พุทธสุภาษิต หมวด ผ
รวมพุทธสุภาษิต หมวด ผ
พุทธสุภาษิต หมวด ผ ตามที่เคยรู้จัก พุทธสุภาษิต มีอยู่หลายคำ จะมีคำไหนที่เรารู้จักไหมนะ
- ผลประโยชน์ทั้งปวง ตั้งอยู่ที่หลัก 2 ประการ คือการได้สิ่งที่ยังไม่ได้ และการรักษาสิ่งที่ได้แล้ว
- ผลไม้สุกแล้ว ก็หวั่นแต่ละต้องร่วงหลุ่นไปตลอดเวลา ฉันใด สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ก็หวั่นแต่จะตายอยู่ตลอดเวลา ฉันนั้น
- ผู้กินคนเดียว ไม่ได้ความสุข
- ผู้ขบคิดปัญหาอันลึกซึ้งด้วยใจ ไม่ทำกรรมชั่วอันไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลเลย, ไม่ละทางแห่งประโยชน์ที่มาถึงตามเวลา, บัณฑิตทั้งหลายเรียกคนอย่างนั้นว่า ผู้มีปัญญา
- ผู้ขยันในหน้าที่การงาน ไม่ประมาท เข้าใจจัดการงาน เลี้ยงชีวิตพอสมควร จึงรักษาทรัพย์ที่หามาได้
- ผู้ขอย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ถูกขอ
- ผู้คบคนชั่ว ย่อมถึงความสุขโดยส่วนเดียวไม่ได้ เขาย่อมยังตนให้ประสบโทษ เหมือนกิ้งก่าเข้าฝูงเหี้ยฉะนั้น
- ผู้คบคนเลว ย่อมพลอยเลวไปด้วย
- ผู้ครองเรือนขยัน ดีข้อหนึ่ง มีโภคทรัพย์แล้วแบ่งปัน ดีข้อสอง ถึงทีได้ผลสมหมาย ไม่มัวเมา ดีข้อสาม ถึงคราวสูญเสียประโยชน์ ไม่หมดกำลังใจ ดีครบสี่
- ผู้ครองแผ่นดินที่เจ้าสำราญ แส่หาแต่กามารมณ์ โภคทรัพย์จะพินาศหมด นี่แลที่เรียกว่าทุกข์ภัยของผู้ครองแผ่นดิน
- ผู้ฉลาด พึงละทุกข์ในโลกนี้ให้ได้
- ผู้ฉลาดควรสละสุขเล็กน้อย เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
- ผู้ฉลาดนั้นเป็นผู้เพ่งพินิจ มีเพียรติดต่อ บากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์ ย่อมถูกต้องพระนิพพาน อันปลอดจากโยคะ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้
- ผู้ฉลาดละเครื่องกั้นจิต 5 ประการ กำจัดอุปกิเลสทั้งหมด ตัดรักและชังแล้ว อันตัณหา และทิฏฐิอาศัยไม่ได้ พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น
- ผู้ฉลาดหลักแหลม แสดงเหตุและไม่ใช้เหตุได้แจ่มแจ้ง และ คาดเห็นผลประจักษ์ ย่อมเปลี้องตน (จากทุกข์) ได้ฉับพลัน อย่ากลัวเลย เขาจักกลับมาได้
- ผู้ชนะย่อมก่อเวร
- ผู้ชอบธรรม เป็นผู้เจริญ
- ผู้ดับกิเลสได้แล้วหมดความหวั่นไหวนั้นรู้ที่สุด ทั้ง 2 แล้ว ย่อมไม่ติดในท่ามกลางด้วยปัญญา, เราเรียกผู้นั้นว่าเป็นมหาบุรุษ ผู้นั้นละตัณหา เครื่องเย็บร้อยใจในโลกนี้ได้แล้ว
- ผู้ดื่มธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข
- ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งจิต ย่อมเดือดร้อน
- ผู้ตั้งมั่นอยู่ในสัทธรรม เป็นผู้เกื้อกูลแก่คนทั้งปวง
- ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ย่อมไม่ทำบาป
