให้อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ
  98. อยากเป็นหนี้ให้เป็นนายหน้า หมายถึง หลีกเลี่ยงกระทำสัญญาหรือค้ำประกันให้คนอื่น เพราะอาจจะได้รับความเดือดร้อน
  99. อย่าถือคนบ้าอย่าว่าคนเมา หมายถึง อย่าหาความจากคนที่ไม่มีสติสมบูรณ์ เพราะไร้ซึ่งประโยชน์ในการเจรจา
  100. เอาลูกเขามาเลี้ยงเอาเมี่ยงเขามาอม หมายถึง เอาลูกของคนอื่นมาเลี้ยงเป็นลูกเป็นภาระรับผิดชอบที่หวังผลตอบแทนแน่นอนไม่ได้

คิดว่าน่าจะเต็มอิ่มกับคำพังเพยทั้ง 100 สำนวนกันไปแล้วเนอะ หวังว่าน่าจะพอมีประโยชน์ให้นำไปใช้ต่อในชีวิตประจำวันกัน

หากยังไม่เจอสำนวนไหน หรือคิดว่ามีตกหล่นไป สามารถแจ้งแนะนำกันเข้ามาได้เลยค่ะ

ชอบเนื้อหาชุดนี้ กดให้คะแนน 5 ดาวกับเราได้เลยจ้า
จำนวนผู้ให้คะแนน: 3   คะแนนเฉลี่ย: 3.0
Wordy Guru Team

เกี่ยวกับผู้เขียน: Wordy Guru Team

ทีม Wordy Guru คือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยที่ทุ่มเทในการให้ข้อมูลที่ครอบคลุมและถูกต้องเกี่ยวกับคำศัพท์ภาษาไทย ทีมของเรามีนักภาษาศาสตร์ และบุคลากรทางการศึกษาที่มีประสบการณ์มายาวนาน