สำนวนไทย หมวด ล
สำนวนไทย หมายถึง ถ้อยคำ กลุ่มคำ หรือประโยคที่ไม่ได้แปลความหมายตรง ๆ แต่มีความหมายเชิงเปรียบเทียบแฝงอยู่ เช่น สอนจระเข้ให้ว่ายนํ้า รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง
คำสุภาษิต หรือ สำนวนสุภาษิต คือ คำในภาษาไทยที่ใช้ในการสื่อสารเชิงเปรียบเทียบอุปมาอุปมัย มักมีความหมายในการตักเตือนสั่งสอนในทางบวก มีความหมายที่ดี เช่น รักยาวให้บั่นรักสั้นให้ต่อ น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ
คำพังเพย หมายถึง ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวเป็นกลาง ๆ เพื่อให้ตีความเข้ากับเรื่อง มีความหมายแฝงอยู่ อาจเป็นคำที่ใช้สื่อในทางเปรียบเปรย หรือในทำนองเสียดสี เช่น กระต่ายตื่นตูม เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย
รวมสำนวนไทย หมวด ล
สำนวนไทย หมวด ล ตามที่เคยรู้จัก สํานวนไทย มีอยู่หลายคำ จะมีคำไหนที่เรารู้จักไหมนะ
- ลงรอยกัน หมายถึง เข้ากันได้
- ลงเรือลำเดียวกัน หมายถึง ทำงานร่วมกัน, ร่วมรับผลการกระทำด้วยกัน
- ลงแขก หมายถึง ร่วมแรงเพื่อนบ้านมาช่วยกันทำงานเช่นดำนา เกี่ยวข้าว ให้ลุล่วงเร็วขึ้นโดยไม่รับค่าจ้าง และผลัดเปลี่ยนช่วยกันไปตามความจำเป็นของแต่ละบ้าน; รุมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิง
- ลงแดง หมายถึง ท้องเดินและถ่ายเป็นเลือดออกมามาก (มักใช้แก่คนอดฝิ่น)
- ลดราวาศอก หมายถึง ผ่อนปรน ผ่อนคลายจากความตึงเครียด ยอมถอย ยอมหยุด
- ลม ๆ แล้ง ๆ หมายถึง เลื่อนลอยเปล่าๆ ไม่มีผล
- ลมพัดชายเขา หมายถึง ชื่อเพลงไทยทำนองหนึ่ง.
- ลมเพลมพัด หมายถึง อาการที่เจ็บป่วยโดยไม่รู้สาเหตุ มักเข้าใจกันว่าถูกกระทำ
- ลอยลม หมายถึง ทาง, ทิศ, เช่น หนเหนือ หนใต้; ครั้ง, คราว, เช่น กี่หน; ที่, สถานที่, เช่น ถึงยามค่ำน้ำค้างลงพร่างพร้อย น้องจะลอยลมบนไปหนใด. (นิราศอิเหนา), มักใช้เข้าคู่กับคำ แห่ง เป็น แห่งหน เช่น ไม่รู้ว่าเวลานี้เขาอยู่แห่งหนตำบลใด.
- ลับลมคมใน หมายถึง ความลับ, สิ่งที่เปิดเผยไม่ได้อยู่ภายใน, สิ่งที่ปกปิดเอาไว้
- ลางเนื้อชอบลางยา หมายถึง ของสิ่งเดียวกัน แต่คนหลาย ๆ คนจะชอบของชิ้นนี้มากน้อยไม่เท่ากัน เพราะรสนิยมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
- ลำหักลำโค่น หมายถึง ชั้นเชิงที่ใช้หักโค่นอีกฝ่ายหนึ่งอย่างรุนแรง ดุเดือด หรือโดยไม่ปรานีปราศรัย เช่น นักมวยคนนี้ชกมีลำหักลำโค่นดี. ว. ใช้ชั้นเชิงหักโค่นอีกฝ่ายหนึ่งอย่างรุนแรง ดุเดือด หรือโดยไม่ปรานีปราศรัย เช่น การที่จะเอาชนะนักมวยคนนี้ต้องใช้วิธีลำหักลำโค่น.
- ลิงหลอกเจ้า หมายถึง ล้อหลอกผู้ใหญ่เวลาผู้ใหญ่เผลอ
- ลิ้นตวัดถึงหู หมายถึง ที่พูดจาตลบตะแลงเชื่อไม่ได้.
