คำทับศัพท์ คลังคำทับศัพท์ สรุปเนื้อหาและตัวอย่างคำทับศัพท์
คำทับศัพท์ คือคำที่ถ่ายเสียงและ/หรือถ่ายรูป มาจากรูปคำในภาษาอื่น และนำมาเขียนในรูปแบบของภาษาเรา เพื่อให้คนที่ใช้ภาษาสามารถออกเสียงได้ถูกต้อง หรืออย่างน้อยใกล้เคียงกับภาษาเดิม ในวิกิพีเดียไทยใช้การเขียนคำทับศัพท์แบบถ่ายเสียงเป็นหลัก
หลักการทับศัพท์
- ทับศัพท์โดยใช้เสียงอ่านของคำเป็นหลัก
- การทับศัพท์ให้ถอดอักษรในภาษาเดิม พอควรแก่การแสดงที่มาของรูปศัพท์ และให้เขียนในรูปที่อ่านได้สะดวกในภาษาไทย
- คำทับศัพท์ที่ใช้กันมานานจนถือเป็นภาษาไทย และปรากฏใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ฉบับ พ.ศ. 2542) แล้ว ให้ใช้ต่อไปตามเดิม เช่น เชิ้ต ก๊าซ แก๊ส
- คำวิสามานยนามที่ใช้กันมานานแล้ว อาจใช้ต่อไปตามเดิม เช่น Victoria = วิกตอเรีย, Louis = หลุยส์ หรือ Cologne = โคโลญ เป็นต้น
การทับศัพท์ชื่อ
หลักการทับศัพท์ชื่อ เรียงตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ยึดราชบัณฑิตเป็นหลัก ถ้าได้มีการบัญญัติไว้
- ถ้าราชบัณฑิตไม่ได้บัญญัติไว้ ให้ใช้คำที่คุ้นเคย ถ้าคำนั้นไม่ผิดจากคำเดิม
- ถ้าไม่มีคำที่คุ้น ให้ถอดเสียงอ่านจากภาษาเดิม โดยอาศัยการเขียนคำทับศัพท์ตามระบบของราชบัณฑิตยสถาน
- ถ้าไม่มีหลักออกเสียงเดิม ให้ว่าไปตามเสียง โดยอาศัยอักขรวิธีของไทย
- ถ้าอ่านภาษาเดิมไม่ออก ให้อ่านจากภาษาอังกฤษ หรือภาษาไหนก็ได้ ที่ใกล้เคียง หรือให้คงอักษรเดิมไว้ก่อน
การสะกดคำทับศัพท์
การสะกดคำทับศัพท์เน้นตามเสียงอ่านของคำไม่เน้นตามตัวอักษร เช่น Sioux [ซู] ให้ทับศัพท์ว่า ซู (ชนเผ่าอินเดียนแดง) หรือ Foie gras [fwɑ gʁɑ] ทับศัพท์ ฟัวกรา ยกเว้น
- คำภาษาอื่นที่เป็นคำไทย ที่ปรากฏในพจนานุกรมไทย ให้ถือว่าคำนั้นเป็นคำไทย และเขียนตามรูปเดิมถึงแม้ว่าเพี้ยนจากคำทับศัพท์เดิมบ้างก็ตาม เช่น
whale [เวล] เขียน ปลาวาฬ
salmon [แซมอน] เขียน แซลมอน - ชื่อประเทศ เขตการปกครอง เมืองหลวง ให้ทับศัพท์ตามประกาศสำนักนายกฯ รวมถึงคำที่มีส่วนประกอบของชื่อนี้ในส่วนของคำ ถึงแม้ว่าบางคำจะทับศัพท์ผิดจากคำอ่านก็ตาม
Illinois [อิลลินอย] เขียน อิลลินอยส์ ตามประกาศสำนักนายกฯ
University of Illinois เขียน มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ แทนที่ "มหาวิทยาลัยอิลลินอย" - ชื่อถ้าเป็นชื่อเฉพาะของชื่อบริษัท ชื่อหนังสือ ให้เขียนตามต้นฉบับที่จดทะเบียน ถึงแม้ว่าบางคำจะทับศัพท์ผิดจากคำอ่านก็ตาม