- ผู้ตั้งใจประพฤติตนเป็นคนโสด เขารู้กันว่าเป็นบัณฑิต, ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน ย่อมเศร้าหมอง
- ผู้ตั้งใจศึกษา ย่อมได้ปัญญา
- ผู้ติดใจในการบริโภคกาม ยินดีหมกมุ่นในกามทั้งหลาย ย่อมไม่รู้สึกซึ่งความถลำตัว เหมือนปลาถลันเข้าลอบที่เขาดักไว้ไม่รู้สึกตัว ฉะนั้น
- ผู้ติดในส่งที่ยึดถือว่าของเรา ย่อมละความโศกเศร้า ความรำพัน และ ความตระหนี่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น มุนีทั้งหลายผู้เห็นความปลอดภัย จึงละความยึดถือไปได้
- ผู้ถึงธรรม ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ฝันเพ้อถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ดำรงอยู่ด้วยสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ฉะนั้น ผิวพรรณจึงผ่องใส
- ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล มีปัญญา มีใจมั่นคงดีแล้วปรารภความเพียร ตั้งตนไว้ในธรรม ในกาลทุกเมื่อ ย่อมข้ามโอฆะที่ข้ามได้ยาก
- ผู้ถึงพร้อมด้วยสัมมัปปธาน มีสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ ดารดาษด้วยดอกไม้คือวิมุติติ หาอาสวะมิได้ จักปรินิพพาน
- ผู้ถึงพร้อมด้วยองคคุณ หาได้ยาก
- ผู้ถือความถูกต้องเป็นใหญ่ ได้ชื่อว่าผู้เที่ยงธรรม
- ผู้ถูกขอเมื่อไม่ให้สิ่งที่เขาขอ ย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ขอ
- ผู้ถูกความโกรธครอบงำ ย่อมถึงความเสื่อมทรัพย์
- ผู้ถูกความโกรธครอบงำ ย่อมละกุศลเสีย
- ผู้ถูกความโกรธครอบงำ ย่อมไม่มีที่พำนักสักนิดเดียว (เพราะความโกรธได้เข้าพำนักหมดสิ้นแล้ว)
- ผู้ถูกตัณหาครอบงำ ถูกศีลพรตผูกมัด ประพฤติตบะ อันเศร้าหมองตั้งร้อยปี จิตของเขาก็หลุดพ้นด้วยดีไม่ได้ เขามีตนเลวจะถึงฝั่งไม่ได้
- ผู้ถูกมานะหลอกลวง เศร้าหมองอยู่ในสังขาร ถูกลาภและความเสื่อมย่ำยี ย่อมไม่ลุถึงสมาธิ
- ผู้ถูกราคะย้อม ถูกกองมืด (อวิชชา) ห่อหุ้มแล้ว ย่อมไม่เห็นธรรม สำหรับฝืนใจอันละเอียดลออ ลึกซึ้ง ซึ่งเห็นได้ยาก
- ผู้ทำบาป ย่อมเศร้าโศกในโลกนี้ ละไปแล้วก็เศร้าโศก ชื่อว่าเศร้าโศกในโลกทั้งสอง, เขาเห็นกรรมอันเศร้าหมองของตน จึงเศร้าโศกและเดือนร้อน
- ผู้ทำบุญแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกนี้ ละไปแล้ว ย่อมบันเทิง ชื่อว่าย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง, เขาเห็นความบริสุทธิ์ แห่งกรรมของตนแล้ว ย่อมบันเทิงปราโมทย์
- ผู้ทำบุญแล้ว ย่อมยินดีในโลกนี้ ตายแล้ว ย่อมยินดี ชื่อว่าย่อมยินดีในโลกทั้งสอง, เขาย่อมยินดีว่าเราทำบุญไปแล้ว ไปสู่สุคติ ย่อมยินดียิ่งขึ้น
- ผู้ทำสักการะ ย่อมได้รับการสักการะ
- ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะกลัวความตาย
- ผู้ที่ทำการงานลวก ๆ โดยมิได้พิจารณาใคร่ครวญให้ดี เอาแต่รีบร้อนพรวดพราดจะให้เสร็จ การงานเหล่านั้น ก็จะก่อความเดือนร้อนให้ เหมือนตักอาหารที่ยังร้อนใส่ปาก
- ผู้ที่มัวเพลินประมาทอยู่กับสิ่งที่ชอบใจ สิ่งที่รัก และสิ่งที่เป็นสุข จะถูกสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่รักและความทุกข์ เข้าครอบงำ
- ผู้ที่มารดาบิดาเลี้ยงมาโดยยากอย่างนี้ ไม่บำรุงมารดาบิดา ประพฤติผิดในมารดาบิดาย่อมเข้าถึงนรก
- ผู้ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี
- ผู้ที่เศร้าโศกถึงคนตาย ก็เหมือนเด็กร้องไห้ เหมือนกับขอพระจันทร์ที่โคจรไปในอากาศ คนตายถูกเผาอยู่ ย่อมไม่รู้ว่าญาติคร่ำครวญถึง เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศก เขาไปแล้วตามวิถีทางของเขา
- ผู้บรรลุธรรมอย่างสูงสุดไม่มีความต้องการในโลกทั้งปวง ย่อมไม่เศร้าโศกในความตาย เหมือนผู้ออกพ้นจากเรือนที่ถูกไฟใหม้
- ผู้บริหารฉลาดและเข้มแข็ง จึงจะดี
- ผู้บริหารหมู่คณะ ถึงจะมีกำลังอำนาจ แต่เป็นคนพาลย่อม ไม่เป็นผลดี
- ผู้บริหารหมู่ชน เป็นปราชญ์ และมีกำลังเข้มแข็งจึงจะเป็นผลดี
- ผู้บริหารโง่ ถึงจะเข้มแข็ง ก็ไม่ดี
- ผู้บริโภคกาม ย่อมปรารถนากามยิ่งขึ้นไป
- ผู้บริโภคกามเป็นอันมาก ไม่สิ้นทะเยอทะยาน เป็นผู้พร่อง อยู่เทียว ละร่างกายไปแท้ (ตายไปทั้งที่หื่นกระหายกาม)
- ผู้บูชา ย่อมได้บูชาตอบ
- ผู้บูชา ย่อมได้รับการบูชา
- ผู้ปกครองชอบธรรมจึงจะดี
- ผู้ปกครองต้องทราบรายได้รายจ่ายด้วยตนเอง ต้องทราบกิจการที่ทำแล้ว และยังมิได้ทำด้วยตนเอง
- ผู้ปกครองที่ฉลาด พึงแสวงสุขเพื่อประชาชน
- ผู้ประกอบด้วยทมะ และ สัจจะนั้นแล ควรครองผ้ากาสาวะ
- ผู้ประกอบตนในสิ่งที่ไม่ควรประกอบ และ ไม่ประกอบตนในสิ่งที่ควรประกอบ ละประโยชน์เสียถือตามชอบใจ ย่อมเป็นที่กระหยิ่มต่อผู้ประกอบตนเนือง ๆ
- ผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนเลว
- ผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวแท้
- ผู้ประพฤติดี ย่อมฝึกตนอยู่เป็นนิจ
- ผู้ประพฤติตามอำนาจของจิต ย่อมลำบาก
- ผู้ประพฤติธรรม ย่อมนอนเป็นสุข
- ผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข
- ผู้ประพฤติธรรม อยู่เป็นสุข
- ผู้ประพฤติธรรม ไม่ไปสู่ทุคติ
- ผู้ประมาท เหมือนคนตายแล้ว
- ผู้ปรารถนาความสุขที่มั่นคง พึงเว้นมิตรชั่วเสีย คบแต่บุคคลสูงสุด และพึงตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน
- ผู้ปรารถนาประโยชน์ด้วยวิธีการอันผิด จะต้องเดือดร้อน
- ผู้ปราศจากทมะ และ สัจจะ ไม่ควรครองผ้ากาสาวะ