- ลูกท่านหลานเธอ หมายถึง ลูกหลานเจ้านายหรือผู้มีอำนาจ
- ลูกผีลูกคน หมายถึง หวังเป็นที่แน่นอนยังไม่ได้, มักใช้ในกรณีสำคัญ ๆ เช่น เด็กที่เกิดใหม่จะรอดหรือไม่ ยังเป็นลูกผีลูกคนอยู่ การสอบไล่ครั้งนี้ ยังเป็นลูกผีลูกคนอยู่
- ลูกศิษย์มีครู หมายถึง คนมีครูย่อมมีเกียรติ
- ล้มทั้งยืน หมายถึง ล้มขณะที่ยืนอยู่ เช่น ถูกเตะล้มทั้งยืน เป็นลมล้มทั้งยืน, โดยปริยายหมายถึงอาการที่สิ้นเนื้อประดาตัวหรือผิดหวังอย่างรุนแรงโดยไม่เคยคาดคิด ทันทีทันใดโดยไม่เคยคาดคิดมาก่อน เช่น พอรู้ว่าลูกถูกรถทับตายเลยเสียใจแทบล้มทั้งยืน.
- ล้มลุกคลุกคลาน หมายถึง หกล้มหกลุก เช่น ฝนตกหนักถนนเป็นโคลน เขาต้องวิ่งหนีฝนล้มลุกคลุกคลานไปตลอดทาง สะดุดตอไม้ล้มลุกคลุกคลาน, โดยปริยายหมายความว่า ซวดเซ, ไม่มั่นคง, ตั้งตัวไม่ติด, เช่น ชีวิตของเขาต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่ตลอดเวลา เขาล้มลุกคลุกคลานมาหลายปีกว่าจะตั้งตัวได้.
- ล้มหมอนนอนเสื่อ หมายถึง ป่วยจนต้องนอนรักษาตัว
- ล้วงคองูเห่า หมายถึง บังอาจลักขโมยหรือล่อลวงเอาทรัพย์สินเป็นต้นจากผู้ที่น่าเกรงขาม
- ล้วงตับ หมายถึง หลอกลวงให้ตายใจเพื่อล้วงเอาความลับเป็นต้น
- ล้ำหน้า หมายถึง เกินเลยไปกว่าที่ควร เช่น เขาชอบทำอะไรล้ำหน้าเพื่อนฝูงอยู่เสมอ; ที่ก้าวหน้าเกินยุคเกินสมัย เช่น ความคิดลํ้าหน้า ทำงานลํ้าหน้า
- เลี้ยงต้อย หมายถึง เลี้ยงมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยจนเติบโตแล้วก็ยกฐานะขึ้นเป็นสามีหรือภรรยาของผู้เลี้ยงเอง
- เลือกที่รักมักที่ชัง หมายถึง ลำเอียง
- เลือดขึ้นหน้า หมายถึง โกรธมากจนหน้าแดง, โมโห
- เลือดข้นกว่าน้ำ หมายถึง ญาติพี่น้องย่อมดีกว่าคนอื่น
- เลือดในอก หมายถึง ลูก
- เล็กพริกขี้หนู หมายถึง เล็กแต่เก่งกล้าสามารถมาก, เล็กแต่มีพิษสง
- เล่นกับไฟ หมายถึง ลองดีเสี่ยงกับสิ่งที่รู้ว่าจะเป็นอันตราย
- เล่นขายของ หมายถึง ลักษณะการกระทำที่ไม่ถูกหลักเกณฑ์ ไม่จริงไม่จังเหมือนทำเล่น ๆ (มักใช้เป็นเชิงเปรียบเทียบ) เช่น ทำขนมขายนิด ๆ หน่อย ๆ เหมือนกับเด็กเล่นขายของ.
- เล่นหูเล่นตา หมายถึง ชายตาดูฉันชู้สาว
- เล่นเพลงยาว หมายถึง ลอบมีจดหมายรักต่อกัน เช่น ไม่อยากเล่นเพลงยาวชื่อฉาวเอย. (สักวาของคุณพุ่ม), เขียนหนังสือโต้ตอบกันไปมาไม่รู้จักจบ
- เล่นเอาเถิดเจ้าล่อ หมายถึง อาการที่หลบไปมาเพื่อไม่ให้พบ เช่น ลูกหนี้เล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับเจ้าหนี้.
- โลภโมโทสัน หมายถึง อยากได้มาก ๆ เช่น อย่างหนึ่งทุจริตคิดร้ายผัว อีกอย่างมัวโลภโมโทสัน. (ขุนช้างขุนแผน).