Chevrolet [เชฟโรเล] เขียน เชฟโรเลต ตามชื่อบริษัทที่จดทะเบียน
คำที่นิยมใช้
- คำศัพท์บางคำ ถ้ามีการนิยมใช้มากกว่าศัพท์ที่ปรากฏในศัพท์บัญญัติ ให้ใช้คำนิยมแทน เช่น
gasohol ให้ใช้ แก๊สโซฮอล์ แทนที่ศัพท์บัญญัติกำหนด "แกโซฮอล" - สำหรับคำที่นิยมใช้แต่ผิดไปจากเดิม ให้ใช้ถือคำที่ถูกต้อง เช่น
Michelangelo ให้ใช้ มีเกลันเจโล (ชื่ออ่านตามภาษาอิตาลี) แทนที่ "ไมเคิล แองเจลโล" ที่ใช้กันจนนิยม
弁当 (Bentō) ให้ใช้ เบ็นโต แทนที่ "เบ็นโตะ" ที่ใช้กันนิยม - สำหรับคำที่นิยมใช้และมีใช้กันมานาน และมีปรากฏในเอกสารสำคัญในทางประวัติศาสตร์ ให้ใช้คำเดิม ถึงแม้ว่าจะอ่านผิดไปจากเสียงเดิม โดยในบทความนั้นให้เขียนคำอ่านที่ถูกต้องอธิบายไว้ เช่น
Harvard University ให้ใช้ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ([ฮาเวิร์ด-])
การใช้วรรณยุกต์
การทับศัพท์จะไม่ใช้วรรณยุกต์ นอกเหนือจากว่าการไม่ใส่วรรณยุกต์ทำให้คำอ่านสับสน เช่น coma ใช้ โคม่า แทนที่ โคมา
ยกเว้นภาษาใน กลุ่มภาษาตระกูลไทย ไท เช่น ไทย ลาว ผู้ไท (ภูไท) ไทยใหญ่ และภาษาถิ่นต่างๆ ของไท ในประเทศไทย, ภาษาจีนและภาษาถิ่นของจีน, ภาษาเวียดนาม และบางภาษาในตระกูลอินเดีย-ยุโรป ใช้วรรณยุกต์ตามเสียงอ่าน
การเว้นวรรค
คำศัพท์ในภาษาอังกฤษเขียนแยกกันทุกคำ ในขณะที่คำไทยเขียนติดกันและเว้นวรรคเมื่อจบประโยค หรือเพื่อง่ายต่อการอ่าน หลักการทับศัพท์ถ้าเป็นคำเดียวให้เขียนติดกันหมดเช่น Mexico City เขียน เม็กซิโกซิตี
ยกเว้นคำที่แสดงถึงชื่อบริษัทและชื่อสินค้า ให้เขียนเว้นวรรคเพื่อแสดงถึงชื่อผลิตภัณฑ์นั้น เช่น
- Adobe Photoshop เขียน อะโดบี โฟโตชอป
- Honda Accord เขียน ฮอนด้า แอคคอร์ด
ขอบคุณ วิกิพีเดีย:โครงการคำทับศัพท์
หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา
เชื่อได้ว่าคุณคงเคยรู้สึกไม่แน่ว่าเขียนคำทับศัพท์ได้ถูกต้องหรือนึกไม่ออกว่าจะเขียนอย่างไรให้ถูกต้อง มาดูกันเลย
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษ
ดาวน์โหลด PDF รวมคำศัพท์ภาษาอังกฤษยอดนิยม
สำหรับใครที่อยากได้คำศัพท์ภาษาอังกฤษ ในรูปแบบไฟล์ PDF สามารถกดที่ปุ่มดาวน์โหลดได้เลย
PDF – ตัวอย่าง คำศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่ใช้บ่อย