- ผู้ปราศจากราคะ และกำจัดโทสะได้แล้วนั้น พึงเจริญเมตตาจิตไม่มีประมาณ ผู้นั้น งดอาชญาในสัตว์ทั้งปวงแล้ว ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้าถึงสถานอันประเสริฐ
- ผู้ฝึกตนได้ เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์
- ผู้ฝึกตนได้เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์
- ผู้ฟังมาก ต้องพิจารณาเป็นสำคัญ
- ผู้มีความดีจงรักษาความดีของตนไว้
- ผู้มีความรู้ในทางที่ชั่ว เป็นผู้เสื่อม
- ผู้มีความรู้ในทางที่ดี เป็นผู้เจริญ
- ผู้มีความอดทน ชื่อว่านำประโยชน์มาให้ทั้งแก่ตนแก่ผู้อื่น, ผู้มีความอดทน ชื่อว่าเป็นผู้ขึ้นสู่ทางไปสวรรค์และไปนิพพาน
- ผู้มีความอดทน ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระศาสดา, และ ผู้มีความอดทน ชื่อว่าบูชาพระชินเจ้าด้วยการบูชาอันยิ่งใหญ่
- ผู้มีความอดทน ย่อมเป็นที่ชอบใจของบุคคลอื่น
- ผู้มีความอดทนนับว่ามีเมตตา มีลาภ มียศ และมีสุขเสมอ ผู้มีความอดทน ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
- ผู้มีความเพียรไม่พึงนอนมาก พึงเสพธรรมเครื่องตื่น พึงละความเกียจคร้าน มายา ความร่าเริง การเล่น และ เมถุนพร้อมทั้งเครื่องประดับเสีย
- ผู้มีจิตสงบ มีปัญญาเครื่องรักษาตัว มีสติ เป็นผู้เพ่งพินิจ ไม่เยื่อใยในกาม ย่อมเห็นธรรมโดยชอบ
- ผู้มีจิตอันไม่ชุ่มด้วยราคะ มีใจอันโทสะไม่กระทบแล้ว มีบุญและบาปอันละได้แล้ว ตื่นอยู่ ย่อมไม่มีภัย
- ผู้มีจิตใจตั้งมั่น ย่อมไม่เบียดเบียนคนอื่น และ แม้ตนเอง
- ผู้มีตน ฝึกตนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งซึ่งได้ยาก
- ผู้มีปรีชา มั่นคงดีแล้วในศีล ย่อมได้รับชื่อเสียงในโลกนี้ ละไปแล้ว ย่อมดีใจในสวรรค์ ชื่อว่าย่อมดีใจในที่ทั้งปวง
- ผู้มีปรีชาได้โภคะแล้ว ย่อมสงเคราะห์หมู่ญาติ, เพราะการสงเคราะห์นั้น เขาย่อมได้เกียรติ ละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์
- ผู้มีปัญญา ถึงพร้อมด้วยความรู้ ฉลาดในวิธีจัดการงาน รู้กาลและรู้สมัย เขาพึงอยู่ในราชการได้
- ผู้มีปัญญา พึงรักษาจิต
- ผู้มีปัญญา พึงรักษาจิตที่เห็นได้ยากนัก ละเอียดนัก มักตกไปในอารมณ์ที่น่าใคร่, เพราะว่าจิตที่คุ้มครองแล้วนำสุขมาให้
- ผู้มีปัญญา พึงรู้ได้ด้วยการสนทนา
- ผู้มีปัญญา รู้เนื้อความแห่งภาษิตคนเดียวเท่านั้น ประเสริฐกว่า
- ผู้มีปัญญา เมื่อปรารถนาสุข 3 อย่าง คือ ความสรรเสริญ ความได้ทรัพย์ และ ความละไปบันเทิงในสวรรค์ ก็พึงรักษาศีล
- ผู้มีปัญญาทราม มีจิตใจกระด้าง ถึงฟังคำสอนของพระชินเจ้า ก็ยังห่างไกลจากพระสัทธรรม เหมือนดินกับฟ้า
- ผู้มีปัญญาทราม ย่อมฆ่าตนเองเหมือนฆ่าผู้อื่น เพราะอยากได้โภคทรัพย์